‘เครือข่ายหมอ-พยาบาล’ รวมชื่อยื่น ‘ปธ.ศาลฎีกา-อาญา’ ขอคืนสิทธิประกันผตห. ให้รักษากาย-ใจ

‘เครือข่ายบุคลากรแพทย์’ รวมชื่อยื่นถึง ‘ปธ.ศาลฎีกา-อาญา’ ขอคืนสิทธิประกัน ผตห.การเมือง เพื่อให้ได้เยียวยากาย-ใจ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่สำนักประธานศาลฎีกา ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ จาก ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, หมอไม่ทน และ Nurses Connect เข้ายื่นหนังสือ พร้อมรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ถึงประธานศาลฎีกา และศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมดทันที เพื่อให้ทั้งหมดได้รับบริการสุขภาพตามมาตรฐาน

เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ระบุว่า ถึงแม้ศาลจะพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวตะวัน และ แบมเพื่อรักษาตัว แต่สิทธิโชค ยังคงอดน้ำและอาหารอยู่ อีกทั้งเก็ท โสภณ ว่าที่นักเทคนิครังสีในอนาคต ก็ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

“พวกเราในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ จึงขอเรียกร้องให้ศาลฟังเสียงของเรา ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่ห่วงใยสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง” เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ระบุ

สำหรับ จดหมายเปิดผนึก เรื่อง ขอเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเพื่อให้ได้รับการรักษาทางร่างกายและจิตใจ มีเนื้อหาความว่า

Advertisement

สืบเนื่องจากกรณีที่มีการจับกุมผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีนักกิจกรรมจำนวนมากถูกดำเนินคดีและจำคุก โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว และจากเหตุการณ์ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันเก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, ใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ กลุ่มทะลุวัง รวมไปถึงคำสั่งพิพากษาจำคุก สิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาผ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลให้ ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ ตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อถอนประกันตนเอง

ต่อมา ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ ได้ประกาศอดอาหารและน้ำเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 และสิทธิโชค เศรษฐเศวต เริ่มอดอาหารตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2566 และเพิ่มการยกระดับโดยการอดอาหารและน้ำตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2566 แล้วนั้น

Nurses Connect, หมอไม่ทน, และภาคีบุคลากรสาธารณสุข ในฐานะภาคีเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพในสายงานสาธารณสุข และในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ มีความวิตกกังวลต่อสภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสิทธิโชค ที่ได้มีการประกาศอดอาหาร ทานตะวัน และแบม ที่ประกาศอดอาหารและน้ำ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อภาวะสุขภาพในระยะสั้น และระยะยาว โดยผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจากการการอดอาหารและน้ำนั้น อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อภาวะสุขภาพ ดังนี้

Advertisement

1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) หรือ ภาวะกลูโคสในเลือดต่ำ (Low Blood Glucose) เกิดขึ้นเมื่อระดับกลูโคสในเลือดลดลงต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในคนปกติ หรือต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดชิลิตรในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน การอดอาหารจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำเกินไป ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจเกิดขึ้นได้ขณะหลับหรือไม่ได้รับประทานอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและส่งผลให้มีอันตรายถึงหมดสติได้ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดภาวะ Hypoglycemic Coma ได้ หากร่างกายขาดน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงานเป็นเวลานาน ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

2. การขาดสมดุลเกลือแร่ (Electrolyte Imbalance) อิเลคโทรไลต์ คือแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ประกอบไปด้วย โซเดียม, โพแทสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม และคลอไรด์ แร่ธาตุที่จำเป็นทั้งหมดนี้จะทำงานร่วมกันในการควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ ลำเลียงสารอาหารไปยังเซลล์ ช่วยควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย ไปจนถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ การขาดสมดุลของอิเลคโทรไลต์ เป็นการขาดเกลือแร่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง และภาวะโปแทสเชียมในเลือดต่ำจะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบกล้ามเนื้อ

3. ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) โดยปกติร่างกายมนุษย์จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 60% เพื่อควบคุมสมดุลการไหลเวียนต่างๆ ในร่างกาย ภาวะขาดน้ำ คือ ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอจนส่งผลต่อการทำงานของระบบไหลเวียนและอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อ เป็นต้น อาการของภาวะขาดน้ำขึ้นกับความรุนแรง ช่วงต้นจะมีอาการปากแห้ง คอแห้ง กระหาย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน หากขาดน้ำมากขึ้นจะเริ่มกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาเร็ว ซึมลง หรือความดันโลหิตต่ำ ซึ่งความรุนแรงที่มากจะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ไตวายเฉียบพลัน หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ด้วย เช่นกัน

