ลุ้นระทึกถก‘พรก.อุ้มหาย’ ‘ไม่ผ่าน-ไม่ครบองค์’เขย่ารบ.‘ตู่’

ลุ้นระทึกถก‘พรก.อุ้มหาย’ ‘ไม่ผ่าน-ไม่ครบองค์’เขย่ารบ.‘ตู่’

ลุ้นระทึกถก‘พรก.อุ้มหาย’
‘ไม่ผ่าน-ไม่ครบองค์’เขย่ารบ.‘ตู่’

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 บังคับใช้กฎหมายแล้วแต่มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม จะยกเว้นการบังคับใช้ในมาตราที่ 22-25 จะต้องเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรนัดสุดท้ายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ตอนนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ได้มีการบังคับใช้กฎหมายแล้ว แต่มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม จะยกเว้นการบังคับใช้ในมาตราที่ 22-25 จะต้องเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ หากไม่สามารถพิจารณาได้ อย่างเช่นว่าองค์ประชุมไม่ครบ ก็จะเป็นผลให้ต้องบังคับใช้กฎหมายอุ้มหายอย่างเต็มรูปแบบ เพราะไม่มีบทบัญญัติจะยกเว้นให้กับหน่วยงานรัฐในการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องมือต่างๆ ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรัฐบาล คือหน่วยงานรัฐจะต้องการตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ทั้งในการเตรียม
เครื่องมือ การเตรียมความเข้าใจ แนวปฏิบัติให้ความรู้กับบุคลากรในองค์กร และกระบวนการขั้นตอนในการที่จะดำเนินการ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะการจับกุมบุคคลต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐต้องทำให้ทันในกรณีออกกฎหมายยกเว้นไม่ทัน หากจะเสนอร่างกฎหมายอื่นๆ ก็ต้องรอสภาผู้แทนราษฎรชุดหน้า การที่จะมีองค์ประชุมไม่ครบก็อาจจะเป็นเรื่องของการเมืองได้ เป็นไปได้ว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ฝ่ายค้านจะใช้โอกาสนี้ในการถล่มรัฐบาลและจะได้เห็นเกมการเมืองตรง นี้ เพราะก่อนหน้านี้มีเกมการเมืองในเรื่องสภาผู้แทนราษฎรล่มเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในเวลานั้นจะเป็นประเด็นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แต่วันนี้จะกลายเป็นเกมของฝ่ายค้านกับรัฐบาลแล้ว เพราะกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร

Advertisement

เมื่อพูดถึงเรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหายนั้น คนก็จะนึกถึงเรื่องของการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลเป็นหลัก เพราะฉะนั้นรัฐบาลคงปฏิเสธความเกี่ยวข้องตรงนี้ไม่ได้ แต่คิดว่าน่าจะเป็นปัญหาจากเรื่องกฎหมายฉบับนี้ค้างการพิจารณาอยู่ยาวนาน เป็นประเด็นถูกพูดถึงในระยะหลังมากขึ้น และเมื่อมีการออก พ.ร.ก.เพื่อจะยกเว้นบางมาตรา จึงไม่ทันกับอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ส่งผลกระทบแน่ เพราะประเด็นเหล่านี้ก็จะถูกยิบยกมาพูดถึงในการเลือกตั้ง จริงๆ คิดว่าไม่ควรมีการยกเว้นใดๆ แล้วสำหรับกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายพิทักษ์เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องทำให้หลักนิติธรรมได้รับการเคารพในสังคมไทยมากขึ้น เพราะฉะนั้นการจะไปยกเว้นหน่วยงานรัฐอะไรต่างๆ ก็จะมีสภาพคล้ายๆ กับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่มีการออกข้อกำหนดเลื่อนการบังคับใช้มาถึง 2-3 ปี กว่าจะได้บังคับใช้จริงเมื่อปีที่แล้ว

เพราะฉะนั้นอย่าให้ซ้ำรอยแบบนั้น กฎหมายที่เป็นการพิทักษ์รักษาสิทธิประชาชนหรือเป็นการส่งเสริมหลักนิติธรรมก็ควรจะต้องให้หน่วยงานรัฐเร่งปฏิบัติตามให้ทันมากกว่า ไม่ใช่เป็นการจะไปเอื้ออำนวยต่อหน่วยงานรัฐในการยกเว้น เพราะยังไม่มีความพร้อม

