นักวิชาการชมโพล “มติชนxเดลินิวส์” ผลสำรวจแม่น ก้าวไกลปลื้มโพลตรงผลลัพธ์

นักวิชาการชมโพล “มติชนxเดลินิวส์” ผลสำรวจแม่น ก้าวไกลปลื้มโพลตรงผลลัพธ์

สืบเนื่องจากกรณีการสำรวจโพลครั้งสำคัญ ความร่วมมือระหว่างสองสื่อใหญ่ “มติชน x เดลินิวส์ โพลเลือกตั้ง’66” จำนวนสองรอบผ่านช่องทางออนไลน์ของสื่อเครือมติชน อันประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี และสื่อเครือเดลินิวส์ โดยโพลทั้งสองรอบมีผู้ร่วมโหวตมากกว่า 1.5 แสนราย ผลลัพธ์ที่ออกมากลายเป็นปรากฏการณ์ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เพราะสวนกระแสโพลอื่นๆ หลังจากผลออกมาว่าคะแนนนิยมตัวนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รวมถึงพรรคก้าวไกล ขึ้นนำอันดับหนึ่ง ซึ่งในที่สุดพบว่าสอดคล้องกับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจริง (อ่านข่าว วิเคราะห์โพลเลือกตั้ง “มติชนxเดลินิวส์” ครั้งที่ 2 คาด “ก้าวไกล+เพื่อไทย” ได้ “แลนด์สไลด์”)

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ถ้ามองโพลเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้สึกและบรรยากาศการเลือกตั้ง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะจุดประสงค์ของการทำโพลไม่ใช่เพื่อคาดเดาหรือคล้ายกับการเล่นพนัน จุดประสงค์ของโพลไม่ควรเป็นไปเพื่อการตัดสินผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง โพลแสดงให้เห็นกระแสของความเปลี่ยนแปลงหรือกระแสความนิยมของประชาชนต่อผู้สมัคร

“การทำโพลมติชน x เดลินิวส์ เป็นการทำโพลแบบออร์แกนิค หมายความว่าผู้ที่ตอบแบบสำรวจมีความสนใจและมีความกระตือรือร้นที่จะลงมือทำโพลด้วยตนเอง หมายความว่าเขามีเจตจำนงที่จะแสดงความรู้สึก ความนิยมส่วนตัวของเขาออกมาเพื่อให้ผลของโพลสะท้อนความรู้สึกของผู้ตอบแบบสอบถาม” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

Advertisement

เชื่อไม่มีระดมคนมาโหวต

ผศ.อัครพงษ์อธิบายต่อว่า โพลมติชน x เดลินิวส์ จึงเป็นเครื่องมือในการวัดกระแสความนิยมของประชาชน ไม่สามารถวัดผลการเลือกตั้งได้ แต่บังเอิญว่าในกระแสยุคของโลก Information technology หรือโลกออนไลน์ ทำให้ผู้คนเข้าถึงการตอบแบบสอบถามได้ง่าย และสามารถทำได้ภายในเวลาอันสั้น

“ซึ่งถ้ามีคำถามว่ามีการระดมคนมาโหวตไหม ก็ต้องตอบว่าในการโหวตครั้งที่ 1 มี 84,000 ตัวอย่าง ถ้ามีการระดมคนมาโหวตมันต้องมากกว่า 84,000 คน เพราะว่าครั้งแรกพิธานำ พรรคอื่นๆ เห็นว่าพิธานำ ทำไมไม่รู้สึกว่าตัวเองจะต้องมาทำให้มันมากกว่า แม้แต่คนที่นิยมชมชอบคุณพิธา ทำไมไม่ระดมกันมาให้มากกว่านี้ ทำไมรอบ 2 ได้แค่ 78,000 คน ถ้า 84,000 เป็น 120,000 หรือ 200,000 อันนี้ผลโพลจะต้องถูกตั้งข้อสงสัย ว่ามีกระบวนการจัดตั้งระดมคนมาทำโพลหรือไม่” ผศ.อัครพงษ์แจง

Advertisement

ผศ.อัครพงษ์แจงต่ออีกว่า ผลโพลครั้งที่ 2 เหลือเพียงแค่ 78,000 คน สามารถลดความกังวลในข้อสงสัยว่าจะมีการระดมคนมาโหวต หรือแม้กระทั่งถ้ามีการระดมคนมาโหวตจริง การอ่านผลของทีมผู้ทำโพลก็ได้ตัดการซ้ำของการโหวตออกไปบวกลบ 12-13% แล้ว

