ส่องสมการรบ.ใหม่ 250ส.ว.ตัวแปร-ตัวป่วน?

ส่องสมการรบ.ใหม่ 250ส.ว.ตัวแปร-ตัวป่วน?

250 ส.ว.ตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรก ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้าย

เสียง 250 ส.ว. คือไพ่ในมือของฝ่าย 2 ป. ที่ผูกโยงกันมาตั้งแต่ คสช.เป็นคนแต่งตั้งอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ท้าชิงจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายอำนาจปัจจุบัน หรือ 2 ป. ก็จะต้องรวบรวมคะแนนเสียงในรัฐสภาให้ได้เกิน 376 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน

ดังนั้น พรรคฝ่ายประชาธิปไตย อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องชนะขาดแบบแลนด์สไลด์ มากกว่า 300 เสียง เพื่อกดดัน ส.ว.ไม่ให้ฝืนกระแสประชาชน

Advertisement

วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นว่า คีย์สำคัญของ ส.ว.จริงๆ คือหลังเลือกตั้ง สามารถกำหนดทิศทางในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ในกรณีแรก คือ หากพรรคที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายเสรีนิยม ในกลุ่มนี้เราอาจจะจับกลุ่มพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย หรือแม้แต่พรรคเสรีรวมไทย กลุ่มนี้ที่เคยเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเก่า หากไม่สามารถรวมตัวกันให้ครบ 250 เสียง โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะพรรคขนาดกลาง พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พร้อมที่จะปิดจ๊อบกับฝั่งที่เป็นรัฐบาลซึ่งก็อยู่ฝั่งเดียวกับ ส.ว.อยู่แล้ว

หลายคนบอกว่าต้องมีเสียงเกิน 375 เสียง จึงจะสามารถปิดสวิตช์ ส.ว.ได้ แต่ผมมองต่างกัน ไม่จำเป็นต้องถึง 375 เสียง ขอให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งก็สามารถกำหนดทิศทางในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะฝั่งที่เป็นพรรคกลางๆ อย่าง พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคชาติไทยพัฒนา ก็พร้อมหันกลับมาร่วมกับพรรคที่รวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว เพราะถ้า ส.ว.ยังดึงดัน หากฝืนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่สามารถทำงานได้ ถ้าดึงดันไปถึงจุดนั้นหมายถึงว่า ส.ว.กำลังพาประเทศไทยไปสู่ปัญหาความขัดแย้งชุดใหม่ รัฐบาลเสียงข้างน้อยถือเป็นเกมอันตรายของ ส.ว.

ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 375 เสียงเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ขอแค่สภาล่างได้เกิน 250 เสียง ก็เพียงพอแล้วที่ ส.ว.จะต้องพิจารณาบทบาทของตนเอง อย่าฝืนนำพาประเทศไปสู่ทางตัน ผมมองว่า ส.ว.ต้องหาทางลงในวาระที่เหลือ 1-2 ปี ให้ราบรื่นที่สุด ผมกลัวเกมที่อันตรายกว่านี้ คือ หากฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงข้างมากแล้ว แต่ ส.ว.อาจจะเล่นเกมไม่เข้าร่วมประชุมสภา ทำให้การประชุมสภาล่มจนไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ถ้าสมมุติเกิดเหตุการณ์เป็นแบบนั้นจริงๆ ผมคิดว่าประเทศไทยต้องกลับเข้ามาสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ที่เราจะต้องกลับมาลงถนนกัน ต้องมาตีกันอีกครั้งหนึ่ง วีระมองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Advertisement

ด้าน เศวต เวียนทอง อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ฝ่ายประชาธิปไตย ตัวแปรสำคัญ คือ พรรคเพื่อไทย แม้กระแสความนิยมพรรคก้าวไกล จากเยาวชนและคนรุ่นใหม่สูงขึ้น ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงต่างจังหวัดเหนียวแน่น แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ประกาศจุดยืน ไม่เอา 2 ป. เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาชนที่ยังไม่ได้เลือกพรรคไหน 30% เกิดความไม่มั่นใจ ลังเล สับสน ประกอบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศขอกลับประเทศมาเลี้ยงหลาน ทำให้พรรคเพื่อไทยถูกกระแสตีกลับ อาจส่งผลให้ฝ่ายอนุรักษนิยมได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นได้

ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยต้องการปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน ไม่ให้มีอิทธิพลแทรกแซงเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องได้คะแนนเสียงรวมกัน 375 เสียงขึ้นไป เพื่อคานอำนาจดังกล่าว ก่อนนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่การแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตย อาจารย์เศวตสรุป

