นักกฎหมาย ยัน เล่นงานพิธาไม่ได้ – ร้อนตัวไม่ผิด ‘สละหุ้นเป็นสิทธิ’ รธน.60 ‘กับระเบิด’ เพียบ

นักกฎหมาย ยัน พิธาไม่ขาดคุณสมบัติ-รัฐธรรมนูญ 60 ‘กับระเบิด’ เพียบ ชี้ การสละมรดกเป็นการระวังตัวไม่ใช่ร้อนตัว เพราะเคยมีปมเมื่อ 4 ปี คาใจ ไม่ใช่พวกเราก็สอย?

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ทางมติชนทีวี ในประเด็นการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะรอดหรือไม่

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า กรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่บอกว่าคุณพิธาร้อนตัว ไม่ผิดจะสละมรดกทำไม เพราะมีคนพยายามคืนชีพไอทีวีให้เป็นสื่อ เกิดเจ้าของตัวจริงหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่เอาเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในกิจการสื่อมวลชน ฟื้นชีพ จากที่ไม่มีการประกอบการมา 17 ปี หุ้นในมือจากที่ไม่เป็นสื่อก็จะกลายเป็นสื่อขึ้นมาทันที

“การทำให้เรื่องนี้มันจบไปเสียเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว เพราะเขาเป็นรายย่อยไม่ใช่รายใหญ่ก็เคลียร์ให้จบ เพราะเราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าการวินิจฉัยเรื่องแบบนี้มันเป็นการจะสอยหรือไม่ กล่าวแบบไม่อ้อมค้อม รัฐธรรมนูญปี 2560 วางกับระเบิดไว้เพียบ แล้วเรารู้สึกกันว่าเอาไว้จัดการฝ่ายตรงข้าม ถ้าเป็นพวกเราก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่พวกเราก็สอย คนรู้สึกแบบนี้กับ 4 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

“พูดในฐานะนักกฎหมาย ผมว่าที่เรารู้สึกกันมันก็ไม่ได้ผิดไปจากความจริงสักเท่าไหร่ หลายกรณีมันชวนให้รู้สึกแบบนั้น ที่เขาต้องระวังตัวไม่ให้ถูกสอย ไม่ใช่เรื่องของการร้อนตัว เพราะมันเกิดมาแล้วใน 4 ปีที่ผ่านมา ต้องอย่าลืมว่าองค์อิสระทั้งหลายมีความยึดโยงกับ คสช. ดังนั้นการป้องกันตัวเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเรื่องการสละทรัพย์มรดกก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เพื่อจบสิ้นปัญหาไป ไม่ต้องมามีปัญหาว่าเป็นสื่อหรือไม่ เป็นสิทธิตามกฎหมาย” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญาชี้ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1615 การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย แปลว่า กฎหมายมองว่ายังไม่เป็นเจ้าของ การสละไม่ได้มีผล ณ วันที่สละ มีผล ณ ตอนที่เจ้ามรดกตาย ชัดเจนว่ากฎหมายถือว่ามรดกที่ยังไม่แบ่ง ยังไม่ใช่เจ้าของ

Advertisement

“เมื่อสละมรดกไปแล้ว มันมีผลย้อนหลัง ปี 2550 ณ ปีที่เจ้ามรดกเสียชีวิต ก็แปลว่าจะเอาเรื่องถือหุ้นไอทีวีมาเล่นงานไม่ให้เป็น ส.ส. ไม่ให้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ กฎหมายมันก็ง่ายๆ ถ้ายังไม่ได้แบ่งก็ยังไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ในกองมรดก

“ในเมื่อมาตรา 1615 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วรรค 1 เขียนชัดเจน การสละมรดกนั้นมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่เจ้ามรดกตาย ก็เอาเป็นว่าในขณะที่สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อหมายเลข 1 และเป็นว่าที่นายก แล้วจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป คุณพิธาไม่ได้ขาดคุณสมบัติในข้อคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 98(3)” ผศ.ดร.ปริญญากล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าว : ‘ปริญญา’ ถามหามาตรฐาน ติดใจ กกต.ไม่ห้าม ‘พิธา’ ลงสมัคร-หุ้น ITV กิจการติดลบ 1,626 ล. ครอบงำไหว ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image