‘มายด์’ ปลุกประชาชนร่วมหยุดเอเปค ‘ไผ่’ ตอบปม ไม่ห่วงภาพลักษณ์ประเทศ? แรงงานขอส่งเสียงที่ถูกกดขี่

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

‘ไผ่’ แฉข้ออ้างประยุทธ์ ‘มายด์’ ปลุก ปชช.ร่วมหยุดเอเปค – ผู้นำไทยไม่ฟังขอหวังต่างชาติ ลั่น ชาวนา-ประมง-สวน-ไร่ โกยมาทุกภาค

เมื่อเวลา 20.40 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาชน ราษฎรหยุด APEC 2022 นำโดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน และแนวร่วม แถลงข่าวการเคลื่อนไหวคัดค้าน การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นคู่ขนาน ในวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ มี 74 องค์กร ร่วมลงนามในการแถลงการณ์ดังกล่าว

(อ่านข่าว เครือข่ายราษฎร’ แถลงปัก 3 หมุดเบรกประยุทธ์ ‘หยุดเอเปค’ 16-18 พ.ย.จ่อเคลื่อนไหวคู่ขนาน ร่ายยาวหายนะ)

เมื่อถามถึงแนวทางการเคลื่อนไหว คาดว่าจะมีผู้มาร่วมมากน้อยเพียงใด ?

ADVERTISMENT

นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า ตอนนี้วางไว้ 2 แบบ คือ

1.ข้มูลในการประชุมเอเปค ถือเป็นจุดอ่อนมากที่พวกเราแทบจะไม่รู้ จึงจะจัดเวทีคู่ขนาน วันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้ โดยจะพยายามจัดเวทีนำเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านให้คนในสังคมไทยรับรู้ และขอให้ร่วมสร้างการสื่อสารเพื่อการรับรู้ที่มากขึ้น

ADVERTISMENT

2.วันที่ 18 ซึ่งจะมีการลงนามของผู้นำโลก ไม่ว่าอย่างไรก็จะมีการเคลื่อนไหว ส่วนจะทำอะไรได้แค่ไหน ตอนนี้เท่าที่ทราบมีการประกาศปิดถนนรอบประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งรัศมีกว้างไกลมาก ไม่น่าจะต่ำกว่า 5 กิโลเมตร ถือเป็นเรื่องยากมาก มีเจตนาที่ต้องการปิดกั้นการแสดงออกการเคลื่อนไหว อย่างเห็นได้ชัดเจน

“ถ้าเราไปดูเวทีระดับโลกหลายเวที ประชาคมโลกเขาเปิดกว้าง ให้ภาคประชาชนสามารถเคลื่อนไหวแสดงออกได้ แต่ประเทศไทยเราเห็นจุดอ่อนเรื่องนี้ชัดเจนมาก ด้วยความห่วง กังวล ความกลัว อะไรก็แล้วแต่ ขณะเดียวกันสังคมต้องช่วยกันมาส่งเสียงว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเปิด ดังนั้นคุณไม่ควรปิดพื้นที่การการแสดงออกใดๆ ทั้งสิ้น ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ วันที่ 18 เราจะมีการแสดงออกแน่นอน อาจจะมึการเคลื่อนไหว รณรงค์ ในบริบทที่เราสามารถทำได้

ถามว่าใครจะมาจากไหนบ้าง ถึงเราจะใช้ชื่อราษฎรหยุดเอเปค เป็นกลุ่มน้องๆ ที่เคลื่อนไหวในเมืองในกรุงเทพฯ หรือไม่ ? ครั้งนี้จะมีพี่น้องจากทุกภาคมา พี่น้องที่เป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง มากันทุกถิ่นทุกย่าน เราประสานกลุ่มองค์กร เครือข่าย ทั้งที่เป็นสมาชิก กป.พอช. ด้วย และเครือข่ายภาคประชาชนด้วย เราไม่ได้มีทรัพยากรมากมาย แต่พยายามสื่อสารไปให้ได้มากที่สุด เพื่อเชิญชวนพี่น้องมาร่วมกันแสดงออกในช่วงเวลาดังกล่าว คาดว่าจะมีประชาชนหลากหลายร่วมแสดงออกในเรื่องนี้” นายสมบูรณ์ กล่าว และว่า ส่วนเรื่องความกังวล ว่าจะถูกปิดกั้นจากภาครัฐ จากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงหรือไม่ เราอาจจะไม่ต้องกังวล แต่ต้องส่งเสียงให้เขาช่วยเปิดพื้นที่เหล่านี้ให้กับพวกเราด้วย

สมบูรณ์ คำแหง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะมีการเตรียมกำลังไว้มากกว่า 20,000 นาย ก็ยืนยันจะเคลื่อนไหวต่อไป ?

