‘วิโรจน์’ ซัดรัว ไม่สนผู้การทางหลวงพ้นเก้าอี้ แซวพวกย้ายที่ #ส่วยสติ๊กเกอร์ คิดว่ารอด?

‘วิโรจน์’ ซัดรัว ไม่สนผู้การทางหลวงพ้นเก้าอี้ ชี้คนย้ายที่ #ส่วยสติ๊กเกอร์ เปิดช่องถ่ายคลิปมัดตัว แนะวิธีปราบ #ส่วยทางหลวง ให้สิ้น หลักฐานสาวถึงใครดำเนินคดี-ยึดทรัพย์ให้เกลี้ยง แก้ กม.อีกทาง

แม้ว่า พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้ลงนามคำสั่งย้าย พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล. หรือผู้การทางหลวง ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเดิม โดยให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทน ผบก.ทล.อีกตำแหน่ง และให้มีผลแล้วนั้น

ทว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เปิดโปงกรณี ส่วยทางหลวง หรือ ส่วยสติ๊กเกอร์ ก็ลุยต่ออย่างไม่หยุดยั้ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นายวิโรจน์ระบุถึง ต้นตอ #ส่วยทางหลวง วงจรส่วยก็ต้องปราบ กฎหมายก็ต้องทบทวน อีกทั้งเปิดเผยแชตไลน์ที่เผยให้เห็นการ “ย้ายส่วยสติ๊กเกอร์” ไปติดด้านในรถแทน

Advertisement

นายวิโรจน์เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่อง #ส่วยทางหลวง ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาที่มีมีมาหลายสิบปีแล้ว ที่สำคัญคือมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชั่นของส่วยทางหลวงนั้นมีมูลค่าสูงในระดับหมื่นล้านบาท และกระทบกับประชาชนทั้งทั้งประเทศ พอผู้ประกอบการต้องจ่ายส่วยก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แม้ว่าจะบรรทุกสินค้าได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่คุ้มกับค่าซ่อมบำรุงที่แพงขึ้น

แถมพอเจอกับการแข่งขันที่ต้องมาตัดราคากันเองก็ยิ่งทำให้กำไรบางมากๆ จนในท้ายที่สุดก็ต้องผลักต้นทุนที่ต้องจ่ายส่วย ไปยังค่าขนส่ง พอค่าขนส่งเพิ่ม สินค้าอุปโภคบริโภคก็ต้องปรับราคา ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน ก็ทำให้ถนนหนทางชำรุดเสียหาย เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ยวดยาน แถมยังต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษาถนน

Advertisement

ถ้าประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ลงได้ ก็จะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณในการดูแลสวัสดิการของประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น

ถ้าถามถึงต้นเหตุของปัญหา #ส่วยทางหลวง ก็ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นอยู่ที่ข้าราชการของกรมทางหลวงบางคน ตำรวจท้องที่และตำรวจทางหลวงบางนายอาศัยช่องว่างทางกฎหมายไปรังควานผู้ประกอบกิจการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจควันดำ ตรวจเสียง การตั้งด่านตราชั่งลอยเพื่อชั่งน้ำหนัก การเดินตรวจรอบรถแบบจุกจิกเพื่อหาเรื่องปรับ การเรียกตรวจพนักงานขับรถ ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งเสียเวลาทำมาหากิน จากวันหนึ่งแทนที่จะวิ่งได้ 2-3 เที่ยว ก็อาจจะเหลือแค่ 1 เที่ยวเท่านั้น

พฤติกรรมรังควานแบบนี้จึงเป็นเหตุให้เกิดขาใหญ่ ซึ่งอาจเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นโต้โผเอาส่วยแบบเหมาจ่ายไปเคลียร์กับข้าราชการบางคน ตำรวจบางนาย แล้วมาผลิตสติ๊กเกอร์ขายให้กับผู้ประกอบกิจการขนส่งรายอื่นๆ

พอเจ้าหน้าที่เห็นสติ๊กเกอร์ก็เป็นอันรู้กัน รถบรรทุกเหล่านี้เถ้าแก่ส่งส่วยเรียบร้อยแล้ว ตราชั่งก็ไม่ต้องชั่ง บรรทุกหนักแค่ไหนก็ผ่านฉลุย ตำรวจเจอก็ได้แต่เลิ่กลั่ก พยักเพยิด แล้วก็ปล่อยผ่านไป หลังๆ นี่ถึงกับกล้าเอารถบรรทุกไปใช้ขนของผิดกฎหมาย ขนแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมือง เชียวนะครับ

ตำรวจที่ดีก็ได้แต่ท้อใจ ถ้าเผลอไปเรียกตรวจก็อาจจะเจอผู้บังคับบัญชา หรือมาเฟียขาใหญ่โทรมาเบ่ง ข่มขู่