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

ในความเห็นร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หากมองหลักการกว้างๆ ถือว่ากฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญอย่างมาก ควรจะมีการพิจารณาให้ด่วนและเร็วที่สุด เพราะว่าขบวนการอุ้มหาย หรือการนำตัวผู้ต้องหาไปประทุษร้ายเกิดขึ้นหลายครั้งในประเทศไทย ที่สำคัญบุคคลถูกอุ้มหายส่วนใหญ่จะทำงานเกี่ยวกับด้านสาธารณะ ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นที่พึ่งที่หวังได้มากกว่าข้าราชการ และกลไกของรัฐ แต่รัฐบาลไทยที่ผ่านมาละเลยในจุดนี้มาก เหมือนมีอะไรหรือวาระซ่อนเร้นอยู่ ทำให้มองว่าการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว รัฐบาลไม่สนใจถือว่าไม่โอเค และยังใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขทางการเมือง หรือประวิงเวลาในการออกกฎหมาย ทำให้เกิดขบวนการอุ้มหายแกนนำ หรือประชาชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชน ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนและเป็นเรื่องประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานของประชาชน หากรัฐบาลละเลยในเรื่องนี้เท่ากับรัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นและไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเกี่ยวพันกับด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

หากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ได้มีการนำกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสภาและสภาล่ม เรื่องนี้มองว่ารัฐบาลจะอ้างว่าเอาเข้าแล้ว แต่ขบวนการทางสภาล่ม ฝ่ายนิติบัญญัติไม่รับผิดชอบ อ้างได้ในมุมนี้ แต่หากคำนึงในเรื่องหลักการและถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญ จะปกป้องคุ้มครองคนไทย รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชน
คนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นเปราะบาง มีโอกาสจะโดนอุ้มหายสูง เรื่องนี้สภาต้องตระหนัก และต้องผลักดันให้ออกเป็นกฎหมายให้ได้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศไทย รัฐบาลไทย เคารพในหลักการตามสิทธิมนุษยชนที่หลายประเทศให้ความสำคัญ

หากไม่ผ่านสภา เชื่อว่าฝ่ายค้านจะต้องนำไปโจมตีในช่วงหาเสียงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2566 อย่างแน่นอน ถือว่าเป็นเรื่องหาเสียงชั้นดี และหาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทำให้สภาล่ม เชื่อว่าจะถูกโจมตีอย่างหนัก พรรครัฐบาลไม่ให้ความจริงใจกับกฎหมายอุ้มหาย จะคุ้มครองประชาชนเข้ามามีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาส หรือขาดความรู้จะต่อสู้กับผู้มีอำนาจในสังคม

หากมีการอ้างว่าในเบื้องต้นมีกฎหมายอาญารองรับอยู่แล้ว ในเรื่องนี้มองว่ากระบวนการทางกฎหมายอาญาใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ และเป็นกฎหมายกว้าง แต่ พ.ร.บ.อุ้มหาย เป็นกฎหมายเฉพาะ การดำเนินการจะต้องเตรียม
หลักฐานให้พร้อมในการที่จะจับกุมผู้กระทำความผิด รวมทั้งจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานอีกด้วย จะทำให้เกิดความรวดเร็วและบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น และรัดกุมมากยิ่งขึ้น สามารถดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในฐานะนักวิชาการมองว่า พ.ร.บ.อุ้มหาย หากมองในแง่สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เรื่องนี้คิดว่ามีความสำคัญมาก และอยากให้กฎหมายนี้ผ่าน เพื่อคุ้มครองนักเคลื่อนไหวที่ทำงานให้กับประชาชนให้อยู่รอดปลอดภัย

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

รากที่มีมาจากภาพการอุ้มบุคคลสูญหายนับเนื่องแต่ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ทนง โพธิ์อ่าน อิหม่ามยะผา กาเซ็ง สมชาย นีละไพจิตร ถึง บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ และเด่น คำแหล้ หรือภาพการเอาถุงคลุมหัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว กรณีผู้กำกับโจ้ ล้วนเป็นภาพจำที่โหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บุคคลเหล่านี้มักอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลต่อภาพรวมของสังคมไทยที่มีความล้าหลังอยู่มากในแง่สิทธิมนุษยชนและความเห็นอกเห็นใจต่อกันในฐานะเพื่อนมนุษย์

