อนุสรณ์ มอง ‘ราษฎรประสงค์’ สัญลักษณ์ ‘คนตัวเล็กไม่จำนน’ โอนเงินประกันหลักสิบ สื่อเจตจำนงการเมือง

อนุสรณ์ มอง ‘ราษฎรประสงค์’ สัญลักษณ์ ‘ความไม่จำนน’ 112 ยอดฮิต คนตัวเล็กระดมเงินหลักสิบ-ร้อย สะท้อนเจตจำนง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการเสนอชื่อให้มูลนิธิสิทธิอิสราได้รับโล่เกียรติยศประเภทผู้ทำคุณประโยชน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมเสวนาวิชาการ “เจตนารมณ์ของราษฎร: พลังของคนสามัญในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม” นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ, ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย น.ส.ปพิชญานันท์ จารุอริยานนท์ นักศึกษาหลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ กล่าวถึงมูลนิธิสิทธิอิสรา หรือกองทุนราษฎรประสงค์ ว่าอยู่ในฐานะองค์กรของคนตัวเล็ก ที่ไม่ยอมจำนนต่อการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม มีความสืบเนื่องและคงทนมากที่สุดเท่าที่เรามีอยู่ในตอนนี้

“ทำไมผมถึงเรียกว่าเป็นการไม่ยอมจำนน ถ้าเราย้อนกลับไปถึงแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะช่วยเหลือการในประกันตัว ด้วยการใช้เงินกองทุน 1 2 3 4 5 แต่กองทุนราษฎรประสงค์ ตั้งจริงเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2564 ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่รัฐใช้มาตรการก็คือกำลัง บวกกับกฎหมายในการที่จะกดปราบการเคลื่อนไหวของเยาวชน ซึ่งขยายตัวอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ในช่วงกรกฏาคม ลากจนมาถึงตุลาคม และหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ในเดือนพฤษจิกายนของปลายปีนั้นว่า จะบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายในทุกมาตรา ในทุกกรณี ก็เป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่เข้ามาเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก ทำให้จำเป็นที่จะสร้างกองทุนนี้ขึ้นมา

Advertisement

นอกจากกองทุนราษฎรประสงค์ที่ตั้งขึ้นตอนต้นปี พ.ศ.2564 แล้ว ก็ยังมีอีก 2 กลุ่มด้วยกัน ที่ไม่ยอมแสดงความจำนนก็คือ ในเดือนมีนาคม มีกิจกรรมแรกที่ตั้งขึ้นมาอยู่ตรงหน้าศาลฎีกา คือ ‘ยืนหยุดขัง’ แต่ครั้งนั้นทำในวาระของ ‘อากง’ แล้วก็เรียกตรงนั้นว่าลานอากง และมีการจัดกิจกรรมเรื่อยมา หลังจากนั้นในเดือนกรกฏาคมก็มีกิจกรรมที่เรียกว่า ‘คาร์ม็อบ’ เริ่มต้น 3 กรกฏาคม สมบัติทัวร์ โดยคุณสมบัติ งามอนงค์ แล้วจัดอีกที 10 กรกฎาคม ต่อเนื่องด้วยคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และงานครบรอบ 2 ปี ของคณะร่วมราษฎรก็จัดอีก ซึ่งก็คึกคักขยายตัวกันไปในพื้นที่เขตต่างจังหวัด” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า มี 3 กิจกรรมด้วยกัน ที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมจำนนต่อการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม มันเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ขบวนการนิสิต นักศึกษา และเยาวชน อยู่ในสภาวะที่อาจเรียกว่า “ตั้งรับ” ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ไม่ได้มีโอกาสในการจัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่ในกลุ่มเล็ก ที่เน้นในเรื่องของการเคลื่อนไหวเผชิญหน้า อาจจะเป็นกลุ่ม REDEM หรือ กลุ่มราษฎร อย่างไรก็ว่าไป ที่น่าสนใจถึงบอกว่าแสดงความไม่ยอมจำนน คือ ถ้าเราไปดูกิจกรรม เป้าหมายของกองทุนราษฎรประสงค์ ก็ต้องบอกว่า เป็นไปตามหลักการที่เรียกว่าประชาชนช่วยเหลือกัน อันที่จริงแล้วความคิดของมันมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ที่ นายอานนท์ นำภา ตั้งสิ่งที่เรียกว่า “สำนักงานราษฎรประสงค์” ให้ความช่วยหลือในส่วนของผู้ต้องหาที่เป็นส่วนของพวกที่เป็นเสื้อแดงทั้งหลายที่ถูกดำเนินคดี ก็ได้สำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์ให้ความช่วยเหลือ โดยหลักการประชาชนช่วยเหลือกัน

