ศ.ดร.ธเนศ ทำนาย ‘บิ๊กตู่’ แฟนเก่าคงดึงได้ แฟนใหม่ยังไม่ชัวร์ ชี้จีนเทา-ปฏิรูปตำรวจ โจทย์ยาก

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชนรายวัน’ ประเด็นประเมินการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำงานครบ 4 ปี ถือเป็น ส.ส.และสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ กล่าวว่า ภาพรวมการอภิปรายของฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ผ่านมา เท่าที่มีโอกาสได้เห็นก็รู้สึกว่าค่อนข้างบรรลุเป้าหมายของการเป็นรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าครึ่งหนึ่งจะมี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง และ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง และประชาธิปไตยก็ไหลไปแบบครึ่งๆ กลางๆ ก็ตาม

แต่ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร คิดว่าทำหน้าที่ในการตรวจสอบ-ถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล แล้วก็มีการอภิปรายถึงผลงานจากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา จุดอ่อนต่างๆ ที่รัฐบาลทำก็สามารถนำเสนอแนวทางและนโยบายที่เป็นทางเลือก ทางออกให้กับประชาชน ที่เหลือก็เป็นการสร้างคะแนนเสียงให้กับการทำงานของพรรค สำหรับพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ก็ผนึกกำลังกันในการผลักดันตรวจสอบ นำเสนอหนทางต่างๆ ให้กับประชาชน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลจากที่ได้ฟังการประเมินครั้งสุดท้ายก็มีคนให้คะแนนเสียงเยอะมาก บอกว่าทำงานเต็มที่ คือไม่ได้เป็นแค่เรื่องด้านลบ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องชาวบ้านร้านตลาด แต่ว่าเขาไปขุดค้นเรื่องที่เกี่ยวพันกับกลไกอำนาจรัฐ เช่น ตำรวจ ทหาร กองทัพ ฯลฯ ไม่ใช่เอาประเด็นที่รู้กันทั่วๆ ไป แล้วเติมสีเติมไข่ แต่ว่าลงไปค้นคว้าหาข้อมูลทั้งภายในภายนอก ส่วนตัวคิดว่าเป็นการทำงานอย่างเต็มระบบ นี่คือสิ่งที่สำคัญ

“ส.ส.ของฝ่ายค้านก็ทำงานได้หลายคน ไม่ใช่ทำได้คนเดียว ส่วนใหญ่จะทำงานได้ค่อนข้างดี เต็มที่ บทบาทหน้าที่ให้อำนาจเขาในการทำ เพราะฉะนั้นในส่วนของบทบาทของพรรคก้าวไกล ทำให้ฐานะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความหมายขึ้น มันเหมือนกับดูละคร ฟังนิยายน้ำเน่า ทะเลาะกันไปมา แต่ว่าพรรคก้าวไกลทำให้สภาไม่ใช่โรงละคร มันเป็นเวทีของการต่อสู้ และควบคุม ถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลอย่างจริงจัง

Advertisement

ในส่วนนี้รวมๆ แล้วผมว่าก็คุ้มค่า กล่าวคือ ทั้งเวลา ทั้งทรัพยากร เงินทองต่างๆ ความรู้ เครื่องมือ ก็มีเยอะแยะ แต่ถ้าเราไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากตรงนี้มันก็จะขาดแคลนไป ดังนั้น รวมๆ แล้วแม้ว่าระบบรัฐสภาจะไม่ได้ต่อเนื่อง มีการพัฒนามา แต่พรรคก้าวไกลสามารถที่จะใช้เวลาในช่วง 4 ปีกว่าสร้างผลงานขึ้นมาได้อย่างดีมากฉะนั้น ให้คะแนน A+ ได้” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศกล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศกล่าวว่า ส่วนญัตติที่จะสะเทือนไปถึงการเลือกตั้งได้ คือก่อนจะปิดการประชุมก็มีปัญหากันเรื่องตำรวจ เรื่องทุนสีเทาโยงไปถึง ตม. ไปถึงตำรวจอะไรต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องที่เกี่ยวพันกับตำรวจว่าไปยิง ไปฆ่าคนเยอะมาก แต่ไม่สามารถรวมให้เป็นชิ้นเป็นอันได้ แต่คราวนี้เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ ทหาร ชัดเจนมากขึ้น

“โจทย์ประเด็นแรกในการตรวจสอบครั้งล่าสุดที่ออกมา ผมคิดว่าเรื่องระบบทหาร ตำรวจ เป็นเรื่องแรกที่อยู่ในความรับรู้ของสังคม พูดง่ายๆ ว่าคะแนนของพรรคฝ่ายรัฐบาลแก้โจทย์นี้ได้ยากมาก ต่อไปก็ยังแก้ไม่ได้ ไม่ได้กระจ่างขึ้น เพราะไม่ได้รับปากว่าจะแก้อะไร คือไม่ยอมรับ มันใหญ่เกินกว่าที่หน่วยงานอื่นๆ จะยอมรับได้ แต่ผมเชื่อว่าปัญหาของระบบอำนาจของตำรวจ ทหาร เป็นเรื่องใหญ่มากที่ฝ่ายค้านสามารถเอามาใช้ในการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของรัฐบาล

Advertisement

ถามว่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งไหม ผมคิดว่าคนที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งจะมีทั้งที่เป็นหัวหอกของพรรคหนึ่งพรรคใด ซึ่งข้อมูลจะดีอย่างไรก็ตาม เขาก็จะไม่เปลี่ยนความเชื่อ ซึ่งทุกประเทศมีหมด และมีกลุ่มตรงข้ามที่จะไม่เลือกอยู่แล้ว ก็จะได้เสียงจากกลุ่มกลางๆ ที่ฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฟังการโต้วาที น้ำหนักจะไปอยู่ที่คนกลุ่มกลางๆ ที่พร้อมจะรับฟังข้อมูล

ส่วนใหญ่เป็นคนในเมืองที่มีการศึกษาระดับหนึ่ง มีฐานะ อาชีพ มีการทำมาค้าขาย คนเหล่านี้ก็จะมีเหตุมีผลแล้วก็ต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการนโยบายที่จะทำให้เขาอยู่รอดได้ ถ้าหากระบบคอร์รัปชั่น คนที่ทำมาหากินทั่วไปเขารู้ว่าตัวเองเป็นเหยื่อตลอดเวลา เขาไม่มีทางออกเลย ก็เลยต้องการการปฏิรูปอำนาจแบบนี้ คนพวกนี้ก็จะต้องเทคะแนนให้พรรคก้าวไกล เพราะเขาก็หวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งถ้าคนในกรุงเทพฯเทคะแนนให้พรรคก้าวไกลก็แสดงว่าการทำงานมีผลไปเปลี่ยน อาจจะทำให้เกิดแลนด์สไลด์แบบ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. จากการอภิปรายเช่นนี้

ส่วนฝั่งรัฐบาลก็จะต้องค้นคว้าไปด้วย เท่าที่ดูยังไม่มีการเตรียมตัวขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการพยายามจะยุติ หรือหยุดการโต้เห็นของฝ่ายค้าน คือใช้กลไกทั่วไปของระบบรัฐสภาเพื่อที่จะหยุดการโจมตี แต่เท่าที่ผมได้ยินรู้สึกว่าจะไม่ได้ตอบแบบกระจ่างชัดเจนว่าฝ่ายค้านพูดผิดอย่างไร เพราะว่าไม่ได้ทำการบ้าน ผมฟังดูไม่มี คนที่พูดเป็นหลักเป็นฐานมากที่สุดก็คือนายกฯ เมื่อเทียบกับการอภิปรายในอดีตที่ผ่านมาครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ตอบมาก และเลือกตอบจากความรู้สึกจริงๆ ของตัวนายกฯเอง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี ฟังแล้วจะได้รู้” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศกล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศกล่าวว่า 7-8 ปีที่อยู่ในระบบรัฐสภาในที่สุดนายกฯที่ไม่ให้น้ำหนักกับระบบรัฐสภา ไม่ต้องการให้เข้ามามีส่วนกับการปกครอง ไม่ได้มองในแง่การเอามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำนโยบายของตัวเอง หรือการทำงานของรัฐบาลดูมีความน่าเชื่อถือ ลุ่มลึก หรือจะไปจูงใจคนตรงกลางได้ อันนี้ไม่ได้ทำ ฉะนั้น การตอบโต้ก็จะดึงเอาความรู้สึกส่วนตัว หรือการทำงานที่ไม่ข้องแวะกับการเมือง ทั้งที่มีตั้งหลายเรื่องอย่างเรื่องคอร์รัปชั่น เอกสาร แจกเงิน แต่ตอบว่าคนอื่นเป็นคนทำ นายกฯไม่ได้ทำ ซึ่งก็ประหลาดดีเหมือนกัน

“ทั้งหมดทั้งมวลคิดว่าการวางจุดตัวเองเป็นผู้นำกุมอำนาจสูงสุด อยู่เหนือการเมือง ปัญหาความขัดแย้ง คิดว่าจะดึงใจคนได้นั้น คนที่เป็นแฟนเก่าผมว่าอาจจะดึงได้ แต่แฟนใหม่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะดึงได้ไหม แสดงว่านายกฯเองก็ยังไม่ยอมรับระบบรัฐสภาอย่างเต็มที่ คือยอมรับให้เป็นระบอบที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล ของนายกฯเอง

การพูดทำให้เราเห็นว่าผู้นำที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง แต่มาจากอาชีพที่กันตรงข้ามนักการเมือง คือนักการทหาร อย่างดีที่สุด การที่เขาใกล้ชิดระบบรัฐสภาก็คือการเอารัฐสภามาเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่มีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งระบบประชาธิปไตยคือระบบดุลอำนาจ แต่กลับบอกว่าประชาธิปไตยของไทยคืออำนาจรวมศูนย์อยู่ในมือผู้นำคนเดียว ไม่ต้องมาแบ่งอำนาจ หรือมาคานกัน จะพูดก็พูดไป ถ้าผิดก็ถูกฟ้อง ถ้าไม่ผิดก็แล้วไป ทำให้ได้รู้ว่าลำดับขั้นของประชาธิปไตยไทยยังต้องเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน นี่คือแนวคิดตั้งแต่มีการปฏิรูป ก็ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยเป็นของคนอื่น” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศกล่าว

อ่าน อาจารย์ ‘ตัดเกรด’ 4 ปีสภายุค ‘ปฏิรูป’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image