ปริญญา ชี้ ‘เอ็มโอยู’ สร้างบรรทัดฐานใหม่ เลคเชอร์ให้ ทำไม ส.ว. ‘งดออกเสียง’ จึงไม่ใช่ ‘งดออกเสียง’

‘ปริญญา’ เชื่อ MOU รัฐบาลผสมสร้างบรรทัดฐานใหม่ ชี้ ส.ว. ควรฟังมติประชาชน

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนจาก 9 มหาวิทยาลัย จัดแถลงผลการลงคะแนน ‘เสียงประชาชน’ และอภิปราย ‘ประชาธิปไตย การตั้งรัฐบาล และการเมืองหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566’

หลังจากเสร็จจากการแถลงผลการลงคะแนน’เสียงประชาชน’แล้ว ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงประเด็นของการทำ MOU ของพรรคร่วมรัฐบาลและนโยบายของพรรคก้าวไกล ว่า เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาการตั้งรัฐบาลผสมจะมีการเจรจาต่อรองกันเพียงแค่เรื่องของตำแหน่งและกระทรวง แต่ครั้งนี้จะเป็นมิติและเกิดเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการตั้งรัฐบาล

“ถ้าหากมีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่ง ที่หาเสียงไว้ก็มาทำได้เลย แต่พอไม่เกินครึ่งก็ต้อง ดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาล ทีนี้ปัญหาก็คือเมื่อมีพรรคอื่นมาร่วมด้วย นโยบายที่หาเสียงไว้ แตกต่างกันจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาไม่เคยมีการมาตกลงกันให้เป็นนโยบายรัฐบาล สิ่งที่ควรจะทำคือ ข้อที่เหมือนกันก็เป็นนโยบายรัฐบาลไปเลย ส่วนข้อที่ต่างก็ต้องเข้าหากัน พอเข้าหากัน ตกลงกันได้ว่าทำแค่ไหนก็กลายเป็นนโยบายรัฐบาลข้อต่อไป ส่วนเรื่องที่ต่างกัน แล้วยังตกลงกันไม่ได้ หรือยังไม่สามารถตกลงกันได้ก็ไปหารือกันต่อในสภา” ผศ.ดร. ปริญญา กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร. ปริญญา กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าในการตกลงกันของพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ก็ต้องใช้หลักการที่ว่าไป ซึ่งจะเป็นมิติใหม่และจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะว่าเท่าที่ผ่านมา พอพรรคการเมืองไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ก็มักจะบอกกับประชาชนในครั้งต่อมา ในตอนหาเสียงว่าเราเป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาล

“เราฟังแบบนี้จากทุกพรรค สุดท้ายที่หาเสียงไว้ก็ไม่สามารถเป็นนโยบายรัฐบาลได้สักเรื่อง วิธีการที่ถูกต้องคือเอานโยบายมารวมกัน ข้อซึ่งต่างกันสามารถมารวมกันได้ แม้กระทั่งของบางพรรคซึ่งพรรคอื่นไม่ได้หาเสียงไว้ ก็สามารถสนอกันมา พูดง่าย ๆ คือ กระบวนการที่สำคัญยิ่งกว่าการแบ่งกระทรวง คือ มาตกลงนโยบายรัฐบาลร่วมกัน

ข้อเหมือนกันก็ง่าย ข้อเห็นด้วยกันก็ไม่ยาก ส่วนข้อซึ่งเห็นต่างกันก็ต้องตกลงกัน ถ้าหากตกลงไม่ได้ก็ต้องไปหารือต่อในสภา วิธีการก็ง่ายมาก เป็นเรื่องที่เราหวังว่าที่มีการตกลง MOU กันอยู่จะมีกระบวนการเรื่องนี้ด้วย

Advertisement

ส่วนในเรื่องการที่จะไปหาเสียงกับสมาชิกรัฐสภาที่เหลือ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 750 คน ได้เสียงมาแล้ว 313 เสียง ตัวเลขที่มากกว่ากึ่งหนึ่งคือ 376 ก็คือยังขาดอีก 63 เสียง ซึ่งจะใช้อะไรหาเสียง ก็ต้องใช้นโยบายที่ตกลงกันได้นั่นเอง