เผยจุดแข็งผลสำรวจมี3ข้อ
“โพลมติชน x เดลินิวส์ มันสะท้อนกระแสของผู้คน ซึ่งให้ความนิยมชมชอบในตัวบุคคลและพรรคการเมือง แต่อาจจะไม่สะท้อนจำนวนเขตเลือกตั้ง แต่โพลที่เกิดขึ้นมันก็สร้างบรรยากาศให้ผู้คนรู้สึกว่าประเทศต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการผู้นำแบบใหม่ หรือผู้นำที่ไม่ใช่พรรคการเมืองรัฐบาลเดิม

“ซึ่งโพลมีข้อผิดพลาดและต้องนำไปแก้ไขตรงที่ หากมีการสำรวจในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องปรับปรุงให้สามารถดูรายเขตได้ หมายความว่าเขาต้องรู้ว่าเขาอยู่เขตไหน แล้วเขาก็ตอบผลโพลตามรายเขตนั้น ไม่ใช่รายจังหวัดอีกแล้ว” ผศ.อัครพงษ์แนะ

ผศ.อัครพงษ์กล่าวเพิ่มอีกว่า จุดแข็งโพล
มติชน x เดลินิวส์ มี 3 จุด 1.เข้าถึงง่าย มีคนตอบหลากหลาย และมีคนมีชื่อเสียงเข้ามาร่วมดำเนินการ 2.เป็นการแสดงเจตจำนงของสื่อมวลชนที่จะสร้างบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 3.เป็นการส่งสัญญาณให้พรรคการเมือง ให้ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและรับมือกับ Digital Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเทคโนโลยี

แนะปรับปรุงอีก3ข้อ
ผศ.อัครพงษ์แนะว่า ข้อที่ควรปรับปรุงมี 3 ข้อ 1.โพลสะท้อนเพียงความนิยมของพรรคการเมืองและตัวบุคคล ซึ่งสามารถแปลงเป็นตัวเลขของปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้น หากไปดูตัวเลขปาร์ตี้ลิสต์มันตรง 2.โพลไม่สามารถสะท้อนคะแนนของ ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ ในการทำงานครั้งต่อไปต้องเพิ่มรายละเอียดว่า ท่านอยู่เขตไหน เลือกใคร ทำแบบเลือกตั้ง

“ข้อสุดท้ายโพลยังไม่สามารถสะท้อนกลุ่มตัวอย่างประชากรได้อย่างเหมาะสม เช่น โพลนี้มีผู้ชายมากเกินไป การสำรวจนี้ยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างได้หลากหลายเพียงพอ กลุ่มตัวอย่างที่มาตอบเป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ ผู้มีการศึกษาปริญญาตรี และเป็นผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชน ข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งเป็นผู้มีรายได้สูง” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

ขอบคุณสร้างสังคมอารยะ
ผศ.อัครพงษ์ทิ้งท้ายว่า ต้องขอบคุณมติชน x เดลินิวส์ ที่มีกุศลเจตนารมณ์อันดีที่จะช่วยกันสร้างสังคมอารยะ เพราะโพลจะสามารถลดกระสุนหรือการคอร์รัปชั่น การซื้อสิทธิขายเสียงได้ไม่มากก็น้อย

“อย่างน้อยก็สร้างความตระหนักให้ประชาชนและพรรคการเมือง ให้หันมาเล่นการเมืองสร้างสรรค์ เน้นนโยบาย ไม่ไปเน้นที่การลงทุนทางการเมืองแล้วมาถอนทุนกอบโกยเอาทีหลัง” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

โพลมิติใหม่ทำนายผลชัด
ด้าน รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ให้สัมภาษณ์ถึงผลการเลือกตั้ง’66 อย่างไม่เป็นทางการและผลโพลมติชน x เดลินิวส์ รอบที่ 2 ว่า โพลในรอบที่สองมีทิศทางที่ใกล้เคียงกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ความแตกต่างอาจมีอยู่บ้างแต่เราจะเห็นได้ว่าทิศทางของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) อยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เมื่อรวมกันจะเห็นว่าจะชนะค่อนข้างเด็ดขาด ในขณะที่พรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลจากโพลจะได้คะแนนน้อยและผลออกมาแบบนั้นจริงๆ ก็ถือว่าเป็นมิติอีกด้านหนึ่งของการทำโพลแบบออนไลน์และถือว่าเป็นวิธีการระดมผู้ที่ตัดสินใจที่จะเลือกใครอย่างชัดเจนมาก เพียงแต่อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในชนบทหรือภาคการเกษตรที่โพลนี้อาจจะมีข้อจำกัด แต่เราจะเห็นได้ว่าโพลนี้ค่อนข้างที่จะทำนายถึงผลการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯได้ชัด เราจะเห็นได้ว่าความนิยมของคนกรุงเทพฯกับการเลือกพรรคก้าวไกลมันชัดเจนถึงขั้นที่ว่าเป็นส้มเกือบทั้งกรุงเทพฯ

