‘8 องค์กรสิทธิฯ’ ล้อมวง ขานรับ 3 ข้อ ขอตะวัน-แบมรักษาชีวิต จ่อลุยยื่นศาลฎีกา จี้แก้คำสั่ง ‘ปล่อยผตห.การเมือง’

‘กลุ่ม 8 องค์กรสิทธิมนุษยชนฯ’ จัดเสวนาขานรับข้อเสนอ ตะวัน-แบม พร้อมเดินขบวนยื่นหนังสือศาลฎีกา จี้แก้ไขคำสั่งปล่อยตัวนักกิจกรรม

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน กลุ่ม 8 องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย นำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD), สถาบันสังคมประชาธิปไตย และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีเสวนา “คำขานรับข้อเสนอตะวัน-แบม แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย” และนัดหมายเดินขบวนเพื่อไปยื่นจดหมายปิดถนึกถึงประธานศาลฎีกา เพื่อขอให้ประธานศาลฎีกาเร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว การกำหนดหลักประกันและเงื่อนไข การถอนประกันตัว นักกิจกรรมทางการเมืองอย่างเร่งด่วน

น.ส.ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ผู้จัดการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ภาพรวมของผู้ต้องหาทางการเมืองข้อมูลเมื่อวันที่ 19 มกราคม คือมีผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำ 16 คน ถูกคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมด 8 คน และคดีอื่นๆ ที่ยังไม่มีคำตัดสิน จึงจัดกิจกรรมในวันนี้เพราะสถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงและเร่งด่วนอย่างมาก ล่าสุดข้อมูลจากทนายความที่ไปเยี่ยมพบว่าอาการของ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม และ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นักกิจกรรมทางการเมืองไม่สู้ดีเท่าที่ควร

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข

ด้าน นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า หลักมาตรฐานสากลคือหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน จริงๆ แล้วกฎหมายไทยนั้นยอมรับหลักมาตรฐานสากลและกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งปี 2540-2560 ในปัจจุบัน แต่ในทางปฏิบัตินั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมอาจจะไม่ได้ยึดถือหลักมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง หลักสำคัญคือสิทธิมนุษยชนคือทุกคนเกิดมาล้วนมีสิทธิเสรี เจ้าหน้าที่ตำรวจและกระบวนการยุติธรรมต้องยึดถือหลักนี้ไว้ การที่จะฝากขังต้องเป็นกรณีที่จำเป็นจริงๆ ต้องพิจารณาว่านักกิจกรรมมีพฤติกรรมที่จะหนีหรือไม่ ซึ่งไม่น่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำมาพิจารณา และนักกิจกรรมเหล่านี้คงไม่มีอิทธิพลที่จะเข้าไปข่มขู่พยานหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แน่นอนว่าในหลักสากลบางประเทศการที่จะขังคนเหล่านี้ไว้อาจจะมีเงื่อนไขคล้ายกับกฎหมายไทยคือเกรงว่าจะไปกระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งต้องเป็นคดีที่มีความร้ายแรง เช่น คดีฆ่าคนตาย ฆาตกรต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือการฝากขังนอกจากกรณีที่จำเป็นจริงๆ แล้วในบางประเทศเขาจะให้เป็นข้อยกเว้น เพราะทุกคนมีเสรีภาพจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนคนที่ยังเป็นเพียงผู้ต้องหาหรือจำเลยจะปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้

สมชาย หอมลออ

ส่วนการปล่อยตัวชั่วคราวแต่ต้องอยู่ในบ้านตลอด 24 ชั่วโมงนี่คือการลงโทษ ปฏิบัติเสมือนเป็นนักโทษ รวมทั้งการติดกำไลอีเอ็มทำให้รู้สึกเป็นตัวประหลาดในสังคม และคนอื่นไม่รู้ว่าเป็นผู้ร้ายอย่างไร นี่เป็นการตีตราด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งโดยหลักสิทธิมนุษยชนทำไม่ได้เพราะทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน อีกประเด็นสำคัญคือคนเหล่านี้ไม่ควรถูกตั้งข้อหาเพราะตัวเองมีความคิดหรือความเชื่อที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ เพราะบุคคลทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในความคิดความเชื่อ ใครจะไปจำกัดหรือละเมิดไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรรม การจะสั่งขังคนเหล่านี้ ตนคิดว่ามผิดตั้งแต่แรกแล้ว ไม่เหมาะสมที่จะไปตั้งข้อกล่าวหาหรือขังคนเหล่านี้เพียงเพราะมีความคิดและความเชื่อต่างจากผู้มีอำนาจ

Advertisement

ต่อมา นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การท้าทายความคิดอนุรักษ์ของนักกิจกรรมทั้งสองคนด้วยพยายามอย่างยิ่งในการเสียสละตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนคิดว่าได้ผลในระดับหนึ่งในแง่ของการสร้างความสนใจในสังคม

สุนี ไชยรส

แต่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อวาน (1 กุมภาพันธ์) ในรัฐสภามีการพูดถึงเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องปฏิรูปทั้งระบบ กฎหมายอาญามาตรา 112 ใครก็สามารถฟ้องได้กลายเป็นเรื่องที่ไม่ต้องมีหลักอะไรเลย ซึ่งจริงๆ ผู้เสียหายต้องเป็นผู้ฟ้อง จึงกลายเป็นคดีการเมือง ซึ่งต้องเข้มงวดในการเปลี่ยนแปลง

“อยากฝากถึงนักกิจกรรมทั้งสองว่า ในการต่อสู้นั้นเราจะพยายามผลักดันหรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้นและขอเสนออื่นๆไปด้วย อย่าไปคาดหวังว่าทุกอย่างจะจบลงได้ในเวลาที่จำกัดนี้ แต่มันได้เริ่มต้นแล้ว และกำลังไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นขอให้ทั้งสองคนต่อสู้กับร่างกายของตนเอง เราเคารพการตัดสินใจของน้อง แต่เราก็อยากให้น้องมีชีวิตอยู่” นางสุนีกล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image