ส่องเหตุรัฐบาลถอย ล้มขายที่ดินต่างชาติ

รายงานหน้า 2 :ส่องเหตุรัฐบาลถอย ล้มขายที่ดินต่างชาติ

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยถอนร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าว ที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ….ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำไปศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์อย่างรอบด้านของผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น

ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

แน่นอนว่ามีนัยยะทางการเมืองอยู่แล้ว ในเรื่องนโยบายสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะกฎกระทรวง ที่สะท้อนภาพถึงความพยายามต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งในสภาผู้แทนราษฎร มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พอเป็นการพูดถึงเรื่องการซื้อที่ดินจากต่างชาติก็จะมีการยกเอาประเด็นความเป็น ‘ชาตินิยม’ เข้ามาเกี่ยวข้องในทุกยุคทุกสมัย จะเห็นว่าในยุคนี้ ประเด็นเหล่านี้ก็เคยถูกหยิบยกขึ้นมาให้เกิดความเป็นการเมือง และจะทำให้เกิดการขับเคลื่อน ที่บางครั้งนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้อง หรือการประท้วงต่างๆ

Advertisement

ดังนั้น การถอนออกจึงมีนัยยะทางการเมืองอยู่ ในส่วนของช่วงก่อนเลือกตั้ง ผมคิดว่าไม่ได้มีส่วนมากนักเพราะสุดท้ายแล้วกระบวนการที่จะเลือกตั้งต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร และประเด็นกฎกระทรวงนี้ ก็อาจถูกหยิบไปใช้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ในตอนนี้ก็ยังห่างช่วงเวลาการเลือกตั้งพอสมควร จึงไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักสำคัญอย่างไร

ผมคิดว่าเกี่ยวข้องกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลมากกว่า ในรอบหน้าหรือการเปิดสภาครั้งใหม่ คิดว่าไม่ง่ายที่จะนำกฎกระทรวงนี้กลับมา เนื่องจากไม่ใช่กฎหมายที่ต้องเข้าสู่สภา แต่เป็นกฎกระทรวงที่ออกโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องนำเข้าสู่สภาอยู่แล้ว ฉะนั้น ส่วนตัวคิดว่าอาจจะไม่เห็นในระยะเวลาอันใกล้ เพราะจะถูกข้อวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างเยอะ แต่ถ้ารัฐบาลมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่เรื้อรัง แก้ไม่ได้ ก็เป็นไปได้ที่จะนำนโยบายลักษณะคล้ายๆ กันนี้กลับมาอีก เพื่อดึงเงินในการลงทุนต่างๆ ซึ่งจากการที่ถอนออกมา คิดว่าไม่สามารถเรียกคะแนน ศรัทธา หรือความเชื่อทางการเมืองกลับมาได้เท่าเดิม เพราะประเด็นความเชื่อมั่นไม่ได้อยู่แค่เรื่องของกฎกระทรวงฉบับนี้เท่านั้น แต่เป็นภาพรวมเรื่องของการบริหารเศรษฐกิจ กลไกในรัฐธรรมนูญ ไปจนถึง การมีบรรดาตัวช่วยทางการเมืองมากมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่กระทบต่อความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล ดังนั้น แค่เรื่องนี้จึงไม่ได้ส่งผลให้ได้คะแนนนิยมกลับมา

ผมว่ากฎหมายในลักษณะนี้ไม่ควรถูกนำออกมาใช้ เพราะเป็นกฎหมายที่สร้างปัญหามากกว่า ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ ตามนโยบายเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกดึงเงินลงทุนจากต่างชาติ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยไม่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ นี่คือสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากกว่าการที่จะมาแก้ปลายเหตุ ด้วยการออกกฎหมายในลักษณะแบบนี้

Advertisement

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

แน่นอนว่าการที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นลักษณะของการที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลพร้อมจะโดนสั่งให้ถอย และคงอ้างว่าจะนำไปศึกษาเพิ่มเติมตรงนี้เป็นการรักษาหน้า เป็นการไว้เชิง โดยใช้ข้อมูลที่ว่ารับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ทั้งนี้ ผมคิดว่าประเด็นนี้นำไปสู่การที่สังคมได้ตกผลึกทางความคิดว่าต้องแยกให้ออก ว่าวาทกรรมที่บอกว่า ‘ขายชาติ’ กับ เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ เงื่อนไขและมาตรการต่างๆ นั้นเข้าถึงง่ายเกินไปหรือไม่