มันก็เหมือนกับเมื่อ 60 วันก่อน แต่ละพรรคก็มีนโยบายไปหาเสียงกับประชาชน คราวนี้ก็ต้องไปหาเสียงกับสมาชิกรัฐสภาเพราะการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยที่ ส.ว. มาเลือกนายก เพราะเขาไม่ได้มาจากประชาชน แต่นี่มันคือกติการัฐธรรมนูญก็ต้องว่ากันตามกติกา

ผู้เลือก 14 พฤษภาคม คือ ประชาชน ก็ต้องไปหาเสียงกับประชาชน ผู้เลือกอีก 60 วันข้างหน้า คือ ส.ส. และ ส.ว. ก็ต้องไ,หาเสียงกับ ส.ส. และ ส.ว. ตอนนี้มีแล้ว 313 เสียงก็ต้องไปหาเสียงต่ออีก 63 เสียงมก็ใช้นโยบายรัฐบาลไปหาเสียง เหมือนที่ใช้นโยบายพรรคมาหาเสียงกับประชาชน” ผศ.ดร. ปริญญา กล่าว

ผศ.ดร. ปริญญา ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงประเด็นข้อเสนอแนะต่อ ส.ว. ในสภาว่า ส.ว.ก็มีสิทธิในการที่จะโหวตซึ่งโดยระบบไม่ถูกอยู่แล้ว

“ท่านมีสิทธิตรงนี้ เพราะไม่เคยมี หมายถึงไม่ถูกในแง่ที่ว่า ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี เพราะระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ประชานเลือกนายกผ่านการเลือก ส.ส.

ส.ว. ท่านไม่ได้มาจากประชาชน แล้ว ส.ส. ก็ประกาศกับประชาชนช่วงหาเสียงว่าจะเลือกใครเป็นนายก เพราะอยู่ในพรรคแต่ละพรรคก็จะมีว่าที่นายกทั้งหมด ดังนั้น ส.ส. แต่ละคนจึงได้ฉันทาอนุมัติมาจากประชาชนในการมาเลือกนายก แต่ ส.ว. ท่านไม่ได้ลงเลือกตั้งกับประชาชนเลย

ดังนั้นวิธีการก็คือควรจะฟังเสียงของประชาชน เพราะว่าท่านก็มีอำนาจเท่ากับ ส.ส. แล้วก็มีเงินเดือน มีตำแหน่ง มีผู้ช่วยต่าง ๆ เท่ากับ ส.ส. ทุกอย่าง ดังนั้นก็ควรต้องฟังเสียงของประชาชน” ผศ.ดร. ปริญญา กล่าว

ผศ.ดร. ปริญญา กล่าวต่อไป ถึงข้อสังเกตในทางวิชาการกับ ส.ว. ที่กล่าวว่าจะปิดสวิตช์ตัวเองด้วยการงดออกเสียงว่าไม่ใช่สิ่งที่จะเรียกว่าการงดออกเสียงอย่างแท้จริง เพราะการงดออกเสียงความหมายคือ ไม่ตัดสินใจ ไม่ขอให้เสียงตังเองมีผลในการตัดสินใจ แต่เนื่องจากว่า ส.ว. ถ้าหากงดออกเสียงกันทั้งหมด รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งก็จะไม่เกิดขึ้นมา เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนให้ ส.ว. มีอำนาจ ถ้า ส.ว. จะงดออกเสียง ทำได้และไม่มีผล คือ ส.ว. ไม่ได้มีอำนาจนี้ แต่เมื่อถ้ามีอำนาจแล้วงดออกเสียง ผลคือการที่ท่านไม่รับรองรัฐบาล เท่ากับการไม่เอา ไม่ใช่งดออกเสียง

“การงดออกเสียงจึงไม่ใช่การงดออกเสียงที่แท้จริง แต่คือการไม่รับรองรัฐบาลที่มาจากกติกาของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่พรรคอันดับ 1 ได้สิทธิในการตั้งรัฐบาล เมื่อเขารวมเสียงได้เกินครึ่งของ ส.ส. เขาต้องมีฉันทามติจากทางประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาลนี่คือหลักการที่ ส.ว. พึงพิจารณา” ผศ.ดร. ปริญญา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image