เลือกตั้งจบ-ตั้งรบ.ไม่จบ ‘พิธา’เผชิญแรงเสียดทาน ฉากทัศน์การเมืองวนลูป

เลือกตั้ง ส.ส.จบไปแล้ว แต่กระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งว่าที่ ส.ส.ทั้ง 500 คน ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิด ขณะที่การรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรค ที่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นแกนนำในฐานะพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 151 เสียง ยังคงจับมือกันแน่น อยู่ที่ 312 เสียง ยังต้องเดินสายพูดคุยเจรจากับฝั่งของสภาสูง อย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีกอย่างน้อย 64 เสียง เพื่อมาร่วมโหวตสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ก.ก.และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคแรก กำหนดไว้ว่า ต้องมีเสียงของสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ไม่ต่ำกว่า 376 เสียง อย่างไรก็ตาม ไทม์ไลน์ ก่อนที่ “พิธา” จะผ่านด่านไปถึงให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯนั้น ยังต้องเผชิญกับด่านการตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.รวมทั้งคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ก.ก. ทั้งจากนักตรวจสอบทางการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ในประเด็นการถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ “พิธา” ในฐานะผู้จัดการมรดกของครอบครัว ที่มีการร้องให้ตรวจสอบสถานะของบริษัทไอทีวี ว่ายังประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือไม่

ซึ่งจะขัดต่อคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของ “พิธา” ที่ยังถือหุ้นบริษัทไอทีวี ในวันที่ยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แม้ กกต.จะยก 3 คำร้องที่ยื่นให้ตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของ “พิธา” ในกรณีดังกล่าว แต่ กกต. มีมติให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของ “พิธา” ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กรณีที่รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติ แต่ยังมาสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีโทษทางอาญาปรับ 20,000-200,000 บาท จำคุก 1-10 ปี และตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 20 ปี

กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของ “พิธา” อย่างเข้มข้นก่อนจะเข้าสู่การโหวตเลือกนายกฯ หลายฝ่ายมองว่าเป็นกระบวนการใช้กฎหมายเพื่อหวังผลสู่เป้าหมายทางการเมือง หาก “พิธา” ต้องสะดุดกับเงื่อนไขในประเด็นเรื่องคุณสมบัติการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เกี่ยวกับข้อห้ามการถือหุ้นสื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ซึ่งจะมีผลโยงไปถึงคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ตามมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย

Advertisement

ประเด็นเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติการสมัคร ส.ส.ของ “พิธา” ซึ่งจะส่งผลต่อการถูกเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค ก.ก.ด้วย หากมีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าว ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ไม่ว่าจะสั่งให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ จะเป็นเงื่อนไขให้ ส.ว.ทั้ง 250 คน ยกเป็นเหตุผลสำคัญต่อการร่วมโหวต “พิธา” เป็นนายกฯได้แม้จะชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามฉันทามติของประชาชน เนื่องจากจะเป็นเหตุอ้างได้ว่าบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ จะต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ผู้นำของฝ่ายบริหารในอนาคตได้

ขณะเดียวกันการเดินหน้าตรวจสอบการถือหุ้นบริษัทไอทีวีของ “พิธา” ยังพบข้อสงสัยจนนำมาซึ่งข้อพิรุธ ของคลิปเสียงบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ในวันที่ 26 เมษายน 2566 กลับไม่ตรงกับรายงานบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นในวันดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นที่่ว่า “บริษัทไอทีวี ยังประกอบกิจการสื่อหรือไม่” ส่งผลให้บริษัทไอทีวีต้องชี้แจงประเด็นร้อนดังกล่าวว่า “บริษัทไอทีวี ในขณะนี้ยังไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ แต่สถานะของบริษัทยังดำรงอยู่” ซึ่งจะสอดคล้องกับประเด็นการตรวจสอบของกลุ่มผู้ร้อง ที่พยายามชี้ประเด็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่า วัตถุประสงค์การจดตั้งบริษัทไอทีวี คงมีการแจ้งว่ายังทำธุรกิจสื่ออยู่ ยังไม่ได้มีการแก้ไขวัตถุประสงค์ของบริษัทเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสื่อแต่อย่างใด ทั้งหมดจึงอยู่ที่ดุลพินิจของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบที่ทุกฝ่ายไม่สามารถจะไปวิพากษ์วิจารณ์ได้

