มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ คดีอุ้มหาย ญาติเก็บหลักฐานยาก รัฐคือที่พึ่งเดียว หวังกฎหมายใหม่ลดอุ้มฆ่า-ทรมาน
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม เวลา 15.30 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF Thailand) จัดเสวนา “4 ปี การบังคับสูญหายสยาม ธีรวุฒิ: เส้นทางการตามหาความยุติธรรมและแนวทางใหม่ใต้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย” นำโดย นางกัญญา ธีรวุฒิ แม่ของนายสยาม ธีรวุฒิ, น.ส.มนทนา ดวงประภา ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, น.ส.พรพิมล มุกขุนทด ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายรณกรณ์ บุญมี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี น.ส.ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ดำเนินรายการ (อ่านข่าว แม่ ‘สยาม ธีรวุฒิ’ สะอื้นไห้ ทวงยุติธรรมกลางเวทีเสวนา 4 ปีถูกอุ้มหาย ‘ทำอย่างไรจะหาลูกเจอ?’)
ในตอนหนึ่ง น.ส.พรพิมล มุกขุนทด ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า เคสที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานให้รับสารภาพและบังคับบุคคลสูญหายมีความยากลำบากในการรวบรวมหลักฐานต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก จะสร้างภาระให้เหยื่อและญาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่บังคับใช้เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ เคสของนางกัญญา ธีรวุฒิ และป้าน้อย ภรรยานายสุรชัย แซ่ด่าน ก็มีการไปยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษที่ศูนย์อัยการ โดยในหนังสือจะกล่าวถึงเหตุการณ์เบื้องต้นว่าเกิดอะไรกับคุณสยามหรือคุณสุรชัย แซ่ด่านบ้าง ระบุไปในหนังสือร้องทุกข์
“ใส่รายละเอียดเรื่องข้อหา กล่าวถึงผู้กระทำความผิดที่สงสัยว่าเขาจะเป็นผู้กระทำความผิดลงในหนังสือร้องทุกข์นั้น ไปยื่นที่ศูนย์ป้องกันทรมาน เบื้องต้นวันแรกเขาจะทำการสืบสวนข้อเท็จจริง มีข้อหนึ่งที่เขาจะถามเป็นหลักการสำคัญ คือใครเป็นผู้กระทำความผิด หรือใครเป็นผู้ต้องสงสัยในการกระทำความผิดครั้งนี้
เคสที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มฆ่าหรืออุ้มหาย การที่จะทราบว่าใครเป็นผู้อุ้มหรือใครเป็นผู้กระทำผิดในเคสเหล่านี้ถือเป็นเรื่องยากมาก การกระทำเหล่านี้มีการทำเป็นกระบวนการ อาจมีการจ้างวานเกิดขึ้นด้วยซ้ำ” น.ส.พรพิมล กล่าว
น.ส.พรพิมล ระบุว่า การจะกล่าวหาหรือระบุตัวผู้กระทำความผิด ตามที่แพลตฟอร์มของอัยการต้องการให้มีการระบุชื่อของผู้กระทำความผิดเลย ก็มีการโต้แย้งและพูดคุยกับอัยการว่า เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เราจะขออัยการใส่มูลเหตุจูงใจของบุคคลที่ถูกอุ้มหายไป ว่าใครบ้างที่เป็นคู่ขัดแย้ง พยายามใส่ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้ได้เยอะที่สุด
“เราพยายามบอกกับอัยการว่าคดีอุ้มฆ่าอุ้มหายเกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาในการเก็บรวบรวมหลักฐานในคดีเหล่านี้ ญาติไม่มีทางกระทำได้ เราพยายามแจ้งในลักษณะนี้ เพราะถ้าเราพึ่งเจ้าหน้าที่รัฐในการเก็บรวบรวมหลักฐานไม่ได้ ญาติซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีอะไรในมือก็จะไม่สามารถทำได้ เราเหลือที่พึ่งเดียวคือเจ้าหน้าที่รัฐ
อีกข้อหนึ่งที่พนักงานอัยการจะสอบสวนเป็นเรื่องของความเสียหายหรือพยานหลักฐานในพื้นที่เกิดเหตุอุ้มหาย เขาจะเก็บหลักฐานไว้ และความเสียหายที่ป้าน้อยกับแม่กัญญาได้รับ ส่วนนี้เขาจะรวบรวมไว้ เพื่อในวันหนึ่งถ้าจะมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จะได้มีการเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ในอนาคต” น.ส.พรพิมล อธิบาย
น.ส.พรพิมล กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่มาพร้อมกับความหวังใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีความเป็นประชาธิปไตย ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากขึ้น และมีกฎหมายใหม่ที่เพิ่งประกาศมา ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
“เรามองว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะมาประกอบสร้างกัน แล้วทำให้การคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน การจับตาดูการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และการมี พ.ร.บ.ใหม่ตัวนี้มาทำหน้าที่ในการกำชับ กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัดมากขึ้น โดยเฉพาะตัว พ.ร.บ.กำหนดไว้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ต้องมีการบันทึกภาพ บันทึกเสียงตลอดการจับกุม คิดว่าการทรมาน หรืออุ้มหายอุ้มฆ่าก็น่าจะลดน้อยลง” น.ส.พรพิมล ทิ้งท้าย (อ่านข่าว ทนายสิทธิฯ เชื่อรบ.ใหม่คือสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ฝากเยียวยาปม ‘สยาม ธีรวุฒิ’ ทำความจริงให้กระจ่าง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิด 7 ข้อเรียกร้อง ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายถึงนายกฯ อังคณาหวังอุ๊งอิ๊งคืนความเป็นธรรม
- 30 ส.ค. วันผู้สูญหายสากล เปิดชื่อ 9 ผู้ลี้ภัยการเมืองไทย เชื่อได้ว่าถูกบังคับสูญหายโดยรัฐ
- ครบ 5 ปีสูญหาย แม่สยาม ธีรวุฒิ บุก กสม.พรุ่งนี้ จี้เปิดรายงานอุ้มหาย 9 เคส ต่อสาธารณะ
- กัมพูชา แจงยูเอ็น กรณีวันเฉลิม ก่อนฮุนเซนมาไทย อ้างไม่พบจนท.เอี่ยว จึงไม่ใช่กรณีอุ้มหาย