สติ๊กเกอร์แต่ละดวงก็จะมีมูลค่าที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนด่าน บางพื้นที่อาจแพงถึงหลักหมื่นก็มี

ที่บอกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ก็เพราะว่าจำนวนรถบรรทุกในประเทศไทยมีทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคัน ถ้ามีรถบรรทุก 300,000 คัน ต้องเสียเงินซื้อสติ๊กเกอร์เดือนละ 3,000-5,000 บาท เดือนหนึ่งก็ตก 900-1,500 ล้านบาท ปีหนึ่งมูลค่าส่วยทางหลวงนี้ก็อาจจะสูงถึง 20,000 ล้านบาทก็เป็นได้

ปีๆ หนึ่งมีเรื่องทุจริตร้องเรียนมาที่ ป.ป.ช.รวมกันเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ลำพังแค่ #ส่วยทางหลวง เรื่องเดียวนี่ปาเข้าไป 20,000 ล้านบาท หรือ 10% เข้าไปแล้วนะครับ เห็นไหมครับว่าเรื่อง #ส่วยทางหลวง นี้มันมากมายมหาศาลขนาดไหน

เรื่อง #ส่วยทางหลวง ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีหรือเปล่า เพราะคำตอบคือมีแน่ และมีมาหลายสิบปีแล้ว มีมาตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับการตำรวจทางหลวงยังเป็นผู้กองด้วยซ้ำ

ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนคาดหวังคำตอบจากข้าราชการระดับบังคับบัญชาย่อมไม่ใช่คำตอบที่บอกว่า “ไม่รู้” หรือการออกมาปฏิเสธแบบแบ๊วๆ ทำไขสือว่า “ไม่มี” ถ้าตอบแบบนี้ นอกจากประชาชนจะหัวเราะเยาะแล้ว ประชาชนยังจะตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่ามีส่วนพัวพัน หรือมีเอี่ยวกับส่วย ทางหลวงหรือไม่

และถ้าไม่รู้จริงๆ ก็ควรต้องขอย้ายตัวเองไปทำงานอื่น ให้คนที่รู้มาทำงานแทนดีกว่าครับ

พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ อดีต ผบก.ทล. ที่ปัจจุบันขอย้ายตัวเองออก (ภาพโดย ตำรวจทางหลวง)

อีกคำตอบหนึ่งที่ประชาชนยอมรับไม่ได้ก็คือการตอบว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบแบบแก้เกี้ยว ถ่วงเวลาให้เรื่องเงียบ สุดท้ายก็จับมือใครดมไม่ได้ แล้วก็บอกกับประชาชนว่า “ถ้าใครมีหลักฐานก็ให้แจ้งมา”

ถ้าขืนตอบแบบนี้ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามกลับว่า “ถ้ารู้อยู่แก่ใจว่ามีขยะอยู่ในบ้านตัวเอง ทำไมถึงไม่ยอมเก็บกวาดเองล่ะ ทำไมต้องรอให้ประชาชนชี้ว่ากองขยะมันกองอยู่ตรงไหน และประชาชนก็มีสิทธิสงสัยว่าท่านได้ผลประโยชน์จากกองขยะกองนั้น” หรือไม่

เรื่อง #ส่วยทางหลวง ผมเชื่อว่าลึกๆ ข้าราชการระดับบังคับบัญชาก็รู้อยู่แก่ใจ ทุกวันนี้ก็เหมือนขี้รดกางเกงแล้วก็นั่งทับขี้เอาไว้ กลิ่นเหม็นตลบอบอวลไปหมด ผมบอกตรงๆ ว่าท่านควรรีบไปเข้าห้องน้ำแล้วไปล้างก้น แล้วเปลี่ยนกางเกง ไม่ใช่มาบอกว่า “ถ้าใครเห็นขี้ผมก็ให้บอกผมด้วย เดี๋ยวผมจะได้ไปล้างก้น”

การแก้ปัญหา #ส่วยทางหลวง ต้องแก้ไปควบคู่กันทั้ง 2 ด้าน ด้วยกันก็คือ

ด้านที่ 1 คือการปราบปรามวงจรการส่งส่วยให้สิ้นซาก หากหลักฐานสาวถึงข้าราชการคนใดก็ต้องส่ง ป.ป.ช.เอาเรื่องให้ถึงที่สุด เอาให้ติดคุกติดตะรางให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้กลไกของ ปปง.ในการยึดทรัพย์ เอาให้กลายเป็นยาจกสิ้นเนื้อประดาตัว

ด้านที่ 2 คือการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องในการปฏิบัติงานจริง เปิดช่องว่างให้ข้าราชการที่ไม่ดีบางคน ใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งรีดไถ หรือเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน พร้อมกับกำชับไม่ให้ข้าราชการที่ไม่ดีบางคน ใช้กฎหมายไปเป็นเครื่องมือรังควาน ข่มขู่ ตบทรัพย์ประชาชน ถ้าพบก็มีการดำเนินการทั้งคดีอาญาและทางวินัย ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ปัญหานี้ก็จะหมดไป

