เปิดพงศาวดาร สร้าง ‘หลักเมือง’ บรรจุ ‘ดวงพระชาตา’ พระนครบนยอดเสา

20 มีนา ยุบสภาปั๊บ รุ่งขึ้น รุดสักการะศาลหลักเมืองปุ๊บ สำหรับหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ อย่าง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร พร้อมด้วย เศรษฐา ทวีสิน โดยให้เหตุผลว่า ‘วันนี้เป็นวันดี’ (อ่านข่าว เอาชัย! ‘อิ๊ง-เศรษฐา’ ไหว้ศาลหลักเมือง-วัดพระแก้ว หลังยุบสภายันใช้สิทธิแน่ อวยพร ‘บิ๊กตู่’ ให้สุขภาพแข็งแรง)

อันว่าความเป็นมาของศาลหลักเมืองกรุงเทพฯนั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ก่อนได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ให้เสถียรสถาพรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 

ข้อมูลจาก สำนักกิจการศาลหลักเมือง ระบุว่า ศาลหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2325 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม ต่อมา รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุด เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่

ศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ให้รายละเอียดว่า การสร้างเสาหลักเมืองต้นใหม่ เริ่มในพุทธศักราช 2395 ด้วยเสาไม้สักเป็นแกนภายใน ประกบด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่นกว้างแผ่นละ 8 นิ้วยอดเม็ดทรงมัณฑ์ เมื่อสอบวัดดูในปัจจุบัน ตัวเสาสูง 5.035 เมตร หรือ 201.5 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสาได้ 47 เซนติเมตร หรือ 18.8 นิ้ว อวบกว่าเสาหลักเมืองต้นเดิม

Advertisement
รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ประกอบพระราชพิธีจารึกดวงชะตาพระนครลงในแผ่นทองคำ ปรากฏความตาม พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ความตอนหนึ่งว่า 
‘หลักเมืองชำรุดทำขึ้นใหม่แล้วจะได้บันจุดวงพระชาตาเสียใหม่ ณ วันอาทิตย์เดือน 1 แรม 9 ค่ำ พระฤกษ์จะได้บรรจุดวงชาตาพระนครลงด้วยแผ่นทองคำหนัก 1 บาท แผ่กว้าง 5 นิ้ว จารึกในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรมสมเด็จพระปรมานุชิต กรมหมื่นบวรรังษี กับพระสงฆ์ราชาคณะอีก 3 รูป รวม 5 รูปเมื่อเวลาจารึกได้เจริญพระปริตร’

รายละเอียดของพระราชพิธีจารึกดวงชาตาพระนครลงในแผ่นทองคำปรากฏในเอกสารจดหมายพระราชพิธีบรรจุชาตาพระนคร ดังนี้

‘ข้าพระพุทธเจ้าพระยาโหราธิบดี ขุนโชตพรมมา ขุนเทพากร พร้อมกันขอพระราชทานคำนวณ พระฤกษ์ลงด้วยชะตาพระนครและพระราชพิธีบรรจุหลักทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย กำหนด ณ วัน 5 (วันอาทิตย์) 4 ค่ำชวด จัตวาศก เพลาเช้า 6 บาท

จะได้ลงดวงพระนครในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสงฆ์ 5 รูป กรมสมเด็จพระปรมานุชิต กรมหมื่นบวรรังษี เป็นประธาน ให้มีบายศรีตอง 5 ชั้นสำรับ 1 เทียนทอง 5 ธูปเงิน เครื่องกระยาบวช แป้งหอม น้ำมันหอม มีเครื่องนมัสการสำรับ 1 ให้ประโคมปี่พาทย์ กลองแขก ฆ้องชัย แตรสั่ง แล้วเจิมแป้ง ประมาณแผ่นทองหนัก 1 ตำลึงแผ่ 12 นิ้ว สี่เหลี่ยม มิให้มีแผล สนิทดี ลงสำเร็จแล้ว’

Advertisement

รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญแผ่นทองคำจารึกดวงชะตากรุงเทพมหานคร เข้าบรรจุที่ยอดเสาหลักเมืองและประกอบพิธีบวงสรวงเชิญพระหลักเมืองเข้าประดิษฐานในรูปเทวดาบนยอดหลักเมืองต้นใหม่จากนั้นจึงมีงานฉลองสมโภชเป็นการใหญ่

ต่อมา ใน พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหานครตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้มีความงดงามบริบูรณ์สมกับเป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง และให้เชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน

เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จสมบูรณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชพระหลักเมือง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2529

ภาพถ่ายเก่าศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ เมื่อครั้งยังมีรูปเทพารักษ์พระหลักเมืองติดอยู่
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image