‘พรเพชร’ รับ ‘วุฒิสภา’ ถูกวิจารณ์ แต่ยังทำงานได้ ลั่น มาจาก คสช. แต่ไม่ทำงาน ‘ตามสั่ง’

‘พรเพชร’ รับ ‘วุฒิสภา’ ถูกวิจารณ์ แต่ยังทำงานได้ดี ไม่พอใจงานปฏิรูปประเทศ ลั่น มาจาก คสช. แต่ไม่ทำงาน ‘ตามสั่ง’

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานของ ส.ว.ในปี 2566 ว่า ก่อนครบ 5 ปี การทำงานของ ส.ว.ก็เหลืออีกปีเศษๆ ซึ่งได้เรียนกับสมาชิกแล้วว่าคงจะมีการเปลี่ยนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คนใหม่ ต้องทำงานร่วมกับ ส.ส.ทั้ง 500 คน และพรรคการเมือง ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าพรรคไหนจะได้คะแนนเสียงมาก และประธานรัฐสภาจะมาจากพรรคไหนก็ยังไม่ทราบแน่นอน

แต่เราก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ประสบการณ์ที่ผ่านมา 3-4 ปี คิดว่าจากการทำงานและประสานงานกับ ส.ส.ให้ได้กฎหมายที่ดี และญัตติต่างๆ ที่ 2 สภา เสนอร่วมกัน และเสนอตามขั้นตอนก็มีเพราะกฎหมายส่วนใหญ่จะดำเนินไปตามขั้นตอน คือสภาพิจารณาก่อน แล้วถึงจะเข้าวุฒิสภา จะเห็นได้ว่าวุฒิสภามีส่วนในการแก้ไขและตกลงกันได้แทบทุกฉบับ ซึ่งเป็นระบบคิดว่าประเทศไทยพัฒนากฎหมายมาเช่นนี้จะได้กฎหมายที่ดี ออกมาบังคับใช้แก่ประชาชน แต่ถ้ามีเรื่องที่มีปัญหามาก อาจจะไม่ผ่าน ก็ต้องยอมรับ

เมื่อถามถึง การปฏิรูปประเทศที่ทางวุฒิสภาต้องดำเนินการแต่ถูกวิจารณ์ว่ายังไปไม่ถึงไหน นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนนี้เราก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศมีบางส่วนที่ได้ผ่านไปบ้างแล้ว เช่น เรื่องการปฏิรูปด้านตำรวจ แต่เท่าที่ตนทราบยังไม่เป็นที่พอใจ ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษา ที่จะเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10-11 มกราคม 2566 นั้น รู้สึกว่าขณะร่างมาก็ยังไม่พอใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สั้นหน่อยก็ผ่านไปได้ เช่น กฎหมายการซ้อมทรมาน ความจริงกฎหมายฉบับนี้เริ่มต้นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ซึ่งตอนนี้พยายามที่จะทำให้เสร็จ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่ากฎหมายนี้กระทบกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ สมัย สนช.จึงต้องระวัง แต่เมื่อเอามาเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก็ไปด้วยกันได้ราบรื่น แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เราก็ทราบดีว่าทางสภาต้องยึดประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่วุฒิสภาก็ต้องพิจารณาด้วยว่าบางเรื่องต้องเข้าใจเจ้าหน้าที่ ที่ต้องมีอำนาจบางอย่างแต่ถ้าอำนาจเกินเลยเราต้องดูเพื่อไม่ให้อำนาจเกินไป รวมถึงกฎหมายทำแท้งก็ผ่านไปได้ด้วยดี

Advertisement

เมื่อถามว่า ใกล้ครบวาระ 5 ปีของ ส.ว.แล้ว การติดตามเรื่องการปฏิรูปจะไปทางไหน เพราะมีการมองว่า ส.ว.ไม่มีบทบาทเต็มที่ นายพรเพชรกล่าวว่า เรื่องนี้ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เคร่งครัดมากในการที่จะให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และในกฎหมาย ซึ่งในส่วนของกฎหมาย ยังไม่เป็นที่พอใจแต่ในส่วนที่ต้องดำเนินการโดยไม่ต้องใช้กฎหมายก็มีเยอะ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ยาก