ผู้ที่ตั้งกองทุนนี้ คุณไอดา อรุณวงศ์ และคุณชลิตา บัณฑุวงศ์ ก็ได้สืบทอดไอเดียนี้มา ประกอบกับช่วงเวลานั้นมีการตั้งกองทุนยุติธรรม ในปี พ.ศ.2558 แต่มีข้อจำกัดในแง่ที่ว่าจะไม่ให้เงินสนับสนุน หรือ ช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง ในขณะที่กลุ่มของคนเคลื่อนไหวถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี มันเป็นความขัดแย้งทางการเมืองทั้งสิ้น เพราฉะนั้น คนเหล่านี้จึงไม่สามารถที่จะใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมได้ เป็นเหตุให้จำเป็นต้องตั้งกองทุนนี้มาเพื่อเป็นการแบ่งเบา แต่เอาเข้าจริงแล้ว นอกจากกองทุนราษฎรประสงค์แล้ว ยังมีกองทุนอีกที่ตอนนั้นให้ความช่วยเหลือ อาจจะขนาดเล็กกว่า เช่น กองทุนดาตอร์ปิโด เป็นต้น

Advertisement

อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของการตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา ก็ด้วยหลักการเป็นเรื่องของประชาชนช่วยเหลือกัน กล่าวคือ บางคนระดมทุนบริจาคอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แต่ในขณะเดียวกันก็มีนัยยะทางการเมืองด้วย หลายคนที่ได้ไปคุยด้วยโดยเฉพาะกลุ่มที่บริจาคอย่างสม่ำเสมอ พูดว่า อันนี้นอกเหนือไปจากการช่วยเหลือเด็กๆ ซึ่งเสียสละเพื่อพวกเราแล้ว ก็ยังถือเป็นหนึ่งในช่องทาง หรือ วิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย เพราะในช่วงเวลานั้นการที่จะไปร่วมชุมนุม หรือกระบวนการเคลื่อนไหวไม่มีแล้ว ไม่มีม็อบให้เขาสามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยการบริจาคเงินให้กองทุนราษฎรประสงค์ เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการแสดงออกถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาด้วย นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เฉพาะหน้า คือการได้ประกันตัว ได้ช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบ โดยเฉพาะระยะหลังคนที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ก็มักจะมีสถานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก เพราะฉะนั้นเมื่อมีกองทุนนี้ขึ้นมา ก็ช่วยแบ่งเบาได้ค่อนข้างมากทีเดียว จึงเห็นว่านั่นคือ “ความไม่ยอมจำนน”

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 คือ คนตัวเล็ก มีความหมายคือคนกลุ่มที่ไม่ได้มีสถานะทางเศรษฐกิจดีนัก ไม่ใช่คนระดับกลางชั้นบนขึ้นไปที่เป็นส่วนใหญ่ หากแต่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย เราดูได้จากจำนวนของยอดเงินที่บริจาคขึ้นมา ภาพรวมกองทุนราษฎรประสงค์ใหญ่มาก

“เอาแค่ใน 1 ปี ที่ตั้งขึ้นมาหลังจากปี พ.ศ.2564 ในรอบ 1 ปีสามารถที่จะระดมเงินเข้ามาได้ถึงเกือบ 64 ล้านบาท เป็นเงินที่เยอะ แต่ถ้าลองไปดูยอดของบัญชีที่เข้ามา มันจะเข้ามาเป็นยอดหลักร้อยเป็นส่วนใหญ่ หลักพันน้อย หลักหมื่นไม่ต้องพูดถึงนานๆ มาที เพราะฉะนั้นจึงเป็นการแสดงออกทางการเมืองของคนตัวเล็กในเรื่องของเศรษฐกิจ คือมีเงินแค่นี้ก็ออกไป และขณะเดียวกันมันก็แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองของพวกเขาด้วย

