เยาวชนรับไม่ได้ เหมือน ‘ชาวบางกลอย’ เช่าที่ดินรัฐอยู่? ชวนตั้งคำถาม ตจว.ไม่มีงานแบบ กทม.?

‘กัญญ์วรา’ อาสาสิทธิมนุษยชนคนรุ่นใหม่ ปลุกพลัง “การร่วมตั้งคำถาม” พังทลายโครงสร้างที่กดทับสังคม

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ GalileOasis เขตราชเทวี กรุงเทพฯ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (Thai Volunteer Service) จัดกิจกรรม “Light of Rights แสง-สร้าง-สิทธิ” เพื่อบทสรุปการเรียนรู้ประเด็นทางสังคม ของอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่น 17

บรรยากาศเวลา 14.10 น. มีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับการปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดยมี อาสาสมัครนักสิทธิที่ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ร่วมล้อมวงแชร์ประสบการณ์ อาทิ น.ส.กัญญ์วรา หมื่นแก้ว, น.ส.นันท์ธีรา ดารารัตน์, น.ส.ชนัตตำ บิลม่าหลี และ นายสิทธิพัฒน์ ทองสุข ดำเนินรายการโดย น.ส.จิดาภา เอกอัคร หรือ ผึ้ง

ในตอนหนึ่งของ น.ส.กัญญ์วรา หมื่นแก้ว อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 17 ได้กล่าวถึงนิยาม “คนรุ่นใหม่” ว่า คนรุ่นใหม่ในมุมส่วนตัว ไม่ได้คิดว่าคนรุ่นใหม่จะถูกนิยามหรือจำกัดกรอบด้วยอายุ หรือเจนเนอเรชั่น แต่มองไปที่แนวคิดหรือวิธีคิดมากกว่า

Advertisement

“ถึงคุณจะอายุ 40 50 60 70 หรือ 80 ปี หรือว่าอายุเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ตราบใดที่คุณอัพเดตชุดความคิดบางอย่างของคุณ เราก็นับเป็นคนรุ่นใหม่ หมายถึง เรานับวิธีการคิด หรือ มุมมอง” น.ส.กัญญ์วรากล่าว

เมื่อพิธีกรถามว่าในฐานะคนรุ่นใหม่ ทำไมถึงเข้ามาทำงานด้านการปกป้องสิทธิเสรีภาพ ?

น.ส.กัญญ์วรากล่าวว่า สายงานที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่เกี่ยวกับสายการศึกษาแต่อย่างใด แต่จุดเริ่มต้นนับว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัว ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นช่วงปี 2562-2563 ที่มีกระแสทางการเมือง ตนออกไปชุมนุมทางการเมือง รวมถึงมีข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เราได้รับรู้ เรารับรู้ข้อมูลมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ตามยุคสมัย ซึ่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เราไม่เคยรู้ก็ทำให้เริ่มตั้งคำถามมากขึ้น จนมีการชุมนุมทางการเมือง ปี 2562-2563 ซึ่งตนก็ไปร่วมการชุมนุม จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่เชื่อมโยงเรากับประเด็นที่เราทำอยู่

Advertisement

“เราก็ไปเจอม็อบหนึ่ง ถ้าคนทั่วไปใช้ก็จะใช้ว่า ม็อบชาวบ้าน ม็อบพี่น้องบางกลอย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) มาชุมนุมที่ข้างธรรมเนียบ เราก็แบบเขามาทำอะไรกัน อาศัยช่วงเลิกเรียนที่เราไม่ได้ทำอะไร เราก็ไปร่วม ไปฟังว่าเขามาเรียกร้องอะไร ส่วนตัวเรารู้สึกว่าพอออกไปชุมนุมทางการเมือง ออกไปเรียกร้องรัฐบาลอะไรแบบนี้ ก็รู้สึกว่าสิ่งที่พี่น้องชาวบ้านออกมาเรียกร้องข้างทำเนียบตรงนั้น ได้รับความสนใจน้อยมาก ไม่ได้เป็นม็อบใหญ่หรืออยู่ในกระแสหลัก สื่อไม่ได้ทำข่าวม็อบชาวบ้านหรือม็อบพี่น้องเลย แต่สิ่งที่เขากำลังมาเรียกร้อง สิ่งที่เขาสื่อสารออกไปก็คือรัฐบาล หมายถึงว่าสิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบหรือปัญหากับเขาคือรัฐบาลก็คือปัญหาเชิงโครงสร้าง เราก็รู้สึกว่าทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาในสังคม มันก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นโครงสร้างเดียวกัน” น.ส.กัญญ์วราเผย

