‘มายด์’ บอก 250 ส.ว.แสบมาก! ม็อบอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ ต้องปักธงให้ชัด ‘รื้อฉบับ คสช.’ ผูกอำนาจใหม่

‘มายด์’ เชื่อม็อบอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ ‘ส.ว.250 คนแสบมาก’ ต้องปักธงให้ชัด ‘รื้อฉบับ คสช.’ ผูกอำนาจไว้กับประชาชน

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 17 ตุลาคม ที่อาคารศิลาบาตร มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย จัดวงเสวนา รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน “ความฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม” โดยมีวิทยากรเป็นตัวแทนนักเคลื่อนไหว คนรุ่นใหม่ นักวิชาการ นักกฎหมาย ตลอดจนตัวแทนสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้ความเห็น

ได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ (ไอติม) ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นักกิจกรรมทางการเมือง นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฏร ดำเนินรายการโดย นายนันทพงศ์ ปานมาศ หรือกุ๊ก แกนนำเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย

อ่านข่าว : ‘ยิ่งชีพ’ ลั่น 25 ร่าง 4 ยก ถ้า ส.ว.ไม่ขวางแก้กันกระจาย ย้ำเป้า ‘รัฐธรรมนูญต้องเขียนใหม่’ จะเอาฉบับปชช.

Advertisement

ในตอนหนึ่ง น.ส.ภัสราวลี หรือ มายด์ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงรัฐธรรมนูญ 60 ก่อนจะไปคาดการณ์ว่า เราจะได้เลือกตั้งหรือไม่ซึ่งเป็นเรื่องที่เหนื่อยใจในการคาดเดา แต่แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ 60 เราไม่อยากได้ ต้องโละทิ้ง อันดับแรกมาจาก คสช. คณะรัฐประหาร ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจเรา ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วให้คนมาร่างให้ เขียนกำหนดไว้ในนั้นว่าจะมีมือไม้แบบใดบ้าง มีอำนาจส่วนไหนบ้าง กลุ่มพวกเขาจะสามารถคอนโทรลส่วนไหนในประเทศนี้ได้บ้าง ก็มาร่างในรัฐธรรมนูญ

“แน่นอนว่า เซตแรกที่ร่าง นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่ปรากฏว่าร่างไม่ถูกใจ คสช. ก็เลยโดนโละทิ้ง คุณบวรศักดิ์ออกมาบอกด้วยว่า ที่โละทิ้งเพราะ ‘เขาอยากอยู่ยาว’ ฉะนั้น ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญ 60 ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ เขาเก่งมาก หลายคณะรัฐประหารชอบใช้ ชอบใช้คำแนะนำจากเขา วาดมือไม้ที่แข็งแรงมาก มีประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นประธานคัดสรร ส.ว. คนลงนามแต่งตั้งคือ ประยุทธ์ เขาทำเป็นกระบวนการ วางแผนไว้ ไม่ใช่จู่ๆ ออกมารัฐประหารเพราะอยากทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่ได้สวยหรูแบบนั้น แต่เป็นการที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งวางแผนมานาน เพื่อวางรากฐาน ปูทางกอบโกยผลประโยชน์ที่เป็นของประชาชน

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ประชาชนต้องทำประชามติว่าจะรับหรือไม่รับ แต่ช่วงนั้นไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่โหวตไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช.ร่างมา ซึ่ง คสช.ตอนนั้นมี ม.44 บริหารแบบเผด็จการ ปิดปากประชาชนที่เห็นแย้ง หรือเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในสังคม มีคนถูกดำเนินคดีไป 190 กว่าคน เพียงแค่ออกมาบอกให้โหวตไม่รับร่าง หรือเห็นต่างจากรัฐบาลขณะนั้น ว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีอย่างไร” น.ส.ภัสราวลีกล่าว และว่า

Advertisement

จึงเป็นตัวตอกย้ำว่า ส.ว.ไม่ควรเอาข้ออ้าง ว่าได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติ 16 ล้านเสียง มาแสดงความชอบธรรมขอตัวเอง มันประดักประเดิด เอาง่ายๆ ส.ว.250 คน มีวาระ 5 ปี ผ่านมา 4 ปี เหลืออีก 1 ปี แต่ตอนนี้คนก็ด่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่เข้าใจว่าทำไมยังยกขึ้นมาอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองได้รับการรับรอง 16 ล้านเสียง ปัญหาอยู่อีกจุดคือ หลังทำประชามติด้วยการปิดปากประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (2560) ถูกแก้อีกครั้ง ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตย ด้วยวิธีการนอกเหนือประชามติ แต่ด้วยคำสั่งมาที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตามความเป็นจริงคือคนละฉบับชัดเจน หมายความว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ถูกแปะป้ายว่า ‘ทำประชามติ’ โดยประชาชนไม่รับรู้การแก้ไข ไม่ได้มาตามประชาธิปไตย จึงไม่สมควรที่เราจะยอมรับและอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้

น.ส.ภัสราวลีกล่าวต่อว่า อีกส่วนที่สำคัญในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่แก้ไม่ได้ บั๊ก (bug) สำคัญคือ ส.ว.