ผมคิดว่าสังคมไทยเกิดความไม่สบายใจตรงนี้ ว่าเม็ดเงินที่จะเอื้อให้ต่างชาติเข้ามา ดูง่าย และสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของสื่อหรือฝ่ายการเงินกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาตั้งป้อมมาก่อนหน้านี้แล้วว่า เป็นการเอื้อให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาง่ายจนเกินไป โดยเฉพาะทุนทางธุรกิจสีเทาจากต่างชาติ ที่ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังปราบปราม พูดได้ว่า เป็นกาลเทศะ ที่ใครพยายามจะขับเคลื่อนนโยบายนี้เพื่อต้องการเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เท่ากับว่าต้องปิดเกมไปเลย

สังคมไทยยิ่งรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่มีภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจไล่กวดจับนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบ่อน หรือยาเสพติด หากรัฐบาลไม่สร้างมาตรการการควบคุมเพื่อไม่ให้ทุนภายนอกเข้ามาง่ายจนเกินไป ตรงนี้ต่างหากที่สังคมไทยมองว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และสมควรต้องระมัดระวังอยู่แล้ว

ผมคิดว่าจนกระทั่งครบวาระของรัฐบาล ก็คงไม่ดึงเรื่องนี้กลับมาพูดอีก เพราะหลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงหาเสียงเตรียมเลือกตั้ง ถ้ายังดึงดันใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงอีก ก็ง่ายมากในการถูกโจมตีและเสียเปรียบในสนามการเลือกตั้ง เพราะจะเป็นประเด็นหลักที่ถูกนำไปกล่าวหาได้ง่าย

ทั้งนี้ บริบททางสังคมในตอนนี้เปลี่ยนไปพอสมควร ทั้งค่าครองชีพ การเข้าถึงที่ดินพื้นที่ชั้นใน เท่ากับว่าคนไทยถูกผลักดัน ไม่สามารถเข้าไปถึงพื้นที่ในเมือง หรือพื้นที่สำคัญใน กทม.ได้ แต่กลับกลายเป็นว่า เป็นการเอื้อให้พวกกลุ่มทุนซื้อที่ไว้เก็งกำไร หรือทำธุรกิจ แน่นอนว่าต่างชาติมีศักยภาพที่จะเช่าหรือเข้าถึงได้เพราะมีกำลังจ่ายและกำลังซื้อสูง แต่ขณะเดียวกัน คนไทยก็จะมองว่าตนเองไม่สามารถมีสิทธิที่จะเข้าถึงระบบการเช่าที่

ดังนั้น แม้จะเป็นการผ่อนปรนว่าให้ชาวต่างชาติถือเช่าที่ดิน แต่แน่นอนว่า การเก็งกำไรหรือการเก็งราคาในพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ก็จะสูงในลักษณะที่กู่ไม่กลับ และผมคิดว่ารัฐบาลเข็ดแล้วในการที่จะนำเรื่องนี้กลับเข้าไปพิจารณา ผมเข้าใจเจตนาว่าในภาวะที่ประเทศไทยต้องการเม็ดเงินเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง แต่วาทกรรม หรือความรู้สึกของผู้คนยังหลุดไม่พ้นคำว่า ขายชาติ เพราะต้องแยกให้ออกว่านักธุรกิจต่างประเทศและคนไทยสามารถทำธุรกิจร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา แต่เมื่อเป็นนักการเมืองจะถูกวิจารณ์ง่ายกว่า และเป็นการเมืองที่รักษาสถานะผลประโยชน์ของประเทศ ก็อาจจะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถพ้นจากวาทกรรมที่สามารถปลุกและจุดติดได้ง่ายในการสร้างความเกลียดชัง หรือการเข้าใจผิดต่อเจตนาของผู้ที่พยายามขับเคลื่อนนโยบายลักษณะแบบนี้

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)

รัฐบาลยอมถอยกฎหมายให้ต่างชาติลงทุน 40 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินได้ 1 ไร่ เป็นผลจากเสียงสะท้อนประชาชนส่วนใหญ่ที่คัดค้าน และไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว โดยกล่าวหารัฐบาลขายชาติ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านรุนแรง

ทั้งๆ ที่กฎกระทรวงที่เปิดช่องให้ต่างชาติลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเกิดขึ้น เมื่อปี 2545 สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนร่วมกับคนไทย หรือนอมินีในประเทศมากขึ้น โดยให้ต่างชาติ ถือหุ้น 49% คนไทย 51% ส่งผลให้นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ สร้างอาคารชุดหรือคอนโด เป็นที่อยู่อาศัยจำนวนมาก เพื่อเก็งกำไรจากนโยบายดังกล่าว

สมัยนายทักษิณ ชินวัตร ชาวต่างชาติที่ลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศค่อนข้างน้อย จึงมีการแก้กฎกระทรวงตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2496 หลายครั้ง เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยมีเงื่อนไขให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยแทน เพื่อระดมทุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจ่ายผลตอบแทน 3-4% ต่อปีเท่านั้น

