ทีดีอาร์ไอ สแกน 87 นโยบาย 9 พรรค ชี้ถ้าทำจริงใช้งบสูงปรี๊ด 3 ล้านล้าน แนะประชาชนคำนึง 5 ข้อ

‘ธรรมศาสตร์’ จัดเสวนา ‘อ่านเกมเลือกตั้ง’ 66 นโยบายใครปัง ใครพัง’ วิทยากรเห็นพ้อง นโยบายพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงสร้างภาระงบประมาณชาติ หนีไม่พ้นต้องกู้เงินเพิ่ม กระทบการพัฒนาประเทศในระยะยาว แม้มีกลไกควบคุมการโฆษณาหาเสียง แต่บทลงโทษเบา- กกต.มีข้อจำกัด

เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาวิชาการเนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2566 หัวข้อ “อ่านเกมเลือกตั้ง’ 66 นโยบายใครปัง ใครพัง”  โดยมีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมาก

ในตอนหนึ่ง ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าทีมการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า TDRI ได้ทำการศึกษานโยบายของ 9 พรรค รวม 87 นโยบาย ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ. 2566 โดยพบว่าภาพรวมนโยบายครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ ธุรกิจ SME ตลอดจนการปฏิรูปกฎหมายและระเบียบต่างๆ พบว่าหลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็น ‘นโยบายระยะยาว’ กลับไม่ค่อยเห็นภาพความชัดเจนของงบประมาณเท่าใด โดยพบอีกว่าหากพรรคการเมืองมีการทำตามนโยบายที่หาเสียงจริงจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ที่สุดแล้วรัฐบาลเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม

ดร.กิรติพงศ์ กล่าวว่า ผลกระทบที่ตามมาจากการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มคือ ประเทศไทยจะมีงบลงทุนน้อยลง เพราะต้องเอาเงินไปใช้หนี้ สุดท้ายก็จะกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถในระยะยาว และอาจทำให้รัฐต้องหันไปใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (มาตรการกึ่งการคลัง) ซึ่งเงินเหล่านี้จะไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา และอาจเกิดเป็นคำถามถึงความโปร่งใส

Advertisement

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการเลือกตั้งรอบนี้มีนโยบายหาเสียงที่ใช้เงินมาก และมีนโยบายที่ตามหลักการแล้วจะไม่ก่อให้เกิดสิ่งที่ควรจะเป็นแก่เศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนควรคำนึงถึง ได้แก่

1. ต้องเป็นนโยบายที่ไม่สร้างภาระทางการคลังเกินตัว

2. ไม่มุ่งเน้นการใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (มาตรการกึ่งการคลัง)

Advertisement

3. ไม่ควรสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องต่อการสร้างวินัยการเงินในการชำระเงินกู้ เช่น การพักหนี้ หยุดหนี้ ยกเลิกเครดิตบูโร

4. ไม่มุ่งเน้นแต่การสนองความต้องการเฉพาะหน้าของประชาชน โดยไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหรือประสิทธิภาพ

5. สามารถระบุแนวทางที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง ทั้งแหล่งรายได้และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ดร.กิรติพงศ์กล่าว

สำหรับกลไกกลั่นกรองนโยบายพรรคการเมือง ดร.กิรติพงศ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 57 กำหนดเอาไว้ว่า พรรคการเมืองที่ประกาศโฆษณานโยบายที่ต้องใช้เงิน จะต้องนำเสนอข้อมูล 3 รายการต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แก่ 1.วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของวงเงิน 2. ความคุ้มค่าและประโยชน์ในกาคดำเนินนโยบาย 3. ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

“หากไม่ดำเนินการ กกต. มีเพียงอำนาจสั่งให้ทำให้ถูกต้อง แต่หากพรรคการเมืองฝ่าฝืนจะเสียค่าปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และอีก 1 หมื่นบาท ต่อวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง คำถามคือบทลงโทษเบาหรือไม่ และในความเป็นจริงแล้ว กกต. ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อประเมินความคุ้มค่าของทุน เพราะต้องใช้เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ระดับสูง ตรงนี้สะท้อนว่า กกต.มีข้อจำกัด

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เรามีหน่วยงานที่ชื่อว่าสำนักงบประมาณของรัฐสภา หรือ PBO ซึ่งมีภารกิจคือเป็นคู่คิดกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ทว่ากลับไม่ได้กำหนดภารกิจในการวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองไว้ ซึ่งแตกต่างกับในต่างประเทศ ที่ให้บทบาทและอำนาจแก่ PBO ในการดำเนินงานในลักษณะนี้” ดร.กิรติพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานเดียวกัน มีการมอบรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี 2566 ให้แก่ น.ส.จัตุพร นันตยุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลเรียนดีธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้แก่ นายปรัชญา ทองประดับ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อนุสรณ์ จี้พรรคแจงเอาตังค์จากไหนทำตามนโยบายที่หาเสียง ฟันธงต้องกู้เพิ่ม หวั่นหนี้พุ่งเกินเพดาน

‘สติธร’ เชื่อ เลือกตั้ง 66 คนกาพรรคจาก ‘อุดมการณ์’ ยัน ‘นโยบาย’ คือลำดับสุดท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image