ชี้โพลมติชน-เดลินิวส์แม่น
ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับมติชนทีวี ถึงผลการนับคะแนนว่า เซอร์ไพรส์มาก แง่หนึ่งต้องให้เครดิตมติชน กลายเป็นว่าโพลมติชน-เดลินิวส์ แม่นสุด เพราะเป็นโพลเดียวที่ออกมาใกล้เคียงว่าเพื่อไทย ก้าวไกล สูสี กระทั่งก้าวไกลนำเพื่อไทยในปาร์ตี้ลิสต์ก็ไม่น่าเชื่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ที่มีคะแนนห่างกันน้อย การตั้งรัฐบาลร่วมกันจะเป็นปัญหาไหม ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าคะแนนมาอย่างนี้ ก้าวไกลจะไปจับกับใคร เพื่อไทยจะไปจับกับใคร เป็นไฟต์บังคับที่ 2 พรรคต้องจับกัน

“เราไม่เคยเจอมาก่อนในการเมืองไทย ภูมิทัศน์การเมืองไทยได้เปลี่ยนแล้ว การจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่ 1 กับพรรคที่ 2 มาตั้งร่วมกัน ปกติพรรคที่ 1 ไปจับพรรคเล็กพรรคน้อย พรรคที่ 2 ไปเป็นฝ่ายค้าน นี่กลายเป็นพรรคอันดับ 1 และ 2 จับด้วยกัน แปลกมากกว่านั้นคือ พรรคอันดับ 1 และ 2 อันดับไม่ห่างกันมาก จะแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันอย่างไร มันไม่ใช่สถานการณ์ที่เพื่อไทยจะกำหนดได้ทั้งหมดเหมือนเดิม ก้าวไกลก็ไม่ได้เช่นกัน ต้องแบ่งกันอย่างพอดีๆ” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

ชี้ฉีกตำรา-หักปากกาเซียน

ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวอีกว่า เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ฉีกทุกตำรา หักทุกปากกาเซียน ตำราทางการเมือง การวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ ต้องยกทิ้งไปหมด ตัวผลด้วย เราวิเคราะห์ไม่ตรงกับความเป็นจริง แสดงว่ามันมีอะไรบางอย่างที่นักวิเคราะห์ พลาดไป สื่อก็พลาด โพลก็พลาดไป ไม่มีโพลไหนแม่นยำ

“ทฤษฎีว่า ก้าวไกลเป็นพรรคของคนเมืองกับเจน Z ใช้ไม่ได้แล้ว ไม่งั้นไม่ชนะมาเยอะขนาดนี้ แสดงว่าไปได้เสียงคนเจนอื่นๆ มา เจนวาย เจนเอ็กซ์ และคนแก่ ที่คนแก่หันมาเลือกก้าวไกลมากขึ้น ผมไปลงพื้นที่อุบลฯ มีคนบอกแต่ผมไม่เชื่อ แต่ผลเลือกตั้งแบบนี้ เขาได้จริง แสดงว่าก้าวไกล ทะลุทะลวงออกนอกเขตเมืองแล้ว ถ้าไปดูหลายจังหวัด เขตรอบนอกก็ได้ ไม่ใช่แค่เขตเมือง เขตมหาวิทยาลัยก็ได้ ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยใช้ไม่ได้แล้ว ทฤษฎีสงครามระหว่างรุ่นก็ใช้ไม่ได้ เพราะก้าวไกลครองเสียงหลายรุ่น กลายเป็นพรรคใหญ่” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว และว่า การเมืองไทยเปลี่ยนอย่าง 360 องศา หลังจากนี้ มันสะท้อนว่าสังคมไทยมันเปลี่ยน ถ้าสังคมไทยไม่เปลี่ยน ก้าวไกลไม่ชนะขนาดนี้