อย่างกรณีน้ำหนักบรรทุกของรถพ่วงที่แต่เดิมกำหนดไว้อยู่ที่ 52-58 ตัน ที่ คสช.ปรับลดลงมาให้เหลือไม่เกิน 50.5 ตัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ก็มีข้อสงสัยว่าเป็นการปรับลดลงมาเพื่อบีบให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายโดยปริยาย และต้องยอมจ่ายส่วยใช่หรือไม่ เพราะตามหลักการทางวิศวกรรมสากลการป้องกันไม่ให้ถนนชำรุดจากน้ำหนักบรรทุกโดยทั่วไปเขาจะไม่เอาน้ำหนักบรรทุกรวมมากำหนดเป็นเกณฑ์ แต่จะเอาน้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยต่อล้อมาใช้เป็นเกณฑ์แทน เช่น น้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยต่อล้อต้องไม่เกิน 2.5 ตัน เป็นต้น ถ้าน้ำหนักบรรทุกมากจำนวนล้อที่มาเฉลี่ยรับน้ำหนักก็ควรต้องมากตาม

ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแค่สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโยธาก็สามารถที่จะทบทวนแก้ไขกฎระเบียบให้มีความสมเหตุสมผล เป็นไปตามหลักวิศวกรรมสากลได้ และถ้าเกณฑ์การรับน้ำหนักของรถบรรทุกได้รับการปรับปรุงให้มีความสมเหตุสมผลแล้ว หากพบรถบรรทุกคันใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดำเนินการจับกุม ปรับ ดำเนินคดีตามกฎหมายครับ ส่วนถนนหนทางหากยังชำรุดอีกก็ต้องตรวจสอบต่อว่า การก่อสร้างเป็นไปตามสเปคหรือไม่

เอาเป็นว่า “ต้นเหตุของปัญหานี้จะเป็นอะไรก็ช่าง แต่ตำรวจจะเอามาเป็นเหตุในการรีดไถ เก็บส่วย กับประชาชนไม่ได้” เอาว่าเรารับทราบตรงกันนะครับ

ส่วนประเด็น “ย้ายสติ๊กเกอร์” นายวิโรจน์เผยว่า ตอนนี้เหล่าแก๊งค์ขายส่วยสติ๊กเกอร์ ชีวิตต้องคอยหวาดระแวง หลบๆ ซ่อนๆ หัวซุกหัวซุน ชุลมุนไปหมด เอาเป็นว่าผมรู้ความเคลื่อนไหวของพวกคุณทุกย่างก้าวก็แล้วกัน เห็นข้อความที่พวกคุณส่งถึงกันในวง LINE เต็มไปหมด โพสต์นี้นี่แค่คัดมาส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ

ไอเดียการย้ายจุดติดสติ๊กเกอร์จากด้านนอกมาติดในตัวรถ ย้ายจากกระจกหน้ามาติดที่ “บังแดด” หรือจะเปลี่ยนจากการติดสติ๊กเกอร์มาเป็นการโชว์นามบัตรแทน คิดว่าวิธีแบบนี้จะรอดหรือครับ ยิ่งย้ายมาติดด้านใน ยิ่งส่อพิรุธ

แต่เดิมที่สติ๊กเกอร์ติดอยู่ด้านนอก แค่เหลือบเห็นสติ๊กเกอร์ก็ปล่อยผ่านได้ทันที ไม่ต้องมีพิรุธอะไร แต่ถ้าสติ๊กเกอร์ติดอยู่ด้านในนี่หวานหมูเลยครับ เพราะต้องเสียเวลาจอดรถ ต้องเปิดประตูรถให้ตำรวจดู สภาพแบบนี้ถ่ายคลิปได้สบายๆ

แถมคลิปที่ถ่ายได้จะเห็นพฤติการณ์ต่างๆ ชัดเจน และเป็นหลักฐานมัดตัวตำรวจทางหลวงรายนั้น อย่างดิ้นไม่หลุดทันที

ส่วนที่บอกให้แกะสติ๊กเกอร์อันอื่นออกให้หมด ให้เหลือแต่รุ่น #เรารักประเทศไทย ที่เขาว่าขลังที่สุด ตอนนี้ก็น่าจะสิ้นมนต์ขลังแล้วนะครับ เห็นลอกออกกันหมดแล้ว

กรี๊ดออกมาครับ กรี๊ดออกมา กรี๊ดให้สุดเสียง แล้วร้อง “อาฮ้า อาฮ้า” ปิดท้าย ให้มันฟินสุดๆ ไปเลย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image