เนื่องจากเงินจำนวนน้อยไปบวกกับตัวเลขที่มีนัยยะทางการเมือง ซึ่งตัวเลขยอกนิยมก็คือ 112 กับ 2475 โดย 112 ก็อาจจะชอบมาเป็น 112 บาทบ้าง หรือ 1,120 บ้าง หรือ 2475 ก็ซอยเป็น 24.75 บ้าง ที่น่าสนใจก็คือหลังจากที่ตั้งเป็นมูลนิธิแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2565 แล้ว มีการรายงานผล ซึ่งสามารถดูได้จากเพจของมูลนิธิสิทธิอิสรา ยอดบริจาคส่วนใหญ่จะมาอยู่ที่ 100-199 บาท คิดเป็นคิดเป็น 60 กว่า เปอร์เซ็นของผู้บริจาคเข้ามาทั้งหมด และถ้าคิดสัดส่วนเป็นเงินที่อยู่ในกองทุนในรอบเงินปีของงบประมาณปีนั้นที่เขาแจ้ง คิดเป็น 30 กว่าเปอร์เซ็น”

รศ.ดร.อนุสรณ์ชี้ว่า สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกเหนือจากการบริจาคอย่างสม่ำเสมอแล้ว เรายังเห็นเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน ในการบริจาคคิดว่าเป็น 2 เหตุการณ์ใหญ่ๆ คือ เหตุการณ์หนึ่งที่อยากจะยก เป็นเหตุการณ์ที่สลายการชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้า ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2564 หลังจากที่ตั้งกองทุนราษฎรประสงค์ได้แค่ 2 เดือน ในคืนนั้นมีคนถูกจับ 99 คน และจำเป็นต้องระดมทุนในการประกันตัวทั้ง 99 คน

“ตอนนั้นหัวค่ำเพจของกองทุนราษฎรประสงค์แจ้งไป ภายในคืนนั้นมีคนโอนเงินเข้ามาในบัญชีเกือบ 4,000 คน แล้วบางนาทีมีคนโอนเข้ามาเป็นร้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 3 ทุ่มกว่า และเงินบริจาคที่น่าสนใจ คือ เงินหลักสิบ หลักร้อย และมีหน้าหนึ่งมีตัวเลขโอนเข้า 30 คน แต่ประมาณ 26 คน เป็นหลักร้อยส่วนใหญ่ ซึ่งใส่มาเป็นตัวเลข 112 เป็นส่วนใหญ่ หรือ 112.20 หรือ 247.5 กินเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ คือมันชี้ให้เห็นว่าถึงแม้จะเป็นเงินน้อยนิด แต่ระดมกันมาอย่างกว้างขวาง และขณะเดียวกันก็แฝงนัยยะทางการเมืองเอามาไว้ด้วย นี่ก็คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ยอมจำนนของคนตัวเล็กที่มีต่อการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม”

รศ.ดร.อนุสรณ์ชี้ว่า อีกเหตุการณ์ที่มีความสืบเนื่องและคงทนที่สุดเท่าเรามีอยู่ตอนนี้ คือ การชุมนุมใหญ่ของขบวนการเยาวชนหลังจากวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 และมีการสลายในเช้าวันที่ 15 ตุลาคม ก็ไม่มีการจัดการชุมนุมใหญ่อีก หลังจากนั้นก็เป็นกลุ่มย่อยกระจัดกระจายกันออกไป ใช้วิธีการเคลื่อนไหวเผชิญหน้า เกิดกลุ่มอาจเรียกว่า กลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่ม REDEM กลุ่มทะลุวัง หรือกลุ่มมังกรปฏิวัติ ก็เป็นกลุ่มเล็กหมด แต่ไม่ได้มีมวลชนเข้าไปร่วมขนาดใหญ่ที่มีการปราศรัย

อีก 2 กิจกรรมก็มีความหนาแน่นของเวลานั้น แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ หายไป ในส่วนของคาร์ม็อบ หนาแน่นในช่วงกรกฏาคม ต่อเนื่องถึงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2564 ถึงแม้จะมีการกระจายตัวไปตามภูมิภาค ออกไปตามต่างจังหวัด ภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือลงไปถึงภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีเยอะ ไม่ใช่คาร์ม็อบ แต่เป็นจักรยานยนต์ หลังจากช่วงเดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป กิจกรรมคาร์ม็อบที่จัดแนวนี้เป็นขนาดใหญ่ก็หมดไป ซึ่งก็เป็นทิศทางเดียวกับในกรุงเทพฯที่หายไป