ส่วนการเดินหน้าตรวจสอบ “พิธา” ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญขณะนี้ มีการหยิบยก มาตรา 82 มาเป็นหนึ่งในช่องทางการตรวจสอบ คือ การให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าชื่อกันในจำนวน 1 ใน 10 เพื่อยื่นให้ประธานสภา แห่งตน รวมทั้ง กกต. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส. ภายหลังที่มีการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว

Advertisement

ช่องทางการตรวจสอบคุณสมบัติของ “พิธา” ตามมาตรา 82 มีการมองว่าจะเป็นช่องทางที่ใช้เวลาเร็วกว่า การยื่นร้องให้ตรวจสอบตาม มาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

เนื่องจากเป็นการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อรับคำร้องดังกล่าวแล้วสามารถสั่งให้ผู้ที่ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดในคำร้องดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งช่องทางการร้องตามมาตรา 82 มีความเคลื่อนไหวของ ส.ว.บางกลุ่มที่ส่งสัญญาณไปถึง กกต.ให้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของ “พิธา” ให้เรียบร้อยก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ หาก กกต.ไม่ดำเนินการตรวจสอบ อาจมีความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

ขณะที่ความชัดเจนอีกด้านหนึ่ง คือ การประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ของ กกต. ตามกรอบ 60 วัน ภายหลังการเลือกตั้ง ชัดเจนว่า กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ก่อนครบ 60 วัน ให้ได้จำนวนไม่ต่ำกว่า 95% ตามรัฐธรรมนูญ หรือ 475 คน เพื่อเริ่มนับหนึ่งการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกภายหลังการรับรองผลการเลือกตั้งครบ 95% ภายใน 15 วัน เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง จากนั้นประธานรัฐสภาจึงจะนัดประชุมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีในลำดับถัดไป

ส่วน “พิธา” ยังคงเคลื่อนไหวลงพื้นที่พบปะและขอบคุณประชาชนในจังหวัดที่ พรรค ก.ก.ชนะเลือกตั้งแบบยกจังหวัด ทั้งที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต รวมทั้งพื้นที่ยุทธศาสตร์ภาคเหนือ อย่าง ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ทางหนึ่งแม้จะเป็นการขอบคุณประชาชน แต่อีกนัยหนึ่ง คือ การเข้าไปหามวลชนเพื่อแสดงความพร้อมของ “พิธา” และพรรค ก.ก. ในความพร้อมการทำหน้าที่ทั้งนายกฯ และรัฐบาล เพื่อแปรผลการชนะเลือกตั้งให้ได้ทำงานแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการเดินหน้าเข้าหามวลชนให้เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับ “พิธา” และ พรรค ก.ก. หากจะต้องเผชิญอุบัติเหตุทางการเมืองจนอาจไปไม่ถึงเป้าหมายการทำหน้าที่นายกฯ และรัฐบาลก้าวไกลได้

สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้จึงอยู่ในสภาพเลือกตั้งจบ แต่การเมืองยังไม่จบ เพราะความชัดเจนทั้งการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วม อยู่บนความไม่แน่นอน โดยเฉพาะพรรคแกนนำอย่างพรรค ก.ก.และ “พิธา” ยังต้องเผชิญขวากหนามและอุปสรรคทางการเมืองจากทุกทิศทาง การเมืองหลังการเลือกตั้งจึงยังอยู่ในสถานการณ์การเผชิญหน้าของทั้ง 2 ขั้วการเมือง

ที่พร้อมจะชิงจังหวะรุกใส่อีกฝ่าย นำมาซึ่งความอึมครึมและคำถามจากทุุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่มีคำถามเดียวกันคือ จะจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อใดและรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ส่งผลให้ทุกเซ็กเตอร์ไม่สามารถเดินหน้านับหนึ่งได้ เนื่องจากเฝ้ารอความชัดเจนในทางการเมือง

ฉันทามติของประชาชนที่ส่งผ่านผลการเลือกตั้ง แต่กลับไม่ให้ผลการเลือกตั้งได้ทำงานและทำหน้าที่ ตามที่เสียงสะท้อนของประชาชน สุ่มเสี่ยงที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้ง เนื่องจากผลจากกติกาไม่ได้รับการยอมรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image