‘ไทยสร้างไทย’ หนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ศิธา ขยี้ ปม ‘กระแส กระสุน บ้านใหญ่’

‘ไทยสร้างไทย’ หนุน เลือกตั้งท้องถิ่น ดัน ปชช.มีส่วนร่วมบริหารชุมชน

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 เวทีแรกของแคมเปญ “มติชน: เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” ซึ่งจัดที่โรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) ภายใต้หัวข้อ “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ที่มีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย

โดยในประเด็น ‘การกระจายอำนาจ’ ต่อคำถามที่ว่า คิดอย่างไรที่ประเทศไทยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด จากการแต่งตั้ง นอกจากนี้ยังมีอบต. เทศบาลและอบจ. และจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีผู้ว่าฯจากการเลือกตั้ง

น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า แน่นอนว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกระจายอำนาจ การให้แต่ละชุมชนแต่ละท้องถิ่นได้รู้จักการปกครองและพัฒนาตนเองในแต่ละชุมชน ในรูปแบบของประเทศไทยที่ผ่านมาเรามีการจัดกระทรวง ทบวง กรม และงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง ปัจจุบันมีการพยายามที่จะกระจายงบประมาณลงไปยังท้องถิ่นรวมถึงการเลือกตัวบุคคลเข้ามาบริหารท้องถิ่นหรือปกครองท้องถิ่น เพราะฉะนั้นในการที่เราจะเปลี่ยนจากการเป็นประชาธิปไตยแบบเดิมๆกลับมาเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

Advertisement

“ผมมองว่าประเทศไทยเรามีจุดแข็งคือเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปรู้ในรายละเอียดได้และเราจะไปกำหนดงบประมาณของเราเองหรือบอกว่าจังหวัดนี้ต้องไปทำอะไรแบบนี้โอกาสในการพัฒนาเราจะไปได้ช้ากับการใช้งบประมาณให้ตรงจุดและตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชน ซึ่งพี่น้องในท้องถิ่นจะทราบว่าจะเอางบประมาณไปทำอะไร

แต่ในรูปแบบของเมืองไทยในปัจจุบันเราอยากจะสร้างอะไรเราทำโดยไม่ได้ไปสอบถามหรือวิเคราะห์อย่างจริงจัง งบประมาณตรงนี้เราสูญเสียไปอาจจะเกินครึ่งของที่ควรจะเป็นและเราจะมาเจอกันตรงกลางอย่างไรที่จะได้คนที่เข้าใจในระบบราชการ รู้ว่าจะพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร และคนที่เป็นตัวแทนของประชาชนสามารถที่จะนำเสนอนโยบายและการใช้งบประมาณในภาคประชาชนได้ เรื่องการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกคนคิดเหมือนกันว่าต้องให้ท้องถิ่นเป็นคนเลือก แต่เมื่อเลือกแล้วเขาสามารถที่จะใช้อำนาจในการที่จะดูแลประชาชน และบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างไรนั้นยังเป็นปัญหาอยู่ว่าการบริหารงบประมาณยังรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง” น.ต.ศิธา กล่าว

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่า ในเรื่องของผู้ว่าราชการจังหวัด หลายคนบอกว่าควรจะมีการเลือกตั้งโดยตรงจากพี่น้องประชาชน เราต้องมาดูขณะนี้ในการปกครองระดับจังหวัดเรามีอะไรบ้าง มีนายกอบจ.ซึ่งมาจากประชาชนเลือกตั้ง เรามีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งกระทรวงมหาดไทยส่งเข้ามา ซึ่งทั้งสองส่วนต้องมาคุยกันว่าเราสมดุลกันดีหรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนและเป็นการเลือกตั้งซ้อนเลือกตั้ง ถ้าจะเลือกตั้งอย่างเดียวต้องเลือกไปเลย ไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือจะเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.แล้วใช้คำว่าผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้และผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน ที่สำคัญคืองบประมาณจากส่วนกลางซึ่งประชาชนไทยมีความรู้สึกที่อาจไม่ค่อยดีกับการบริหารงานจากส่วนกลาง

Advertisement

“เพราะฉะนั้นผมสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง พรรคไทยสร้างไทยสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ต้องกลับมาคุยกันว่าแล้วในกระบวนการเดิมซึ่งอาจจะต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านจากการบริหารจัดการรวมศูนย์จากกระทรวงมหาดไทยและกระจายไปเลย เราจะได้ตัวแทนที่เหมาะสมและมีคุณภาพกับประชาชนหรือเปล่า

เรายอมรับว่าตอนนี้ระบบการเลือกตั้งของไทยไม่ได้เหมือนต่างชาติ ประเทศไทยเราขึ้นอยู่กับ

1.กระแส คนนิยมในพรรคการเมืองไหน นโยบายไหน

2.กระสุน ใครนำเงินมาจ่ายมากก็ได้

3.บ้านใหญ่ ใครมีคอนเนกชั่นทางหัวคะแนนก็เอากระสุนไปใส่และลงไปตามช่องทาง เขาก็ชนะเลือกตั้งเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เราต้องมาพิจารณาว่าถ้าเราเลือกตั้งสมบูรณ์แบบแล้วเราได้คนที่ประชาชนต้องการจริงๆ หรือเราได้คนที่สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติจริงๆ เป็นตัวแทนประชาชนได้จริงๆ หรือว่าเราได้คนที่เขามีการจัดตั้งระบบหัวคะแนนและมีเงินมาสนับสนุน นักการเมืองที่ได้มาไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้” น.ต.ศิธา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image