“ส.ว. 250 คนนี่แสบมาก มานั่งเปิดแอร์เย็นๆ อยู่ในสภา แล้วก็ไม่ได้ทำอะไร ยกมือโหวตเลือกนายกฯ และขวางการแก้ไข ส.ว. 250 คนนี่แสบมาก ตั้งลูกตั้งภรรยามารับเงินเดือนด้วย อภิสิทธิ์ชนมากเกินไปจนน่าโมโห ฉะนั้น ส่วนสำคัญรัฐธรรมนูญ วนกลับมาที่ ส.ว. 250 มีอำนาจในการขัดขวางอย่างไร มาตรา 256 กำหนดไว้ว่า หากเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.ต้องเห็นด้วย 84 คน หรือ 1 ใน 3 แค่ 84 คนที่จะมีสามัญสำนึกในการให้ประชาชนได้แก้ไขฐธรรมนูญก็ยังไม่ให้ ความจงรักภักดีกับ คสช. กับประยุทธ์ ประวิตร เต็มเปี่ยมมาก เราทุกคนต่างเห็นกันว่า ส.ว.250 คนนี้ไร้ประโยชน์ ไร้ความชอบธรรมในการรับเงินภาษีอย่างไร แม้แต่กระทั่งให้พวกเขาเข้าไปนั่งเปิดแอร์ในสภา ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้น” น.ส.ภัสราวลีชี้

น.ส.ภัสราวลีกล่าวต่อว่า แล้วเราอยู่ห่างจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไกลแค่ไหนกัน 3 ครั้งที่มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนยื่นเข้าไป แทบทุกครั้งที่มีการเคลื่อนขบวนไปยื่นรัฐสภา จะมีคนลงถนนไปด้วย

“รอบแรกๆ แสนกว่าคน ขบวนยาว ไม่ใช่สั้นๆ มายด์อยู่ในขบวนด้วยวันนั้น จริงๆที่พี่ตู่ (จตุพร) บอกว่า เอา 70,000 คนลงถนน คิดว่า 70,000 อาจจะยังไม่พอ ต้องเยอะกว่านั้น ถ้าทุกท่านจำได้ 14 ตุลา 63 คนเป็นแสนได้ ต้องเยอะกว่านั้นอีก เพราะเท่านั้นยังสลายเลย ย้อนกลับมาว่ามันมีความพยายามหลายครั้งมากจากภาคประชาชน ที่เราอยากจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นปัญหา มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ล่าสุดกับแค่การขอยกเลิกมาตรา 272 ที่จะให้อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ก็ยังปัดตก ในทุกๆ ครั้งความพยายามของประชาชนที่จะเข้าไปอย่างถูกช่องทางรัฐสภา เราไม่เคยได้รับการตอบกลับอย่างเป็นมิตรเลย ถูกตีตกตลอด ถูกทำให้ไม่มีค่าตลอด ฉะนั้น ส.ว.250 คน เป็นเสี้ยนหนาม เป็นกำแพงที่สำคัญมากที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือร่างใหม่ได้เลย ถ้าหาก ส.ว.250 คนนี้ยังอยู่

ในเมืองทางการ ก็ดูไม่มีหวัง แล้วเราจะทำอย่างไรดี ในทางการหรือการเข้าชื่อยื่นสภาแบบนี้ คิดว่าแม้โอกาสจะมากหรือน้อย อย่างไรก็ต้องทำอยู่ดี แต่อะไรที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้การใช้ช่องทางเหล่านั้นได้รับประสิทธิผล” น.ส.ภัสราวลีกล่าว และว่า

ต้องควบคู่ไปกับพลังของภาคประชาชนด้วย ควบคู่ไปกับพลังความต้องการของพี่น้องในสังคม ว่า ณ ตอนนี้เรามีเจตจำนงในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่แก้ไข สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกบังคับใช้ เราต้องการร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งต้องไม่มีการกำหนดกรอบอำนาจใดที่จะกำหนดทิศทางในประเทศนี้โดยไม่ใช่ประชาชน มาตรา 256 ไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยด้วยซ้ำ หรือมาตรา 269-272 ที่ให้ ส.ว.มีอำนาจแนะนำการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือยกมือโหวตเลือกนายกฯ พวกนี้ ถ้าเราร่างใหม่ทั้งฉบับ จะต้องไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะอำนาจพวกนี้จะถูกผูกอยู่กับประชาชน

น.ส.ภัสราวลีกล่าวต่อไปว่า แล้วตอนนี้ภาคประชาชนสามารถทำอะไรได้บ้าง ในเชิงทางการก็มี Reset Thailand https://www.resetthailand.org/ ที่เปิดโครงการเสนอให้มีการทำประชามติควบคู่กันไปด้วย แต่ฝั่งภาคประชาชนอย่างเรา อย่างน้อยจุดเริ่มต้นที่เราทำได้ คือทำความเข้าใจกันในสังคมให้ได้มากที่สุด ให้เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

“บางคนไม่สะดวกออกไปม็อบ แต่อย่ากช่วย จริงๆ แล้วเราสามารถเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยไปด้วยกันได้ มันไม่ใช่การชุมนุมอย่างเดียวที่เป็นทางออก การทำความเข้าใจในสังคม เพื่อนกันคุยกัน ไปตลาดคุยกับป้าเรื่องการเมืองได้ รวมถึงรัฐธรรมนูญเอง ถ้าหากเราย้ำเตือนความสำคัญ ว่าทำไมถึงต้องร่างใหม่ทังฉบับจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของเราด้วย นี่คือส่วนที่ต้องขยายให้เกิดความเข้าใจในสังคมให้ได้ ณ วันหนึ่งเมื่อเกิดการผลักดันอะไรบางอย่าง แรงขับเคลื่อนจากประชาชนจะเป็นตัวหนุนเสริมให้การเข้าชื่อในแต่ละครั้ง สามารถประสบความสำเร็จได้” น.ส.ภัสราวลีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image