อจ.นิติฯ ชี้กฎหมายนิรโทษฉบับหมอระวี ‘ผ่านยาก’ เชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ก็ไม่หนุน เหตุกลัวคนแดนไกล

อจ.นิติฯ ชี้กฎหมายนิรโทษฉบับหมอระวี ‘ผ่านยาก’ เชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ก็ไม่หนุน แม้มีแต้มต่อในมือ เหตุกลัวคนแดนไกล 

สืบเนื่องจากกรณี นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เตรียมยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549-30 พ.ย.2565 โดยไม่ครอบคลุมถึงความผิด 3 กรณี ได้แก่ 1.ทุจริตคอร์รัปชั่น 2.ความผิดทางอาญาที่รุนแรง และ 3.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงข้อคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว ไว้ว่า ใคร เห็นด้วยหรือคัดค้าน กับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ก็คงต้องตอบคำถามเสียก่อนว่า “ใครได้ประโยชน์” และ “ใครเสียประโยชน์” จากกฎหมายฉบับดังกล่าว

แน่นอนว่า พรรคการเมือง ฝ่ายรัฐบาลแม้จะมี “แต้มต่อ” จากสมาชิกวุฒิสภา ที่มาจากการตั้งด้วยตนเอง เพื่อโหวตให้ตนเองอยู่ในมือ แต่สิ่งที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล กลัวมากที่สุดคือ “ทักษิณ ชินวัตร” และหากมีการนิรโทษกรรมทักษิณด้วย ก็คงคิดว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่าย “พลเอกประยุทธ์” อย่างแน่นอน

แต่ถึงแม้ว่า ฝ่ายรัฐบาลจะสนับสนุน กฎหมายฉบับนี้ แต่ท้ายที่สุดก็จะพยายามตีความว่ากรณีของทักษิณไม่เข้าเหตุนิรโทษกรรม โดยตีความว่ากรณีดังกล่าวเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายนิรโทษกรรม

Advertisement

เพราะทักษิณคือคนที่ พลเอกประยุทธ์กลัวมากที่สุด !

อีกทั้ง กลุ่ม ที่เคยสนับสนุนรัฐบาล เช่น กกปส. ในปัจจุบันหลายคนก็กลายมาเป็นคู่แข่งทางการเมือง ซึ่งหากมีการนิรโทษกรรมก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับพลเอกประยุทธ์มากนัก เว้นแต่จะมองว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะมาจับขั้วทางการเมือง แต่นั่นก็เป็นการมองข้ามช็อตจนเกินไป ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มการเมืองทุกกลุ่มตอนนี้มองไปที่ความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ในสนามเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาเป็นหลัก

จึงน่าเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ “ไม่น่าจะ” ให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้

Advertisement

อีกทั้งเรื่องดังกล่าวก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ให้ความสำคัญเท่ากับการหาช่องทางที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยผ่าทางตันรัฐธรรมนูญที่กำหนดห้ามเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีมากกว่า

ซึ่ง ณ ตอนนี้เราก็เริ่มเห็น “เค้าลาง” ของการที่จะตีความว่าในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญให้พักการเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ระยะเวลาการปฎิบัติงานไม่ต่อเนื่อง 8 ปี โดยมี ปปช. รับลูกด้วยการให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่ และท้ายที่สุดก็จะตีความแบบน้ำขุ่นๆ ว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวทำให้ “ระยะเวลาไม่ต่อเนื่อง”

เมื่อหันไปดูฝ่ายค้าน ในส่วนของ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งมีอุดมการทางการเมืองในการแก้ไขมาตรา 112 อย่างชัดเจน การที่กฎหมายนิรโทษกรรม มีข้อยกเว้นของมาตรา 112 ก็น่าจะทำให้พรรคก้าวไกลไม่ให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้

ในส่วน ของ “พรรคเพื่อไทย” คิดว่า ก็ไม่น่าจะให้การสนับสนุน เพราะหากตั้งสมมุติฐานว่า มีกฎหมายฉบับนี้ออกมา ก็ไม่ป็นประโยชน์กับทักษิณ ด้วยข้อยกเว้นของกฎหมาย

อีกทั้งเมื่อมองภาพรวมของสถานการณ์ด้านการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาประกอบกับ “ความอีนุงตุงนัง” ของกลุ่มผลประโยชน์ เกิดการเปลี่ยนขั้วความคิดทางการเมืองเปลี่ยนอุดมการณ์ความคิดทางการเมืองมีการย้ายพรรคตั้งพรรคใหม่ จากกลุ่มเดิมก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มที่ตนเคยสนับสนุน จึงทำให้โอกาสที่จะมีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาเป็นไปได้ “ค่อนข้างยาก” มิหนำซ้ำกฎหมายนิรโทษกรรมยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย

และเมื่อมองทางออกของสังคมก็ต้องกลับที่มองย้อนที่ “ต้นทาง” คือการไม่ล้ำเส้นสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุม หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นการตรวจสอบภาคประชาชน ด้วยการปรับใช้เทคนิคกฎหมายที่ไม่ควรเอามาเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

เช่น การอ้างว่าการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายการควบคุมโรค หรือการฝ่าฝืนพระราชกำหนดในช่วงที่ผ่านมา หรือการปรับใช้กฎหมายมาตรา 112 หรือการใช้กฎหมายอาญาในเรื่องหมิ่นประมาท

ตัวปัญหาคือใคร และอยู่ตรงไหน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เป็นการหาทางออก แต่ทางออกจะอยู่ตรงทางเข้า คือตัวปัญหา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
– “หมอระวี” เตรียมยื่นร่างกม.นิรโทษกรรรมทุกสี เว้นโทษทุจริต-คดีอาญารุนแรง-ม.112 เข้าถกสภา
– ‘หมอชลน่าน’ เผย ‘หมอระวี’ ชงกม.นิรโทษกรรม เว้นโทษทุจริต-คดีอาญารุนแรง-ม.112
– ‘โรม’ มอง ‘นพ.ระวี’ ชงนิรโทษ แต่พวกตัวเอง ยันถ้าเว้นคดี 112 ไม่ใช่การแก้ปัญหา
– ‘วิษณุ’ ปราม ‘นพ.ระวี’ ชงนิรโทษกรรม ยังไม่เข็ดกันอีกหรือ? ยันรบ.ไม่เคยคิดเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image