4. ภาวะไตบาดเจ็บ (Acute Kidney Injury) ภาวะไตวายเฉียบพลัน คือภาวะที่ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง ทำให้ใตสูญเสียหน้าที่ในการทำงานอย่างเฉียบพลัน โดยผลกระทบจะส่งผลให้การกรอง การดูดกลับสารน้ำและเกลือแร่ และการขับออกของไตลดลง จนเกิดภาวะไม่สมดุลของสารน้ำ เกลือแร่ และมีของเสียคั่งในร่างกาย โดยเฉพาะภาวะยูเรียและไนโตเจนคั่งในกระแสเลือด และมีโอกาสกลายเป็นโรคไตเรื้อรังจนถึงขั้นต้องฟอกไต

5. ภาวะ Ketoacidosis หรือ เลือดเป็นกรด คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับคีโตน สูงผิดปกติซึ่งเกิดมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาลได้ ตับจึงทำหน้าที่เผาผลาญไขมัน เพื่อให้เกิดพลังงานขึ้นทดแทน โดยพลังงานเหล่านั้นเรียกว่า คีโตน (Ketone) และร่างกายจะปล่อยโตนที่ได้เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน หากไม่ได้รับการรักษา อาการจะค่อยๆ รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังจะแดงและแห้ง มีอาการเหม่อลอยไม่ได้สติ ไม่รู้สึกตัว ช็อกหมดสติ และอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

6. กลุ่มอาการซึ่งเกิดจากการได้รับสารอาหาร หลังจากการขาดอาหารเป็นเวลานาน (Refeeding Syndrome) กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากให้สารอาหารทดแทนภายหลังจากการขาดสารอาหารรุนแรง หรืออดอาหารเป็นเวลานาน เป็นความผิดปกติทางเมตาบอลิกที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแร่ธาตุที่สำคัญเข้าสู่เซลล์อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของอิเลคโทรไลต์ โดยเฉพาะฟอสเฟต แมกนีเชียม และโปแทสเชียมในเลือดต่ำ รวมไปถึงการขาดวิตามินบี 1 ส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติและเสียชีวิตได้ในที่สุด

นอกจากอันตรายที่เกิดกับร่างกาย ยังมีความกังวลด้านสุขภาพจิต จากกรณีที่มีการพยายามทำร้ายร่างกายตนเองและมีการพยายามฆ่าตัวตาย (Suicidal attempt) ของผู้ต้องหาจากกลุ่มทะลุแก๊ซก่อนหน้านี้นั้น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบต่อสภาวะสุขภาพจิตของผู้ต้องหา ทั้งภาวะวิตกกังวล (Anxiety) และภาวะซึมเศร้า (Depression)

ทางภาคีบุคลากรสาธารณสุข ร่วมกับกลุ่มหมอไม่ทน และ Nurses connect มีความกังวลในสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากการอดอาหารและน้ำเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก ทำให้มีโอกาสทุพลภาพหรือเสียชีวิตได้ในทุกขณะเวลา และถึงแม้ ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ และสิทธิโชค เศรษฐเศวต จะได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ทั้ง 3 คน ยังยึดมั่นที่จะปฏิเสธการรักษาด้วยยาและสารน้ำทุกกรณี

ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ เราทราบดีว่ามีภาวะแทรกซ้อนอันตรายใดบ้าง ที่อาจเกิดขึ้นจากการอดอาหารและน้ำ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านั้น ล้วนเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบถึงแก่ชีวิตได้ทันทีหากไม่ได้รับการแก้ไข และ ภาคีบุคลากรสาธารณสุข หมอไม่ทน และ Nurses connect มีความเชื่อมั่นว่า ภาวะสุขภาพของประชาชนทุกคน ทุกชนชั้น ทุกความแตกต่างทางความคิด เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อเราในฐานะบุคลากรทางการแพทย์

ด้วยความเป็นห่วงในสุขภาพของ ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ และ สิทธิโชค เศรษฐเศวต และผู้ต้องขังรายอื่นเป็นอย่างยิ่ง ทางภาคีบุคลากรสาธารณสุข, กลุ่มหมอไม่ทน และ Nurses connect จึงขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง เพื่อให้ทั้งหมดได้รับบริการทางสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ ตามมาตรฐานบริการที่สมควรได้รับในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ทั้งนี้ ทางภาคีบุคลากรสาธารณสุข, กลุ่มหมอไม่ทน และ Nurses connect จึงได้แนบรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ ที่เห็นด้วยกับการปล่อยผู้ต้องหาทางการเมืองทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข จำนวน 339 รายชื่อ อันประกอบไปด้วยสหสาขาวิชาชีพ พร้อมทั้งรายชื่อประชาชน ที่เห็นด้วยกับการปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง จำนวน 500 รายชื่อ มาในจดหมายฉบับนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image