เลือกตั้ง’66โพลออนไลน์แม่น
ด้านนายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัล มีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 บ่งชี้ว่าผลโพลเลือกตั้ง’66 ที่เครือมติชนและเครือเดลินิวส์ ร่วมกันจัดทำทั้งสองครั้งนั้นมีความน่าเชื่อถือได้ เพราะโพลของทั้งสองสื่อคือโพลการเมืองโพลแรกที่ระบุชัดว่า พรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีความนิยมสูงเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งคราวนี้
“แม้โพลมติชนxเดลินิวส์ จะเป็นโพลออนไลน์ ซึ่งไม่ได้ดำเนินการในลักษณะตามระเบียบวิธีวิจัยทางวิชาการแบบครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผลเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ช่วยยืนยันว่า วิธีการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนในรูปแบบนี้ก็มีความแม่นยำ และสามารถสะท้อนเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนออกมาได้จริงๆ” นายปราปต์กล่าว

ผู้มีอำนาจอย่าขวางเสียงปชช.
ผู้บริหารมติชนระบุว่า แม้โพล “มติชนxเดลินิวส์” จะมีกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ได้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียทีเดียว เช่น มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้มีรายได้สูง 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างเยอะ แต่ผลโพลก็ยังมีความสอดคล้องกับผลเลือกตั้งจริง ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าเจตจำนงทางการเมืองที่ประชาชนคนไทยมีร่วมกันนั้นเป็นกระแสที่ยิ่งใหญ่ไพศาล และตัดผ่านความแตกต่างของประชากรหลายๆ กลุ่ม ดังนั้น ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายในสังคมจึงไม่ควรต่อต้านขัดขืนเจตจำนงที่เข้มแข็งดังกล่าว

สื่อยินดีพื้นที่แสดงออกผู้อ่าน
นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งว่า ขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึง ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทุกคนทุกพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในครั้งนี้ ซึ่งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกลได้ 152 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยได้ 141 ที่นั่ง ถือว่าเป็นผลการเลือกตั้งจริงๆ ที่มีความใกล้เคียงกับการผลโพลเดลินิวส์xมติชน ที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ครั้ง ที่ระบุชัดเจนว่าคนจะเลือกพรรคก้าวไกล มาเป็นลำดับที่ 1 และเลือกพรรคเพื่อไทย มาเป็นลำดับที่ 2

“โพลของเรานั้นสำรวจความคิดเห็นผู้อ่านของเดลินิวส์และเครือมติชน ใน 2 ช่วงเวลาด้วยกัน มีผู้อ่านกว่า 1.5 แสนรายชื่อตอบแบบสำรวจ ผลโพลชี้ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกล จะชนะการเลือกตั้ง และเมื่อผลการเลือกตั้งจริงๆ ออกมาก็เป็นอย่างนั้น เราในฐานะสื่อมวลชนก็รู้สึกยินดีที่เป็นพื้นที่แสดงออก แสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้อ่านทุกเพศทุกวัยด้วย โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะธำรงความเป็นสื่อมวลชน เป็นสถาบันสื่อที่นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาแบบครบถ้วนรอบด้านต่อไป” นายปารเมศกล่าว

‘พิธา’ชื่นชมผลสำรวจแม่น
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กล่าวถึงโพลมติชนxเดลินิวส์ ที่ออกมาตรงกับผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลนำมาเป็นอันดับหนึ่งว่า สวัสดีเพื่อนๆ สื่อมวลชน และผู้อ่านของมติชนและเดลินิวส์ อยากจะขอขอบคุณสำหรับโพลที่ได้ทำไว้ ทั้งนี้ เมื่อทีมงานกองอำนวยการเลือกตั้งศึกษาของพรรคก้าวไกลศึกษาดูแล้วว่าผลการเลือกตั้งตรงกับผลโพลใดมากที่สุดก็พบว่า เป็นโพลของมติชนและเดลินิวส์ จึงขอแสดงความขอบคุณทุกคนที่ได้ร่วมทำโพลด้วยกัน ซึ่งกระบวนการหลักวิชาทำโพลและสถิติ ก็ถือว่าน่าสนใจมากว่าทำอย่างไรให้มติมหาชนกับตัวเลขโพลออกมาตรงกันให้มากที่สุดและแสดงความชื่นชมมา ณ ที่นี้ด้วย

