ย้อนดู ‘หน้า 1’ มติชน รุ่งขึ้นหลัง ‘ยุบสภา’ พาดหัวปวศ. บนเส้นทางการเมืองไทย

ในที่สุดการประกาศ ‘ยุบสภา’ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มาถึงเมื่อจันทร์ที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2566 นับเป็นการยุบสภาครั้งที่ 15 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย  (อ่าน ย้อนชนวน ‘ยุบสภา’ 15 ครั้ง จากยุคพระยาพหลฯ ถึงรัฐบาลประยุทธ์)

เป็นข่าวใหญ่ที่ต้องถูกบันทึกไว้บน ‘หน้า 1’ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

ก่อนจะถึงพรุ่งนี้ ‘มติชนออนไลน์’ ชวนย้อนอ่านพาดหัวหน้า 1 หนังสือพิมพ์มติชน ที่ร่วมจดจารเหตุการณ์สำคัญของประเทศนับแต่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2521

ดังนั้น การยุบสภาครั้งแรกบนหน้า 1 มติชน คือ การยุบสภาในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นการยุบสภาครั้งที่ 5 ของไทย เมื่อ 19 มีนาคม 2526 โดยมีเหตุเนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างมีความเห็นแตกต่างกันไปหากให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการใหม่ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมือง รวมถึงความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ สังคม ความสามัคคีของคนในชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้

Advertisement

ยุบสภา 2526 : เปรมอ้อนประชาชนอีก ยุบสภาเพราะ ‘คุณขอมา’ 

มติชนพาดหัวหลัก หน้า 1 ฉบับจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2526 ถึงการยุบสภา 19 มีนาคม ว่า เปรมอ้อนประชาชนอีก ยุบสภาเพราะคุณขอมา ส่วนพาดหัวรอง ระบุว่า เปรมมีสาส์นถึงประชาชน อ้างยุบสภาเพื่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ และช่วยให้ชาวบ้านหายสับสน พิชัย รัตตกุล หารือคึกฤทธิ์วางแผนสู้ต่อ งงแผนยุบสภา ลึกลับ ไตรรงค์เผยรัฐบาลออกพระราชกำหนดแก้ไขการเลือกตั้งก่อนยุบสภา

Advertisement

ยุบสภา 2529 : ‘พรรคแตกเป็นเสี่ยง’ แฉกลางสภารมต.ทุ่มซื้อเสียง

หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ยังได้บันทึกเหตุการณ์ยุบสภาในรัฐบาลพลเอกเปรมอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์ นั่นคือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2529 เนื่องจากรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2529 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ลงมติไม่รับพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรค หากให้สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ทำหน้าที่ต่อไปอาจเกิดผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างรุนแรง และกระทบถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2529 พาดหัว พรรคการเมืองแตกแยก / 27 กรกฎาคมเลือกตั้งใหญ่ พร้อมข้อความตัวเบิ้ม ด่วน! เปรมยุบสภาแล้ว ถูกหักหลัง คว่ำ พ.ร.ก.

ต่อมา ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม 2529 พาดหัวหลัก อ้างเหตุยุบสภา พรรคแตกเป็นเสี่ยง เลือกตั้งใหญ่ 27 กรกฎา ส.ส.วิ่งหัวปั่น-หาเสียง! แฉกลางสภา รมต. ทุ่มซื้อเสียง

ยุบสภา 2531 : ยุบสภาบนทาง 2 แพร่งของ ‘เปรม’ 

ถัดมาเป็น การยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2531 เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาลอันส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน  และการพัฒนาประเทศ

มติชนพาดหัว ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ 24 ก.ค.นี้ ! คาดเงินสะพัดพันล้าน

หน้า 3 ยังมีสกู๊ป บนทาง 3 แพร่งของ ‘เปรม’ เหนือกว่าปรับครม.

ยุบสภา 2535 : คืนอำนาจปวงชน ชวนทุกคนไปเลือกตั้ง หลังวิกฤตพฤษภา

ต่อมา เป็นการยุบสภาครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2535 สืบเนื่องจากการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 โดยมีการเรียกร้องให้พลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งในขณะนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งและจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง รัฐบาลจึงได้ดำเนินการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

มติชน ฉบับวันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2535 หน้า 2 พาดหัว คืนอำนาจปวงชน ชวนทุกคนไปเลือกตั้ง อาทิตย์ 13 กันยา 08.00-15.00 น. เข้าคูหากาบัตร เปิดตัวขุนพลธุรกิจลุยเลือกตั้ง พร้อมด้วยข่าวพรรคพลังธรรมชูธง ดัน ‘จำลอง’ เป็นนายกฯ

ยุบสภา 2538 : ชวน เปิดทำเนียบแจงเหตุ

ต่อมา มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2538 ในยุคชวน หลีกภัย เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค  แต่ปรากฏว่าเกิดความแตกแยกในหลายพรรคการเมืองและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่สามารถจะดำเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ

ยุบสภา 2539 : บรรหาร หักดิบ สั่งยุบ

จากนั้นเพียง 1ปี เกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2539 ในยุค บรรหาร ศิลปอาชา ภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ.2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวบรรหาร เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งบรรหาร ศิลปอาชา ก็ประกาศผ่านสื่อว่าจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด

มติชน ไดคัท ภาพบรรหาร ศิลปอาชา เต็มตัว ขึ้นหน้า 1 พร้อมคำแถลงยุบสภา

ยุบสภา 2543 :  เศรษฐกิจเป็นเหตุ

สำหรับการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 มีเหตุมาจากสถานการณ์ทางการเมืองตอนปลายในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย โดยก่อนการยุบสภา ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจเกิดการหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี 2542 อันเนื่องมาจากการดำเนินงานตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ยุบสภา 2549 : ทักษิณ คืนอำนาจประชาชน 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 ภายหลังเกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แม้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลได้ สภาพดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภา

มติชน หน้า 1 พาดหัว ทักษิณ อ้างเหตุหวั่นจลาจล ยุบสภา พร้อมหน้าใน ตีพิมพ์แถลงการณ์ฉบับเต็มสำนักนายกฯ ยุบสภา-คืนอำนาจประชาชน

 

ยุบสภา 2554 : อภิสิทธิ์ อ้อนลา จวกการเมืองนอกรัฐธรรมนูญ 

เมื่อเกิดการยุบสภา 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ในอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หน้า 1 มติชน พาดหัวหลัก จวกการเมืองนอกรธน. มาร์คอ้อนลา ยุบสภาแล้ว-เลือกตั้ง 3 กค. สมัคร ส.ส.บัญชี 19-23 พ.ค. ยิ่งลักษณ์โอนหุ้นชิงนายกฯ

ยุบสภา 2556 : ยิ่งลักษณ์สั่งยุบ สุเทพขีดเส้น ตั้งนายกฯคนกลาง 

การยุบสภาครั้งล่าสุด ก่อนถึงยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมจากหลายภาคส่วนร่วมกันเดินขบวนกดดันเจ้าหน้าที่รัฐตามสถานที่ราชการต่างๆ คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กระทั่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภา

และนี่คือหน้า 1 หนังสือพิมพ์มติชรายวันในช่วงเวลาดังกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image