ขณะที่ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า ส.ว.ยังคงเป็นตัวแปรที่สำคัญมาก หากฝ่ายประชาธิปไตยชนะไม่ขาดลอย

ถ้าฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยยังรวมเสียงกันได้ในระดับหนึ่ง ก็อาจจะไปรวมกับ ส.ว. 250 สมมุติได้ ส.ส. 150 เสียง รวมกับ ส.ว.อีก 250 ก็ได้ 400 เสียงแล้ว แน่นอนว่ามีการเตรียมแผนการเอาไว้

การเลือกตั้งคราวที่แล้ว จากหลักการที่บอกว่าถ้าพรรคไหนได้เสียงมากสุด ก็จะเป็นแกนนำรวบรวมคะแนนมาตั้งรัฐบาล มันถูกล้มล้างไปในการเลือกตั้งปี 2562 ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยได้คะแนนมากที่สุด อีกฝั่งก็อ้างว่าได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตมากกว่า ถึงแม้คะแนนเสียง ส.ส.จะได้น้อยกว่า พรรคพลังประชารัฐก็รวมกับพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ เกิดการแข่งขันเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พอโหวตกันในสภา ก็สู้เขาไม่ได้ เพราะ ส.ว.เอาด้วย

คนก็กลัวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเหมือนครั้งที่แล้ว คือ สุดท้ายพรรคที่ได้เสียงข้างมากมีโอกาสไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยชนะไม่ขาด แถมยังขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ ผมว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีก ยิ่งถ้าคะแนนรวมกันแล้วมากกว่าอีกฝั่งไม่มาก เช่น ได้ 270 หรือไม่ถึง 300 แล้วอีกฝ่ายได้เกือบ 200 เสียงเหมือนกัน ก็จะอ้างได้อีก หรืออาจจะเอาเงินซื้องูเห่าไปรวม มีโอกาสแน่นอนเพราะมีเงินเยอะมาก หรือใช้วิธีบีบทุกทาง ใครมีคดี ก็บอกว่ามารวมกับเขาดีกว่าแล้วจะช่วย คราวที่แล้วพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทยก็โดนดึงไปเยอะ เป็นจังหวัดเลยก็มี

พูดตรงๆ ส.ว. 250 คนนี้ คือคนของฝ่ายอำนาจนิยมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคลุงตู่หรือลุงป้อมเสนอเข้าไป เขาก็พร้อมที่จะลงคะแนนให้อยู่แล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่ง 2 พรรคนี้ดูเหมือนจะแข่งกัน แต่พอถึงเวลาจริงๆ ถ้าเสียงรวมกันแล้วจัดตั้งรัฐบาลได้ เขาก็รวมกัน ไม่มีปัญหา เป็นพี่เป็นน้องกัน

ผมเชื่อว่า ส.ว.ไม่แตกแถว เป็นฝ่ายที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงแข็งแกร่งกว่าใครเพื่อน ในการไม่เอาฝ่ายประชาธิปไตย ยิ่งกว่า ส.ส.ด้วยกันเองเสียอีก หลอมรวมเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ทำลายป้อมนี้ได้ยากมาก มีอย่างเดียวคือต้องปิดสวิตช์ให้ได้ ซึ่งทำไม่ได้ช่วงที่มีการชุมนุมของเยาวชน ตอนนั้นทำท่าเหมือนจะยอมปิดสวิตช์ตัวเอง แต่พอเห็นว่าทำอะไรเขาไม่ได้ ก็เปลี่ยนท่าทีหมด

ส.ว.ที่พูดว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ผมว่าคนพวกนี้เชื่อไม่ได้ พอถึงเวลาเข้าจริงๆ ก็ทำตามคำสั่งทั้งนั้น ผมรู้จักเขาดี โดยเฉพาะ ส.ว.ที่เคยเป็น ส.ว.ด้วยกันสมัย ส.ว.ยังผ่านการเลือกตั้ง สายที่คล้ายๆ ว่าเป็นประชาธิปไตย ไปผสมอยู่กับเขาตอนนี้ ไม่จริงหรอก ถ้าคนที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยจริง คงไม่ยอมเอาตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว.เพื่อไปยกมือ อาจารย์พนัสอ่านเกมการจัดตั้งรัฐบาลที่จะได้เห็นอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ต้องจับตาหลังวันที่ 14 พ.ค. สมการการเมืองที่มี 250 ส.ว.เป็นตัวแปรหรือตัวป่วน จะนำประเทศก้าวไปข้างหน้าหรือทิศทางใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image