‘โรม’ปลื้มผลโพลตรงผลลัพธ์
ที่พรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงโพลของมติชน-เดลินิวส์เป็นโพลเดียวที่ผลสำรวจทั้ง 2 ครั้ง ยกให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล ชนะทั้ง 2 ครั้ง ว่า โพลแสดงให้เห็นถึงกระแสที่มีความสูงมากของพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน จากผลการเลือกตั้งเมื่อวานก็สอดคล้องกับทิศทางของโพลที่ไปทางเดียวกัน แต่ผลของโพลไม่สามารถตรงได้หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรามักจะได้ยิน “คืนหมาหอน” และมักได้ยินว่า วันสองวันก่อนการเลือกตั้งจะยิงกระสุนกัน รวมไปถึงยิงกันในวันเลือกตั้งด้วยซ้ำไป แต่โดยภาพรวมก็ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ผมดีใจกับผลลัพธ์ที่ออกมา เราจะทำให้ดีที่สุดให้สมกับที่ประชาชนไว้วางใจเรามาทำงาน การขึ้นมาของพรรคก้าวไกลคือความเสียสละของประชาชนจำนวนมาก ในเรื่องของความสะดวกสบาย เสียเงินเสียทองในการออกไปใช้เสียง เป็นความเสียสละที่ทำให้พรรคก้าวไกลสามารถที่จะเอามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ขอขอบคุณประชาชนที่สนับสนุนพวกเรา” นายรังสิมันต์กล่าว

‘หมิว’ชี้โพลช่วยก้าวไกลชนะ
น.ส.สิริลภัส กองตระการ หรือหมิว ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 14 เขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์), เขตบางกะปิ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงโพลของมติชน-เดลินิวส์ว่า โพลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ก็ยังมีส่วนอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอย่างหนักของพรรคก้าวไกล ผู้สมัคร รวมไปถึงหัวคะแนนธรรมชาติของเรา และส่วนสำคัญคือประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง หากประชาชนไม่ได้อยากได้ความเปลี่ยนแปลง ก็คงไม่ร่วมทำโพล รวมไปถึงไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขนาดนี้

“ดิฉันมองว่าโพลเป็นเสียงสะท้อนของประชาชน เพราะผลโพลที่ออกมาก็ได้สำรวจประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ผลจาก AI หรือแต่งตัวเลขขึ้นมาเอง จึงเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจน ว่าประชาชนอยากออกแบบประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางไหน” น.ส.สิริลภัสกล่าว

20%ผลโพลช่วยปชช.ตัดสินใจ
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงโพลมติชน-เดลินิวส์ ว่า แม้จะเป็นการทำโพลผ่านช่องทางโซเชียล แต่ผู้ใช้งานโซเชียลมีตัวตนอยู่จริง ซึ่งเป็นฉันทามติของประชาชนจริงๆ ดังนั้น เราจึงมีความแม่นยำอยู่ในระดับหนึ่งเพราะผู้ใช้งานโซเชียลมีทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้ที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า ผลโพลมีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนเทคะแนนให้ก้าวไกลหรือไม่ น.ส.เบญจากล่าวว่า ผลโพลเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งในการชักชวนให้คนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีปัจจัยอื่นควบคู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวพรรคการเมือง นโยบายพรรคและคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พร้อมด้วยผู้สมัคร ส.ส.เขต อย่างไรก็ตาม ผลโพลเป็นปัจจัยหนึ่งประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้คนตัดสินใจเลือก

ชี้โพลดึงความรู้สึกในใจปชช.
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แต่ละสำนักจะมีหลักวิชาการในการทำโพล และในโพลแต่ละประเภทมักมีข้อจำกัดในการทำโพลที่แตกต่างกัน โดยการสำรวจอาจจะใช้โทรศัพท์ หรือการลงพื้นที่ไปสำรวจ ส่วนจะแม่นหรือไม่แม่นนั้น มาพูดตอนที่รู้ผลแล้ว ทั้งนี้ เราเชื่อมั่น เพราะจากการอ่านวิธีการทำโพลของมติชนและเดลินิวส์ประกอบด้วยหลักการทางวิชาการ โดยนำมาใช้พิจารณาได้

ส่วนจะมีผลกระตุ้นให้คนมาลงคะแนนให้ก้าวไกลหรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า ความจริงแล้ว ประชาชนค่อนข้างตื่นรู้มาก ถ้าหากผลโพลค้านกับใจของประชาชน ประชาชนก็ไม่ได้เชื่อ ดังนั้น ผลโพลเป็นเหมือนการดึงความรู้สึกในใจออกมาเท่านั้น แต่ถ้าตรงนั้นตรงกับหลักวิชาการก็มีผลอยู่บ้าง แต่หากผิดหลักวิชาการก็ไม่มีผลเลย อย่างไรก็ตาม ผลโพลมีลักษณะที่ทำในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่การตัดสินใจของประชาชนหลายครั้งมักตัดสินใจในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งโพลเก็บข้อมูลไม่ได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image