ดุลยภาค เจาะลึก 4 กระทรวง ‘คนนอก-คนใน’ ใครคุม? เก้าอี้ไหนจุดเปลี่ยนประเทศ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ในประเด็นพรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีการทาบทามคนนอกเข้ามาในตำแหน่งฝ่ายบริหาร ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติปกติใน ครม.ชุดต่างๆ

“ที่ผ่านมาก็มีการดึงนักวิชาการ หรือว่าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่เหมาะสมกระทรวงต่างๆ เข้ามานั่งรัฐมนตรีก็เป็นเรื่องปกติ สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันความท้าทายนั้นอยู่ที่มิติทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งอยู่ที่การเกลี่ยโควต้ากันว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยจะรับผิดชอบด้านนี้เป็นหลัก อาจจะมีโควต้าของคนทางพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็มีไม่ใช่น้อยที่ค่อนข้างเข้มแข็งทางด้านนี้ หรืออาจจะมีเชิญคนนอกเข้ามา

แต่สำหรับพรรค ก.ก.หากจะโฟกัสไปที่กระทรวงเฉพาะ เช่น กระทรวงการคลัง สเปกตามในพรรคน่าจะเป็น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล เพราะมีองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่หากจะเอาขุนคลังที่มีประสบการณ์ และเอาอยู่จริงๆ ต้องหาสเปกระดับสูงเหมือนกัน เพราะตำแหน่งรัฐมนตรีการคลังเป็นงานที่ยากและท้าทาย ต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ อย่างเช่นที่ผ่านๆ มาก็จะมีหลายท่าน เช่น ดร.วีรพงษ์ รามางกูรและนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ หรือหม่อมอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นต้น พวกนี้สเปกค่อนข้างสูง ผมก็คิดว่ามันจะต้องเป็นระดับนั้นถึงจะเอาอยู่ในภาวะเศรษฐกิจและการปฏิรูปโครงสร้างการคลังของประเทศ” รศ.ดรดุลยภาค

รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วาระของพรรค ก.ก.ต้องการปฏิรูปกองทัพ ตรงนี้เป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบ เพราะถ้าจะเอาแกนนำของพรรค ก.ก.เข้าไปคุม ผมคิดว่าหลายอย่างในทางปฏิบัติของทางกองทัพหรือ ผบ.เหล่าทัพระดับสูง จะต้องมีการจูน มีการพูดคุยเยอะพอสมควร บางอย่างทำได้บางอย่างอาจจะทำไม่ได้ เพราะระเบียบปฏิบัติ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

“น่าสนใจว่า ถ้าเอาคนที่เป็นหัวหอกทางการเมืองของพรรค ก.ก.ไปวางไว้ในตำแหน่งของกระทรวงกลาโหม น่าจะมีการปะทะยื้อกันไปมาเหมือนกันในหมู่ขององค์กรทหาร กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หากเอานายทหารที่เกษียณอายุไปแล้ว แต่ว่าเป็นทหารฝ่ายประชาธิปไตย ทำงานกับสายก้าวหน้าได้ เป็นทหารที่เข้าใจเรื่องการปรับโครงสร้าง กำลังรบเข้ามา กองทัพก็อาจจะไม่มีแรงต้าน หรือกระอักกระอ่วนใจมาก ซึ่งตอนนี้ก็มีการร่ำลือกันไปถึง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม แต่นั่นก็เป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น เพราะการเมืองยังไม่สะเด็ดน้ำในการแบ่งโควต้าต่างๆ ซึ่งก็คิดว่าน่าจับตาอยู่

สำหรับกระทรวงวัฒนธรรม ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่กระทรวงเกรดระดับสูงเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ ไม่ได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศมาก อาจเป็นของพรรค ก.ก.หรือพรรคอื่น ยังไม่แน่ใจเพราะพรรคเพื่อไทยเองเวลาหาเสียงก็มีนโยบายซอฟต์เพาเวอร์เยอะมากๆ และเป็นการพัฒนาเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มรดกทางวัฒนธรรม คุณเศรษฐา  ทวีสิน ก็พูดถึงการเชื่อมระหว่างน่านกับหลวงพระบางหลายรอบ พรรคเพื่อไทยอาจจะอยากได้ตรงนี้ไหม หรือให้พรรค ก.ก. หรือจะเป็นของพรรคอื่น ยังต้องไปเกลี่ยกันอีกที สำหรับตัวที่สำคัญในการชี้เป็นชี้ตายพอสมควรกับเสถียรภาพในกระบวนการฟอร์มรัฐบาล คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ซึ่งหลักๆ ผมเห็นแล้วว่าพรรค ก.ก.วางคนเอาไว้คุมตรงนี้แล้ว ส่วนเพื่อไทยจะคุมในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ว่ามันจะมีการปรับอีกหรือเปล่า”  รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

Advertisement

รศ.ดร. ดุลภาค กล่าวว่า ส่วนอีกตำแหน่งนั่นก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ส่วนตัวคิดว่าเป็นตำแหน่งที่สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับประเทศไทย

“ถ้านายพิธาอยากจะคุมตำแหน่งตรงนี้เอง นโยบายต่างประเทศอาจจะเน้นเรื่องสหรัฐอเมริกา เน้นตะวันตก แล้วอาจจะกดดันพม่ามากหน่อย ซึ่งก็มีทั้งบวกทั้งลบในแง่มิติต่างๆ ถ้าเป็นพรรคอื่นเข้ามาคุมหรือเป็นคนอื่น ที่เป็นเทคโนแครตที่เชี่ยวชาญด้านกิจการระหว่างประเทศจริงๆ อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสเปกที่ได้มา รวมถึงบุคลากรในกระทรวงการต่างประเทศจะรับได้มากหรือน้อย สะดวกใจในการทำงานมากน้อยขนาดไหน แต่เรื่องปฏิบัติการของข้าราชการประจำโดยเฉพาะปลัดกระทรวงไล่ลงมาก็มีความสำคัญเหมือนกันในการกำหนดและนำนโยบายไปปฏิบัติจริงๆ

ถามว่า ถ้าพรรค ก.ก.คุมกระทรวงการต่างประเทศ จะถูกมองว่ารับใช้สหรัฐอเมริกาหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่พรรค ก.ก.จะต้องระมัดระวัง เพราะประเด็นนี้เกี่ยวกับอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ จะมีมูลหรือไม่ แต่ถ้ามีการยกประเด็นนี้ขึ้นมา รัฐบาลที่เข้าไปคุมด้านต่างประเทศ หรือกระทรวงกลาโหมจะเจอจุดเสี่ยงในการถูกโจมตี เกี่ยวกับเรื่องว่าโปรตะวันตกเกินไปแล้วจะบริหารความสัมพันธ์กับจีน หรือรัสเซียอย่างไร ในเมื่อเอนเข้าหาตะวันตก แล้ววิพากษ์วิจารณ์ทหารพม่า สมมุติว่าพรรค ก.ก.บริหารไปแล้วทิศทางนโยบายต่างประเทศแบบฉับพลัน วิพากษ์วิจารณ์เพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกมากขึ้น เอนเข้าหาสหรัฐอเมริกามากขึ้น มันก็อาจจะมีกระแสของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศว่า จะนำพาให้ประเทศไทยเข้าสู่จุดเสี่ยงไหม เรื่องของฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง ก็อาจถูกยกขึ้นมาใช้โจมตีเรื่องทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทยได้” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า สำหรับทรัพยากรของพรรคร่วมนั้น ส่วนตัวมองว่าพอเพียง แต่ในบางตำแหน่งของ ครม. บางครั้งถ้าหาคนที่เชี่ยวชาญตรงสเปกจริงๆ ได้แล้ว มันจำเป็นที่จะต้องใช้ความชำนาญในการขับเคลื่อนงานกระทรวงเพื่อพัฒนาประเทศ การพิจารณาคนนอกก็เป็นสิ่งที่น่ารับไว้พิจารณา นอกจากนี้ ตำแหน่งคนนอก มันจะแก้ปัญหาการเมืองได้บางประการตรงที่โควต้าบางกระทรวงมันดีลกันไม่ได้ ว่าจะเป็นของพรรคไหน จึงแก้เกมด้วยการเอาคนนอกมาผ่าทางตัน แล้วก็ไปเกลี่ยกันในกระทรวงอื่นๆ แทน

“คนนอกจะช่วยได้ 2 เรื่อง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรค ก.ก.นำ หรือพรรคเพื่อไทยนำ แม้ทรัพยากรเพียงพอแต่จะมีบางกระทรวงที่อาจจะต้องเชิญคนนอกเข้ามา เพื่อแก้ปัญหาการเกลี่ยโควต้าด้วย แล้วเอาคนที่เชี่ยวชาญจริงๆ เพื่อไม่ให้หน้าตารัฐบาลขี้เหร่จนเกินไป เพราะว่าถึงมีทรัพยากรพอภายในพรรคร่วม แต่ถ้าบางกระทรวงได้คนโปรไฟล์นิ่งๆ เข้ามา โดยอาจมาเป็นทีมที่ปรึกษา กล่าวคือ ไม่ได้มองในตำแหน่งรัฐมนตรี หรือผู้ช่วยอย่างเดียว แต่มองถึงทีมที่ปรึกษาประจำกระทรวงต่างๆ บางครั้ง กระทรวงหนึ่งอาจจะได้คนนอกเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวงเลย แต่บางกระทรวงเอาคนของพรรคร่วมขึ้นเป็นเจ้ากระทรวง แต่ทีมที่ปรึกษา สามารถดึงคนนอกมาได้ ดึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาได้

ลักษณะโมเดลแบบนี้ ถ้าฟอร์ม ครม.ตรงนี้ ไม่ว่าใครจะฟอร์ม ครม.ขึ้นมาเป็นพรรคนำ สามารถใช้โมเดลนี้ได้หมด ประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาในอดีตก็มีตัวแบบอยู่”รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image