13 ปี 10 เมษา 53 สลายชุมนุมเสื้อแดง กระสุนนัดแรก สังหารคนขับตุ๊กตุ๊กวัย 23 ปี

10 เมษายน 2553 วันนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว มีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้การบังคับบัญชาของ “ศอฉ.” หรือ “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ

จากจุดเริ่มต้นคือการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดง ที่เริ่มตั้งแต่ 12 มีนาคม จบลงในวันที่ 19 พฤษภาคมปีเดียวกัน ข้อเรียกร้องหลักคือ การเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา หลังจากดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2551

หลังชุมนุมราว 1 เดือน 10 เมษายน มีการสลายการชุมนุม โดยใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดที่มีการปะทะและเสียชีวิตจำนวนมากคือ ถนนดินสอและแยกคอกวัว
บ่ายวันนั้น กระสุนนัดแรกสังหาร นายเกรียงไกร คำน้อย คนขับตุ๊กตุ๊ก วัย 23 ปี ซึ่งถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่สะพานมัฆวานฯ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ต่อมามีการไต่สวนการตายพบว่า “กระสุนมาจากฝั่งทหาร”
ในช่วงค่ำปรากฏ “ชายชุดดำ” ยิงตอบโต้ทหาร ทำให้นายทหารเสียชีวิต 5 ราย ยอดรวมผู้เสียชีวิตในวันนั้นคือ ประชาชน 20 คน ทหาร 5 นาย (มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมภายหลังบางแหล่งระบุ 1 คน บางแหล่งระบุ 2 คน) หลังจากนั้นยังคงมีการชุมนุมต่อเนื่องไปอีกและการสลายการชุมนุมมีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-19 พ.ค. ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะแยกราชประสงค์ รวมแล้วมีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 70 ราย
เมื่อรวมความสูญเสียระหว่าง 10 เมษายน และ 13-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งสองเหตุการณ์ “ขอคืนพื้นที่-กระชับพื้นที่” มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน

ปกรายงานที่ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. ตีพิมพ์เมื่อปี 2555 ระบุข้อมูลว่า
• 3,000 คือกระสุนสำหรับการซุ่มยิงที่กองทัพเบิกไป (2,120 คือกระสุนที่ใช้ และ 880 คือกระสุนที่ส่งคืน)
• 117,923 คือจำนวนนัดของกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม
• 700,000,000 คืองบที่ตำรวจใช้กับกำลังพล 25,000 นาย
• 3,000,000,000 คืองบที่ทหารใช้กับกำลังพล 67,000 นาย
• 1,283 คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด
• 1,763 คือจำนวนคนที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี
• 94 คือจำนวนคนเสียชีวิต
• 88 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชาย
• 6 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้หญิง
• 10 คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นทหาร ในจำนวนนี้มีตำรวจ 3 นาย)
• 2 คือสื่อมวลชนที่เสียชีวิต (สัญชาติญี่ปุ่นและอิตาลี)
• 6 คืออาสากู้ชีพ/อาสาพยาบาลที่เสียชีวิต
• 32 คือผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ
• 12 คืออายุของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด
ปัจจุบัน ภาคประชาชนรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทุกปี โดยยังคงมีหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image