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า แน่นอน ยืนยันจะจัดกิจกรรมต่อไปอย่างแน่นอน

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกด้วยว่า เราต้องแยกแยะว่าในเรื่องของการต้อนรับคนที่มาเยี่ยมเยือนเรา เรายินดีอยู่แล้ว แต่ถ้าฟังข้อมูลจากวงเสวนา นี่คือข้อเท็จจริงที่เราไม่ควรที่จะปล่อย

“คิดว่าภายใต้เวทีเอเปค และเบื้องลึกเบื้องหลังที่จะสร้างหายนะให้กับสังคมไทยนั้น ต้องแยกกัน เรามีสิทธิที่จะออกมาพูด สื่อสาร แม้กระทั่งบอกกับผู้นำประเทศเหล่านั้นว่า สิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์พยายามจะนำเสนอแนวคิด เอา BCG ไปขายกับคุณ เบื้องหลังคืออะไร สังคมต้องแยกแยะและเข้าใจ” นายสมบูรณ์กล่าว

เมื่อถามถึงความกังวล ที่เจ้าหน้าที่มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุต่างๆ กรณีที่มีการเคลื่อนไหว ?

น.ส.ภัสราวลี หรือ มายด์ กล่าวว่า ในส่วนของความกังวลใจ ตนคิดว่าก็ต้องเตรียมรับมือว่าเจ้าหน้าที่จะมีท่าทีอย่างไรต่อผู้ชุมนุม ส่วนทางของพวกเราเอง ก็จะพยายามส่งเสียงเรียกร้องให้ได้ดังที่สุด ถึงรัฐบาลและกลุ่มผู้มาประชุมให้ได้มากที่สุด

เมื่อมีประชาชนถามว่า ถ้าเสียงถึงที่ประชุมเอเปค และผู้นำนำเรื่องของเราไปพูดในที่ประชุมเอเปคด้วย จะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ ?

นายจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน กล่าวว่า ขึ้นอยู่ที่ว่าเสียงของเราดังพอหรือเปล่า

เมื่อประชาชนถามต่อว่า ไม่กลัวหรือ ว่าอาจจะเป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหาย ?

นายจตุภัทร์ ชี้แจงว่า จะเห็นจากรัฐบาล เวลาพูดอะไรจะเป็นคำพูดสวยหรูและสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นคนละแบบ อย่างกรณีประชามติรัฐธรรมนูญ 60 ที่พูดถึงข้อดี วันนี้เราก็ยังติดปัญหาข้อเสียของรัฐธรรมนูญนี้อยู่ ปีนี้ก็เหมือนกัน รัฐบาลอ้างหลักการ อ้างการประชุมนานาชาติ ขณะเดียวกัน หลักการที่เคารพเสรีภาพของประชาชน ไม่อ้าง

“เขาบอกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ทีอย่างนี้ก็จะมาอ้างหลักการ ผมว่าประชุเอเปค ไม่ได้มีข้อบังคับหรือผลผูกพัน แต่รัฐบาลไทยตั้งใจที่จะเอาเรื่องนี้เสนอให้ที่ประชุมรับรอง เพื่อที่ตั้งใจจะให้มีผลผูกพัน นี่คือผลประโยชน์ของคนไทยแค่ 1 เปอร์เซ็นต์

ผมคิดว่ารัฐบาลนี้ออกแบบนโยบาย ออกแบบเศรษฐกิจคำนึงจาก 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ อภิมหาเศรษฐีทั้งหลาย ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนเลย ถามว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ คุยระดับเศรษฐกิจ ถ้ามีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมก็จะเป็นเรื่องที่ดี ถ้าประชาชนร่วมออกแบบ คิดว่าเป็นวิวัฒนนาการที่ดี แต่นี่ไม่มีประชาชนเลย” นายจตุภัทร์กล่าว

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

นายจตุภัทร์กล่าวต่อว่า ถ้าไปดูรายชื่อคนที่มาประชุม มีแต่คนที่ไม่ธรรมดาทั้งนั้น คนธรรมดาอย่างพวกเราอยู่ตรงไหนของการประชุมครั้งนี้ 99 เปอร์เซ็นต์ อยู่ไหนของการประชุมครั้งนี้ ที่ประยุทธ์จะอ้างผลประโยชน์ของประชาชนโดยเอาทรัพยากรไปแลก เอาการประชุมเอเปคเป็นข้ออ้าง เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสนใจ อยากเห็นประเทศพัฒนา ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

“อีกอย่าง ที่ประยุทธ์พูดว่าประเทศไทยเรามีความหลากหลายทางด้านชีวภาพ ทางด้านวัฒนธรรม แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่ ณ วันนี้ไม่ได้ส่งเสริมความหลากหลาย แต่คือการพัฒนาในแบบที่เขาต้องการ แล้วใช้ BCG เป็นข้ออ้าง” นายจตุภัทร์ชี้

ในช่วงท้าย นายจตุภัทร์ ฝากถึงผู้นำที่จะมาประชุมว่า ผู้นำบ้านเราไม่ค่อยฟังเสียงของประชาชน ก็หวังว่าผู้นำประเทศต่างๆ จะฟังเสียงพวกเรา

ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ รัฐบาลนี้ก็ทำเกินกว่าเหตุมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นช่วงปี 63-64 ที่มีการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ก็ทำเกินกว่าเหตุ ครั้งนี้เตรียมการประชุมก็เกินกว่าเหตุ

“คุณกลัวอะไรมากมาย ไม่มีใครทำลายประเทศ นอกจาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณทำลายประเทศมา 8 ปี ทำรัฐประหาร ทำให้เศรษฐกิจพังทลาย แรงงานตกงานมากมาย เศรษฐกิจไปไม่ได้ วันนี้ต้องยอมรับว่า คุณประยุทธ์ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปอยู่ในเวทีเอเปคได้ แต่ก็ยังดันทุรัง

อยากจะส่งเสียงมุมของแรงงานที่ถูกกดถูกละเมิด เวลาเจรจา คุณบอกเสรีเรื่องการค้า แต่คุณไม่เคยเสรีกับเรื่องของสิทธิแรงงาน วันนี้เราพูดถึงพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ไปทำงานต่างประเทศ ก็จะเห็นปัญหา พี่น้องที่มาทำงานในไทยก็ไม่เคยเสรี ถูกปิดกั้น ทำไมประยุทธ์เสรีให้กับทุนเข้ามาทำงานได้ทั้งหมด เข้ามายึดทรัพยากรในประเทศ แต่เรื่องแรงงานคุณไม่เคยเสรี คุณกด ขูดรีดเขา แค่กลุ่มเอเปคก็มีการย้ายฐานการผลิตโดยที่ไม่ได้สนใจว่าประเทศนี้มีปัญหาทรัพยากร หรือต้นทุน ประยุทธ์ไม่เคยมาดูว่าเราตกงานขนาดไหน เราควรจะต้องออกมาสนับสนุนร่วมกันส่งเสียง ในงานวันที่ 16-18 พฤศจิกายน ที่เราจะจัดขึ้น” น.ส.ธนพรระบุ

ธนพร วิจันทร์

ขณะที่ ผู้ร่วมแถลงข่าวอีกราย กล่าวว่า ช่วงเตรียมงาน ชาวบ้านถูกคุกคามเป็นจำนวนมาก พี่น้องเกษตรกรหลายคนถูกหมายหัวคิดว่าเป็นแกนนำ ทำข้อมูล โทรศัพท์คุกคาม เดินทางไปข่มขู่ที่บ้าน ทำให้ครอบครัวเกิดความหวาดระแวง ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องเอเปค พูดถึงเกษตรกรรายย่อยเป็นหลักด้วยซ้ำ ว่าธุรกิจโมเดลสีเขียวจะช่วยให้ชาวบ้านพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้นตามคำสวยหรูที่พูดไว้ แต่จริงๆแล้วชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมอย่างมาก นโยบายการทวงคืนผืนป่า หรือการปูทางเพื่อเป็นพื้นที่ปลูกป่าเพื่อค้าคาร์บอนเครดิต เกิดขึ้นแล้ว พี่น้องสมัชชาคนจนที่บ้านท่าเคย จ.สุราษฎร์ธานี ตอนนี้ก็ถูกทวงคืนผืนป่าแล้ว ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมาก ถูกขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่นโยบายยังไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังด้วยซ้ำ รัฐบาลประยุทธ์ มีการปูทางไว้ตั้งแต่แรก และมีการพยายามจัดทำอย่างเป็นระบบมาโดยตลอด ซึ่งเป็นการคุกคามชาวบ้าน หรือแม้แต่วันนี้ ใช้ชีวิตในออฟฟิศก็มีตำรวจมาคุกคามถึงที่ทำงาน เราไม่ใช่ความไม่มั่นคงของประเทศ ประยุทธ์ต่างหากคือคนที่จะมาทำลาประเทศ และคือคนที่ไม่มั่นคงที่สุดในประเทศไทยแล้ว

จากนั้น น.ส.ภัสราวลี หรือ มายด์ กล่าวปิดท้ายว่า ประชุมครั้งนี้มีความสำคัญ นอกจากจะสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างดีแล้ว ยังเป็นจุดร่วมในส่วนของภาคประชาชน ที่จะได้นำเสนอประเด็นต่างๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่านี้

“ฉะนั้น วันที่ 16-18 พฤศจิกายนนี้ ที่มีการประชุมเอเปค เชิญชวนทุกท่านให้ออกมาส่งเสียงร่วมกัน ออกมาเป็นส่วนหนึ่ง นำเสนอข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ให้เรามีอำนาจ มีความเข้มแข็งมากขึ้น ในการต่อรองกับรัฐบาล และส่งเสียงให้ไปถึงต่างชาติ ให้เขาเห็นว่าประเทศเรา ภาคประชาชนอย่างเราเองก็เข้มแข็งด้วยเช่นกัน” น.ส.ภัสราวลีกล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image