‘บิ๊กตู่’ เมิน ส.ส.แห่ยื่นไขก๊อก ปชป.ฉะเกมลาออกบี้ยุบสภา ชี้ผู้แทนทิ้งเก้าอี้แล้ว 36 คน

‘บิ๊กตู่’ เมิน ส.ส.แห่ยื่นไขก๊อก ปชป.ฉะเกมลาออกบี้ยุบสภา ชี้ผู้แทนทิ้งเก้าอี้แล้ว 36 คน

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเดินทางกลับจากการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU Commemorative Summit) ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียมว่า การเมืองคือการเมือง การบ้านคือการบ้าน ประชาชนคือการบ้านที่ตนต้องทำให้ ส่วนการเมืองเป็นการต่อสู้ในสภาก็ว่ากันไป เมื่อเลือกตั้งมาแล้วท่านก็ไปดูเอาว่าที่พูดกันมา ที่ทำกันมา ทำได้มากน้อยเพียงใด

“ถึงเวลานั้นจะได้หรือไม่ได้ ถ้าได้ผมก็ดีใจ ถ้าไม่ได้ก็เสียใจเท่านั้น คำว่าเสียใจคือทำให้ประชาชนมีความสุขไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเสียใจเพราะผมได้เป็นหรือไม่ได้เป็น อย่าถามกันบ่อย ใครจะไป ใครจะมา ใครจะลาออก ใครจะไปอยู่พรรคไหนก็เรื่องของเขา เรื่องของสภา พอสภาล่มโทษนายกฯ ซึ่งผมบอกไปแล้วสั่งทุกพรรคไปแล้วให้ไปร่วมประชุม เขาก็ตอบรับแต่ถึงเวลาไปไม่ครบ

นายกฯทำไมไม่ควบคุม ผมไม่โทษใคร ผมไม่โกรธใครอยู่แล้ว แต่อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งทุกคนบอกว่านายกฯมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบต้องดูแลบ้านเมือง ดังนั้น ส.ส.ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองในการทำงานในสภา เป็นผู้ใหญ่แล้วโตกันหมดแล้ว อีกเรื่องใครจะเข้าใครจะออกพรรคไหนก็เรื่องของท่าน ผมไม่เคยทะเลาะกับใคร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่มี ส.ส.ลาออกเป็นจำนวนมาก ว่าไม่กระทบต่อองค์ประชุมสภา เพราะการลาออกของ ส.ส.ถือว่าเป็นสิทธิส่วนตัว ทำให้เสียงกึ่งหนึ่งลดลงเหลือ 221 คน จึงคิดว่าเรื่ององค์ประชุมต้องดูแลให้ครบ 221 คน ตนมีความมั่นใจว่าหากสามารถประสานพรรครัฐบาลให้เกิดความเข้มแข็งจะสามารถผลักดันกฎหมายสำคัญได้ ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าในเร็ววันนี้นายกฯจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย หลังเดือนมกราคมกฎหมายเลือกตั้งจะมีความพร้อมเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการจัดเลือกตั้ง

Advertisement

เมื่อถามว่าการลาออกของ ส.ส.จำนวนมากจะส่งผลต่อการยุบสภาหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า การลาออกของ ส.ส.ขอคิดต่างจากนักวิชาการที่บอกว่าการลาออกเป็นปัจจัยที่ทำให้นายกฯขาดความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อไป ซึ่งไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการลาออกช่วงปลายสมัยเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น อยากเรียกร้องอีกครั้งว่าไม่อยากให้การยุบสภาโดนถูกอ้างว่า ส.ส.ลาออก หรือไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งจะทำให้ภาพความเชื่อมั่นของรัฐสภาเสียหาย เรื่องการยุบสภาเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่ต้องตัดสินใจ ไม่อยากให้มีประเด็นการยุบสภาที่จะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องรับผิดชอบแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยจำนวน ส.ส. ภายหลังมีสมาชิกยื่นลาออกจำนวนมาก ทำให้เหลือ ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในสภา ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565 มีจำนวน 442 คน องค์ประชุมคือ 221 คน แบ่งเป็น พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค รวม 192 คน และพรรคร่วมรัฐบาล 16 พรรค รวม 250 คน และภายหลัง ส.ส.ทยอยลาออกเป็นจำนวนมาก ทำให้สภาชุดปัจจุบันมีสถิติที่ ส.ส. ลาออกจากตำแหน่งมากที่สุด นับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา มี ส.ส.ลาออก รวม 36 คน แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 12 คน พรรคเพื่อไทย (พท.) 8 คน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 8 คน พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) 2 คน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรครวมพลัง (รพ.) พรรคประชาภิวัฒน์ (ปชภ.) พรรคประชาชาติ (ปช.) และพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) พรรคละ 1 คน นอกจากนี้ยังพบว่ามี ส.ส.ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ 8 คน แบ่งเป็น พรรค พท. 2 คน, พรรค พปชร. 3 คน, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 2 คน และพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) 1 คน ทั้งนี้ยังมี ส.ส.ที่พ้นสมาชิกภาพ รวม 14 คน ส่วน ส.ส.ที่ลาออก ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ นางนันทนา สงฆ์ประชา พรรคประชาภิวัฒน์ (ปชภ.) นายอารี ไกรนารา พรรคเพื่อชาติ (พช.) และ น.ส.อนุสรรี ทับสุวรรรณ พรรครวมพลัง (รพ.) ตามกฎหมายต้องเลื่อนผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นแทน

Advertisement

ข่าวน่าสนใจอื่น :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image