ที่เห็นและเป็นไป : กลิ่นความรุนแรงที่เปลี่ยนไป โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

หลัง “พรรคก้าวไกล” ได้รับการเลือกตั้งมามากที่สุด ทำให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ขึ้นสู่ “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” เป็นคนแรก วลี “ได้กลิ่นความเจริญ” ก็กระหึ่มในกระแสการเมือง

คำว่า “กลิ่นความเจริญ” ดูจะมีพลังอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนจะก่อให้เกิดการทบทวนความเป็นมาของประเทศอย่างจริงจังว่าก่อนหน้านั้นเกิดอะไรขึ้น

ประเทศไทยเริ่มพัฒนามาพร้อมกับญี่ปุ่น ช่วงแรกเกาหลีใต้ยังต้องมาดูความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของไทย ไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย และเพื่อนบ้านอื่นๆ

เวียดนาม เขมร ลาว ยังอยู่ในสถานการณ์สงคราม ห่างไกลอย่างยิ่ง

Advertisement

ถึงวันนี้ “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศมีชื่อใน 7 ประเทศที่เจริญที่สุดในโลก “G7” – เกาหลีไปไม่เห็นฝุ่น ไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์ หรือกระทั่งมาเลเซียให้ปวดหัวใจเมื่อพูดถึงทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิประเทศที่เอื้อกับการพัฒนาสู่ความรุ่งเรืองง่ายกว่าให้ปวดหัวใจ

จากวันสตาร์ตการพัฒนาพร้อมญี่ปุ่นจนถึงวันนี้ โลกยังจัด “ไทย” ไว้ในกลุ่ม “ประเทศกำลังพัฒนา” และว่าไปเป็นเพียงแค่ทำให้ฟังดูดีกว่าคำว่า “ประเทศด้อยพัฒนา” อันเป็นความหมายที่แท้จริงเท่านั้น

สภาวะที่ไม่พ้นจาก “ด้อยพัฒนา” นี่เองที่สร้างความชอกช้ำระกำใจให้กับประชาชนคนไทยมายาวนาน

Advertisement

คำตอบว่า “อะไรทำให้ก้าวสู่สถานะประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้” มีอยู่มากมายทั้งระดับความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในวงการ หรือสาขาอาชีพต่างๆ จนถึงงานวิจัยที่ทำกันอย่างเป็นหลักเป็นการในสถาบันที่ติดตามการพัฒนาประเทศ

“ผู้นำ” และ “โครงสร้างอำนาจการบริหารปกครองประเทศ” หรือที่เรียกว่า “โครงสร้างอำนาจทางการเมือง” เป็นหนึ่งในคำตอบที่โดดเด่น

มีหลายรัฐบาล ที่ประเทศไทยเราได้สัมผัส “กลิ่นความเจริญ” แล้วกลับถูกลาก “ถอยหลังเข้าคลองหายเข้าถ้ำมืด” ปล่อยให้ “กลิ่นเน่า” คลุ้งในบรรยากาศการบริหารประเทศ

“ผู้นำ” ที่ชัดเจนว่าไม่มีคุณสมบัติที่จะสร้างความเชื่อมั่นทั้ง “บุคลิกภาพ” และ “ความรู้ความสามารถ” พร้อมๆ กับ “โครงสร้างอำนาจ” ที่เอื้อต่อ “การสืบทอด” ของเครือข่ายผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้น

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อ “พรรคก้าวไกล” นำเสนอ “ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” พร้อมผู้มี “คุณวุฒิ” แบบ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” มาเป็นผู้นำเดินสายทั้งตั้งเวทีทั่วประเทศ และนำเสนอผ่านสื่ออย่างเข้มข้น ปรากฏการณ์ “ได้กลิ่นความเจริญ” จึงเกิดขึ้นอีกครั้งในความรู้สึกนึกคิดของผู้คน

เป็น “กลิ่น” ที่สร้างความหวังให้กับประชาชนว่า บริบทของประเทศจะคืนอยู่โอกาสของการพัฒนาสู่ “ความเจริญ” อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม “กลิ่นก็คือกลิ่น” หรือ “ความหวังก็คือความหวัง”

สถานการณ์โดยรวมพิสูจน์แล้วว่า การหลุดจากโครงสร้างอำนาจที่ออกแบบไว้เพื่อสกัดนั้นไม่ง่ายเลย

แม้การตัดสินใจของประชาชนจะชัดเจนแล้วว่า เลือกพรรคฟากที่เป็นความหวังของ “กลิ่นความเจริญ” มาถึง 309 เสียง จาก 500 เสียง อันควรสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มั่นคงด้วยเสถียรภาพได้อย่างไม่ยุ่งยาก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

การต่อต้าน “ความหวังของประชาชนต่อกลิ่นความเจริญ” เป็นไปอย่างเข้มข้นในทุกมิติ

เริ่มจากการร้องเรียนเพื่ออาศัยกฎหมายที่ถูกออกแบบไว้จัดการขัดขวาง

การใช้อำนาจของกลไกที่สถาปนาไว้ทำให้ “อำนาจประชาชน” ไม่มีความหมาย

การสร้างสงครามจิตวิทยามวลชนเพื่อทำลายพลังที่ส่ง “กลิ่นความเจริญ” ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยข่าวสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นใน “พรรคการเมืองฝ่ายที่ประชาชนฝากความหวังไว้” ด้วยชั้นเชิงที่ทั้งชัดเจน ตรงๆ และซับซ้อนซ้อนเงื่อน ให้ “นิติบริกร” ชี้นำเบี่ยงเบนการตีความกฎหมายเพื่อให้เข้าทางตามเป้าหมายที่ต้องการ, ใช้สื่อมวลชนจัดตั้งเพื่อสร้างกระแสให้เกิดความเชื่อที่สับสน

ดาหน้ากันออกมาข่มขู่ หมายขวัญ ในทางที่จะสร้างการขัดขวางด้วยวิธีการรุนแรง

เลยถึงการปล่อยข่าวสาร และเหตุผลที่จำเป็นต้องการยึดอำนาจ

ถึงวันนี้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า การทำให้ “ความเจริญที่หวังว่าประเทศไทยจะไปถึงได้เสียที” นั้น เป็นแค่ “กลิ่น”

โอกาสที่จะเกิดขึ้นจริง ยังมีอุปสรรคมากมายที่จะทำให้ยังต้องห่างไกลออกไป

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการของขบวนการเช่นนี้ซึ่งประสบความสำเร็จในการขัดขวาง “ความฝันของประขาชน” ตลอดมานั้น

สำหรับครั้งนี้ น่าสนใจอย่างยิ่งว่าจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างง่ายดายเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่

เนื่องจากความตื่นตัวต่อ “กลิ่นความเจริญ” และความรู้สึกโหยหา “การพัฒนา” ของประชาชนที่ต้องเก็บกดจากการ “แช่แข็งประเทศมาเกือบ 10 ปี” ของประชาชน ได้ส่งสัญญาณให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ถึงสภาวะไม่ยอมจำนน ต่อการกดข่มให้ต้องยินยอมอีกต่อไป

แรงเสียดทานของ “พลังกดข่ม” กับ “พลังไม่ยอมจำนน” รอบนี้

จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องประเมินด้วย “สติปัญญา”

หากใช้ “อคติ” อันเกิดจาก “ความหลงในอำนาจแบบเดิมๆ” จะเสี่ยงอย่างยิ่งต่อ “การสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ และชนชาติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image