หากดูไปในส่วนของ ‘ยืนหยุดขัง’ ก็ขยายตัวกว้างขวาง ทั้งกรุงเทพฯ หลายจุดหลักๆ อย่างหน้าศาลฎีกา มีที่ภาคเหนือ ประตูท่าแพ หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรืออย่างภาคใต้ อยุธยา นครปฐม แต่ก็จะมีบางจังหวะที่จัดไม่ได้ เลื่อนบ้าง หรือตอนนี้ก็อาจต้องทบทวนว่าหลังจากนี้จะจัดอย่างไรดี เหมือนกับความต่อเนื่องสม่ำเสมอก็เป็นโจทย์ใหญ่เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรต่อ โดยเฉพาะสำหรับกรณียืนหยุดขัง เพราะดูสถานการร์แล้วคงไม่สามารถที่จะทำให้ยอดของผู้ที่ถูกประกันตัวเหลือเป็น 0 ได้ เพราะก่อนหน้านี้ยืนหยุดขังจัดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งที่ 1 จัดตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2564 และก็จัดมาต่อเนื่องหลายเดือนเหมือนกัน และหลังจากนั้นก็หยุดไป เนื่องจากว่าคนที่ถูกตั้งข้อหา ดำเนินคดี ได้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวหมด ก่อนที่จะมาจัดรอบที่ 2 ช่วงหนึ่งแล้วก็หมด คนได้รับการประกันตัวหมด พอรอบที่ 3 นี้ก็เกือบ 365 วันแล้ว ก็จะต้องมาคิดกันว่าจะเอาอย่างไรต่อดี เนื่องจากว่าการมายืน ก็เรียกร้องอะไรได้พอสมควร

“ถ้าเราเปรียบเทียบกับกองทุนราษฎรประสงค์ มันเอื้ออำนวยให้สามารถที่จะมีส่วนร่วมหรือการแสดงออกอย่างต่อเนื่องได้ง่ายกว่า ผมเคยไปสัมภาษณ์คนหนึ่งเขาบอกว่า เขารู้สึกไม่สะดวกถ้าเกิดจะไปปรากฏตัวอย่างยืนหยุดขัง ถึงแม้จะไม่ได้มีลักษณะที่มีความผิดในตัวเอง แต่ก็จะตกเป็นเป้าสายตา หรือเป็นที่จับจ้องของหน่วยงานความมั่นคง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มา ถ้าคุณไม่อยากอยู่ในลิสต์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าร่วมได้มาก ถึงแม้ใจจะอยากไปเข้าร่วมเหมือนกัน

แต่กรณีกองทุนราษฎรประสงค์ มันไม่ได้เรียกร้องอะไรเลย กี่บาทก็ได้ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับกับแกนนำขึ้นมานัดการชุมนุม นัดมาทำกิจกรรมอะไร มันจึงเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้กับคนตัวเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่มีคนคุ้มกัน อย่างที่บอกว่าคนตัวเล็ก ไม่ได้หมายความเฉพาะในส่วนของสถานะทางเศรษฐกิจ แต่มันหมายถึงสถานะทางสังคมด้วย ถ้าคุณเป็นคนตัวเล็กที่ไม่มีเกราะคุ้มครองป้องกัน การที่คุณพาตัวเองไปยืนหยุดขัง การที่คุณพาตัวเองไปอยู่ในขบวนที่ถูกจับจ้อง มันไม่ได้เป็นสิ่งที่คุณประสงค์สักเท่าไหร่ ถึงคุณจะมีใจให้ ฉะนั้นกองทุนราษฎรประสงค์มันจึงเป็นทางเลือกของคนตัวเล็ก ที่ไม่ยอมจำนนของการใช้อำนาจที่ไม่ยุติธรรม และเหตุนี้มันจึงเป็นการสืบเนื่องคงทนมากที่สุด” รศ.ดร.อนุสรณ์ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image