แต่ก็ได้มีการเชิญสมาชิกมาซักถามว่าทำไปถึงไหน เป็นอย่างไร ทำไมไม่ทำ ซึ่งเรายังมีเวลาในการดูสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ประสบผลสำเร็จ อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องได้ผลประโยชน์ตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ซึ่งในรัฐบาล คสช.ตั้งใจที่จะให้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น จึงได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ตนเข้าใจว่าองค์กรหรือหน่วยราชการต่างๆ อาจจะไม่คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ตามที่มีการชี้แจงทุกปีตลอดมา

Advertisement

“เรื่องนี้วุฒิสภาให้ความสำคัญมาก และเท่าที่ผมดู ส.ว.บางส่วนมาจากสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) เขาก็เข้มแข็งและพยายามที่จะดูสิ่งเหล่านี้ และคิดว่าก็คงต้องดำเนินการต่อไป ถึงแม้จะเป็นช่วงปิดสมัยประชุม และรอรัฐบาลชุดใหม่มา ผมก็บอกกับสมาชิกว่าเราต้องทำงานต่อ แม้ว่างานด้านนิติบัญญัติจะยังทำไม่ได้ เพราะสภายังไม่มี แต่หากมีเรื่องที่สำคัญจริงๆ ก็สามารถให้มีการเปิดสภาได้ในบางขั้นตอน แต่ก็ยาก จึงต้องไปเน้นในเรื่องของการปฏิบัติ เช่น ปฏิบัติต่อหน่วยราชการต่างๆ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งต้องอยู่ในขอบเขตจำกัด และต้องหยุดไปก่อนเพราะพรรคการเมืองต่างๆ เขาหาเสียงกัน เมื่อได้สภาใหม่เราค่อยดำเนินการไปหาประชาชนต่อ” นายพรเพชรกล่าว

เมื่อถามต่อว่า พอใจกับผลงานของวุฒิสภาตลอดปี 2565 รวมถึงการทำงานของตัวเองประธานวุฒิสภาเองหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ตนประเมินว่าทำได้ดี อาจจะมีที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ผ่าน มีเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผ่านไปเพียงเรื่องระบบเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนากันต่อไป ซึ่งตนก็ยอมรับว่าประชาชนหรือผู้ที่เห็นว่ากฎหมายที่ไม่ผ่านเป็นต้นเหตุมาจากรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ ส.ว. 1 ใน 3 จริงๆ แล้วบางครั้งที่กฎหมายไม่ผ่าน ก็ไม่ได้เกี่ยวกับเสียง ส.ว. 1 ใน 3 เพราะบางครั้งเสียง ส.ว.ก็ไม่ให้ผ่านเลย

เมื่อถามว่า เสียง ส.ว.ที่ไม่ให้กฎหมายผ่าน เป็นเพราะ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เมื่อตนมาเป็นประธานวุฒิสภา หลายคนเข้าใจว่าตนสามารถสั่งการได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ สมาชิกเลือกตนมาในแง่ที่ตนมีประสบการณ์ในเรื่องนิติบัญญัติ ตั้งแต่สมัยอายุยังน้อย เขาก็ไว้วางใจให้ตนทำงานด้านนี้ ส่วนวิปวุฒิสภา ตนไม่ทราบว่าวิปวุฒิสภามีแค่ไหนเพียงใด คงวิปได้เป็นกลุ่มๆ เพราะถ้าเห็นด้วยกันก็คงจะไปในแนวทางเดียวกัน แต่ตนมั่นใจว่า ส.ว.ไม่ไปทางเดียวกันตลอด

ข่าวน่าสนใจอื่น :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image