ศ.ดร.ธเนศ สงสัย รัฐบาลมีปัญหาอะไร? งงนโยบายแยกวิชาปวศ. ยกเวอร์ชั่นจิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อ สอนในรร.ไม่ได้

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน สืบเนื่องกรณี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงประเด็นที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการแยกวิชาประวัติศาสตร์ โดยยืนยันว่าไม่ได้บังคับเด็กรักชาติ แต่เปลี่ยนกระบวนการเรียนให้สนุกและเข้าใจการเปลี่ยนแปลง (อ่านข่าว ‘ตรีนุช’ ย้ำแยกวิชาประวัติศาสตร์ ไม่บังคับเด็กรักชาติ แต่เปลี่ยนกระบวนการเรียน)

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดี คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จริงๆแล้วประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการที่เรารู้จักกันอย่างสำนักสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถูกสร้างขึ้น แล้วสืบทอดมาในอุดมการณ์และจุดหมายของความเป็นชาติ การเคารพ ยอมรับนับถือชาติไทยอย่างแน่นเหนียวมาตลอด เป็นประวัติศาสตร์ชาติที่สมบูรณ์ในตัวเองเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาณาบริเวณนี้ หรือในเอเชียตะวันออกทั้งหมด ไม่มีประวัติศาสตร์ชาติไหนที่สร้างขึ้นมาแล้วคงทน ไม่ถูกวิจารณ์ ไม่ถูกเปลี่ยนด้วยหลักฐานข้อมูลต่างๆอย่างนี้

“ประเด็นของผมที่กำลังจะบอกคือ ประวัติศาสตร์ไทยที่มีอยู่ตอนนี้ เป็นประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดในโลกนี้แล้ว ไม่ต้องไปยุ่ง จะเรียนอย่างไรก็ตาม ไปเปลี่ยน ไปแก้ ไปทำอะไรยากมากๆ เพราะหลักฐานและเหตุผลรองรับเป็นสายเดี่ยว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ย้อนขึ้นไปก็เชื่อมโยงกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา-รัตนโกสินทร์ ลงมาถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ก็ยังได้ เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปประเทศ สร้างรัฐรวมศูนย์ใหม่ ซึ่งสืบทอดประวัติศาสตร์จารีตแบบไทยลงมา เพราะฉะนั้น จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกทำให้ขาดตอน ไม่ถูกทำให้ท้าทายด้วยอุดมการณ์ภายนอก

พอกรมฯ ดำรงนิพนธ์ประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมา ก็ใช้คติชาตินิยมแบบสมัยใหม่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ผมสงสัยคือรัฐบาลมีปัญหาอะไร จะไปทำอะไรอีก ทุกคนก็เรียนประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นนี้มาตั้งแต่เด็ก จนโต ไม่ว่าจะเรียนผ่านภาพยนตร์ ผ่านการ์ตูน ผ่านพ่อแม่พี่น้อง ซึ่งมากกว่าเรียนจากตำราในห้องเรียน นี่คือสิ่งสำคัญมาก เพราะการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตัวเอง รู้จากสื่อภายนอกมีพลังมากกว่าตัวหนังสือในห้องเรียน ซึ่งบ้านเรา เสริมกันมาตลอด อย่างภาพยนตร์เรื่องสมเด็จพระนเรศวร ถูกสร้างไม่รู้กี่รอบ การ์ตูนก็มี พูดง่ายๆคือ ครบถ้วน ถ้าผมเป็นนักรักชาติ จะไม่ไปยุ่งเลย เพราะเป็นประวัติศาสตร์ที่มีความด่างพร้อยในตัวมันเองน้อยมาก ใครจะแก้ไข ท้าทาย เชิญ ยิ่งดี เพราะคำตอบใหม่ ไม่มี เนื่องจากรัฐชาติยังเป็นจุดหมายอยู่ในปัจจุบัน เราไม่ได้เป็นรัฐอย่างอื่น รัฐศาสนาก็ไม่ใช่ แต่เป็นรัฐแบบไทยๆ

Advertisement

เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่า รัฐบาลคงมีงานน้อยเกินไป (หัวเราะ) ว่าง ไม่รู้จะทำอะไร เลยเอาเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะรู้ว่าไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ไม่ขาดทุน ใครรับไปทำก็สำเร็จทุกคน เพราะมันดีอยู่แล้ว คำว่าดีในที่นี้ ไม่ใช่ในแง่ความถูกต้อง หรือเป็นงานวิชาการที่ดีเลิศ แต่เหมาะกับสภาพพื้นเพ ภูมิประเทศ และความเป็นชาติในแบบของเราได้ดีที่สุด ไม่ว่าเวอร์ชั่นไหนก็ตอบโจทย์ไม่ได้เท่าเวอร์ชั่นนี้” ศ.ดร.ธเนศกล่าว

ศ.ดร.ธเนศ กล่าวต่อไปว่า ในต่างประเทศ อย่างอเมริกา มีวาทกรรมหลัก ว่าเริ่มต้นจากการเป็นอาณานิคมอังกฤษ ต้องปฏิวัติเพื่อให้ได้เอกราช เสรีภาพ รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ ตอนหลังมีการโต้กันตั้งแต่ประเด็นที่ว่า ใครมีบทบาทในการสร้างอเมริกาตั้งแต่เริ่มต้น ที่เรียนมาคือ คนผิวขาว แต่คนรุ่นใหม่ถามว่า อ้าว! แล้วคนผิวดำล่ะ ก็ได้คำตอบว่า มาทีหลัง และเป็นทาส ไม่มีบทบาท เกิดการถกเถียงกันว่า ไม่ใช่อย่างนั้น คนผิวดำเข้ามาแรกๆในศตวรรษที่ 16 ไมได้เป็นทาส กว่าจะเป็นทาส คือช่วงเวลาหลังจากนั้นตั้งราวๆ 100 ปี คือศตวรรษที่ 17 กล่าวคือ มีคนผิวดำที่มีฐานะ มีบทบาท แต่ประวัติศาสตร์ไม่บันทึก จึงไม่มี ต่อมาภายหลังจึงมีการยอมรับมากขึ้น ว่ามีบทบาทจริง มีการแก้ประวัติศาสตร์ให้ยอมรับความหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ ชนชาติ ศาสนา เพราะฉะนั้นรายละเอียดก็เริ่มแตกออกไป การตีความจะเริ่มต่าง แต่ใช้เวลานาน กว่าจะยอม

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายรัฐในอเมริกา พรรครีพับลิกันไม่ยอม มีการออกกฎหมายแต่ละรัฐ ห้ามสอนประวัติศาสตร์ฉบับก้าวหน้า Critical race theory (CRT) คือ มองเชื้อชาติอย่างวิพากษ์ โรงเรียนในหลายรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐถูกห้ามสอนประวัติศาสตร์แบบนี้ แต่ให้สอนประวัติศาสตร์แบบทั่วๆไปอย่างที่เคยเรียนกันมา จะสอนว่าคนผิวดำมีบทบาทในการสร้างอเมริกา ไม่ได้ ก็เหมือนประเทศไทย ถ้าจะเอาประวัติศาสตร์ฉบับจิตร ภูมิศักดิ์ ว่าศักดินาขูดรีดชาวไร่ชาวนา อย่างนี้ก็สอนในโรงเรียนไม่ได้หรอก แต่อเมริกาเสรี อย่างโรงเรียนเอกชนก็สอน ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล กฎที่กล่าวมาข้างต้น บังคับเขาไม่ได้ บังคับได้เฉพาะโรงเรียนรัฐ” ศ.ดร.ธเนศกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image