แต่ไม่สามารถกระตุ้นลงทุนมากนัก เนื่องจากมีผลตอบแทนน้อย ทำให้นักลงทุนต่างชาติ อาทิ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี หันไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ระยะ 2-30 ปี เพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่าไทย ซึ่งนโยบายดังกล่าวมองว่า ไม่ได้ขายชาติ เพราะรัฐบาลให้ต่างชาติลงทุนซื้อพันธบัตรไทย เพื่อเป็นหลักประกันการลงทุนดังกล่าว ไม่ใช่การซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างใด เพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ ออกนอกประเทศได้

ตั้งแต่มีกฎกระทรวงดังกล่าว มีนักลงทุนต่างชาติ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อร่วมทุนกับคนไทย เพื่อซื้อที่ดิน ตั้งแต่ 100-1,000 ไร่ สร้างโรงงานอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วน แปรรูปอาหาร และทำการเกษตร มานานแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ อีกทั้งกฎกระทรวงใหม่ เปิดให้ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่ ในเขตเทศบาลที่เป็นชุมชนเมือง เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น ไม่ได้ให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แต่อย่างใด หลังรัฐบาลยอมถอยกฎหมายดังกล่าว เชื่อไม่มีผลกระทบต่อการฟื้นเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของต่างชาติอย่างใด

การที่รัฐบาลยอมถอยกฎหมายดังกล่าว โดยส่วนตัวเชื่อว่าเป็นเรื่องการเมือง ที่เกิดจากรอยร้าว หรือความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล และใกล้เลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้าแล้ว ถ้าฝืนหรือดื้อดึง อาจนำไปสู่การยุบสภาก่อนรัฐบาลครบวาระเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ ก่อนนำไปสู่การพ่ายแพ้ของพรรคร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า

ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้าน มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้มากขึ้นด้วย

ตรีเนตร สาระพงษ์
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การขายที่ดินให้ต่างชาติเป็นอีกเรื่องที่สะท้อนการไร้ศักยภาพหมดสิ้นหนทาง หรือเข้าตาจนในการหาเงินของรัฐบาล เพื่อหวังดึงดูดนักลงทุน ขณะที่รัฐบาลที่มีศักยภาพประเทศอื่นมีวิธีการต่างๆ มากมายในการหารายได้เข้าประเทศสร้างความมั่งคั่งให้ประชาชน

จากมาตรการให้ต่างชาติถือครองที่ดิน สิ่งที่รัฐบาลคาดไม่ถึง คือ เมื่อประกาศมาตรการนี้ออกมา มีเสียงคัดค้านจากทั่วสารทิศ โดยเฉพาะบรรดาแฟนพันธุ์แท้ของรัฐบาลต่างออกมาก่นด่าและตราหน้าว่าเป็นรัฐบาลขายชาติ เป็น ปรากฏการณ์ถอยอย่างไม่เป็นท่า กรณีเปิดให้ต่างชาติถือครองที่ดินครั้งนี้สะท้อนวิธีคิดนักการเมืองที่ว่า “นักการเมืองคิดถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป” ได้เป็นอย่างดี เพราะเสียงคัดค้านจากประชาชนย่อมตีค่าเป็นคะแนนนิยมได้

การฝืนเดินหน้าต่อไปย่อมฉุดรั้งคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง และสูญเสียแฟนพันธุ์แท้ในฐานะกันชนของรัฐบาลอีกด้วย แต่ก็แอบเสียดาย ที่รัฐบาลไม่ได้ถอยเพราะการคิดหรือจิตสำนึกหรือการถอยเพราะรับฟังเหตุผล ในสถานการณ์ที่รัฐบาลถังแตกการหามาตรการอื่นมาทดแทนควรดำเนินการ ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาลอื่น หรือปล่อยเป็นภาระของลูกหลานในอนาคต มาตรการที่ออกมาควรยึดถือเรื่องนี้เป็นบทเรียนราคาแพงของรัฐบาลที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่โฉ่งฉ่างออกมาตรการสร้างรอยแผลในใจประชาชนเพิ่มเติมผ่านปมประเด็นร้อน ที่ฉุดคะแนนจากฐานเสียงหรือฝ่ายสนับสนุนให้กลายเป็นห้ามล้อรัฐบาล

หากเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ประเด็นนี้อาจถูกนำไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งรัฐบาลเพียงแค่จัดการยกมือไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาล และแจกกล้วยให้พรรคเล็ก แต่การถูกกล่าวหาว่าขายชาติในช่วงเวลาที่เกิดก่อนการเลือกตั้งเช่นนี้ คนที่จะยกมือไว้วางใจเป็นประชาชนทั้งประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image