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ถูกประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 25 ตุลาคม 2565 แต่ก็ยังไม่มีผลบังคับ เพราะกฎหมายให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันนับแต่วันประกาศ กฎหมายจึงมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นี่คือวิบากกรรมและถูกบังคับอุ้มหายในช่วงแรก ทั้งที่ควรบังคับใช้ให้เร็วที่สุด เพราะเป็นกฎหมายขยายพรมแดนให้การปกครองเกิดจากกฎหมาย มากกว่าตัวบุคคลถูกกำกับโดยสัญชาตญาณ ดังนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 จึงถูกบัญญัติขึ้นให้เจ้าหน้าที่กระทำการบนพื้นฐานอันจำกัดแคบในอำนาจ และเขียนพรมแดนแห่งอำนาจให้ชัดขึ้น เพื่อปกป้องเหยื่อหรือผู้เสียหาย และ/หรือปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของเจ้าหน้าที่ ในสายตาของกฎหมายฉบับนี้เจ้าหน้าที่คือโจรภายใต้ชุดสีกากี มีทั้งอำนาจ มีอาวุธ มีกำลังคน ในขณะโจรทั่วไปไม่มีสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้โจรในเครื่องแบบน่ากลัวกว่าโจรทั่วไป

การอุ้มหายมักเกิดขึ้นตั้งแต่การเข้าไปชาร์จตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จากนั้นก็พาไปที่อื่นซึ่งไม่ใช่สถานที่ที่กฎหมายกำหนด และถูกบังคับสูญหาย หรือถูกซ้อมทรมาน กฎหมายจึงกำหนดในมาตรา 22 ว่าเพื่อพิสูจน์ความจริงว่าการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐชอบด้วยกฎหมาย จึงให้มีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การจับกุม ควบคุมส่งถึงพนักงานสอบสวน 2 มาตรานี้ถือว่าเป็นพระเอกของกฎหมายฉบับนี้ เพราะทั้งเจ้าหน้าที่หรือรถจะต้องมีกล้องบันทึกการทำงานไว้ตลอด และห้ามกล้องเสีย เพราะมาตรา 23 กำหนดให้ผู้ควบคุมรับผิดชอบบันทึก และผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ญาติ หรือทนายมีสิทธิขอดูกล้องหรือข้อมูลการควบคุมตัวได้

แต่ ผบ.ตร.กลับแจ้งว่าไม่มีกล้อง ไม่มีระบบคลาวด์ ต้องฝึกฝนเจ้าหน้าที่ ทั้งที่การผ่านกฎหมายมาแต่ละขั้นตอนก็ควรเป็นที่รับรู้ของ ผบ.ตร. หรือของรัฐบาลมาตลอด กฎหมายฉบับนี้จึงถูกบังคับอุ้มหายโดยรัฐบาลในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมัดมือมัดเท้าออก พ.ร.ก. ชะลอการบังคับใช้ออกไป 120 วัน จึงเท่ากับว่ากฎหมายฉบับนี้จะพ้นจากการถูกดองในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยการออก พ.ร.ก. จะต้องนำกฎหมายเข้าสภาเพื่อขอความเห็นชอบในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.10 น. วันและเวลามีนัยสำคัญมากเพราะเป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันสุดท้าย แต่ยังไม่ปิดสมัยประชุม ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณากฎหมายในทันที ทำให้ไม่สามารถปิดสมัยประชุมได้ ผลจึงทำให้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ต้องประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้

และน่าเชื่อว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นี้สภาจะล่มอีก แน่นอนว่าการที่เราจะเชื่ออะไรสักอย่าง สิ่งนั้นจะต้องเกิดซ้ำมากพอจะทำให้ความสงสัยเติบโตเป็นความเชื่อได้ จึงเป็นไปได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกอุ้มหายไปด้วยฝีมือของรัฐสภาไทยอีก ข้ออ้างสารพัดจะบรรยาย ไม่ว่าจะอ้างว่าลงพื้นที่ หรือเกมของฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล หรือเจตนาสร้างความปั่นป่วนจากรัฐบาลส่งกฎหมายเข้ามาในวินาทีและวันสุดท้าย ทางแก้ก็คือต้องนัดประชุมวิสามัญหลังปิดสมัยประชุมก่อนการยุบสภา แต่การประชุมสมัยวิสามัญก็ไม่ใช่ง่าย เพราะข้ออ้างจะยิ่งเข้มข้นด้วยเหตุใกล้วันยุบสภา และมีการปิดสมัยประชุมไปแล้ว

จึงเป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะฝ่ายรัฐบาลผู้คุมเสียงข้างมาก จะต้องลบภาพเจตนาอุ้มหายกฎหมายฉบับนี้ และการทำงานแบบชุ่ยๆ ส่งกฎหมายมาในเสี้ยววินาทีสุดท้ายก่อนอ่านพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image