น.ส.กัญญ์วรากล่าวต่อว่า ตนรู้สึกสนใจประเด็นพี่น้องชาติพันธุ์อย่างมาก ก็ได้เจอโครงการของ มูลนิธิอาสาเพื่อสังคม (มอส.) แล้วก็เห็นว่ามีองค์กรที่ตนเคยไปสัมภาษณ์ เคยไปคุยกับชาวบ้านบางกลอย หรือม็อบพี่น้อง คือ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) มาเปิดรับอาสานักสิทธิ ก็มาลองสมัคร มอส.ดู เราก็อยากรู้ให้มันลึกขึ้น อยากลองพาตัวเองไปอยู่กับการทำงานที่ไม่ได้ตอบสนองทางการเงินอย่างเดียว เราอยากทำงานที่มันตอบสนองความเชื่อ ความหวัง และอุดมการณ์ของเราด้วย

“เงินเราก็อยากได้นะ เราไม่ได้อยากทำงานฟรี เชื่อว่าทุกคนไม่ได้อยากทำงานฟรี แต่เราคิดว่าถ้าเราได้ทำงานที่เราอยากทำ แล้วมันมีความหมาย ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีความหมายสำหรับคนอื่น หรือคนรอบข้างที่ไม่ได้เห็นด้วย แต่ว่ามันแค่มีความหมายกับชีวิตเรา ณ ขณะนี้ ก็พยายามอธิบายเท่าอธิบายให้เขาเข้าใจได้ ถ้าเขาไม่เข้าใจในตอนนี้ก็ไม่เป็นไร อีก 2-3 ปี เราอาจจะไม่ได้ทำงานสายนี้ก็ได้ แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่างานแบบนี้มันตอบสนองความเชื่อ และอุดมการณ์ของเรา ณ ตอนนี้” น.ส.กัญญ์วราเผย

น.ส.กัญญ์วรา ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทำงานด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนว่า องค์กรที่ตนไปทำ เป็นประเด็นเกี่ยวกับปัญหาป่าไม้ ที่ดิน ทั้งนอกเขตป่าและในเขตป่า ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงสิทธิของพี่น้องชาวชาติพันธุ์ อยากชวนทุกคนกลับไปดูว่า สิ่งที่มันเป็นปัญหาในประเด็นด้านนี้คืออะไร สิ่งที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องต้องการ หรือสิ่งที่ส่งผลกระทบกับเขาว่าคืออะไร มันคือเรื่องประเด็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่เป็นบ้าน เป็นแหล่งอาชีพ หรือว่าเป็นบริเวณพื้นที่ที่เขาดำรงชีวิตอยู่

“ทุกคนมีที่อยู่อาศัย อยากให้กลับไปดูว่ามั่นคงไหม มันปลอดภัยทางความรู้สึกไหม เราอยู่บ้านเราแล้วเราต้องหวาดระแวงไหมว่าวันดีคืนดีเราจะถูกอพยพออกจากบ้าน หรือวันดีคืนดีจะมีกฎหมายประหลาดๆ หรือมีเขตพื้นที่ประหลาดๆ มาประกาศทับบ้านที่เราอยู่” น.ส.กัญญ์วราชี้

น.ส.กัญญ์วราเผยว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าสิ่งที่ชาวบ้านพี่น้องต่อสู้เรียกร้อง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมากๆ ตลอดเวลาที่ทำงาน เราได้เห็นข้อมูล พอมองย้อนกลับไป เราก็ตั้งคำถามว่ากฎหมายหรือเขตพื้นที่อุทยาน ป่าสงวน เขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรืออะไรก็แล้วแต่ กับบ้านคนหรือสิ่งที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ สิ่งไหนเกิดก่อนกัน

“มองแบบง่ายๆ พื้นฐานก็คือ ถ้าบ้านพี่น้องอยู่ตรงนั้นก่อน มีชุมชนอยู่ตรงนั้น มีคนอยู่ในพื้นที่ป่าตรงนั้น แล้วกฎหมายมาทีหลังแบบนี้เท่ากับกฎหมายละเมิดรึเปล่า” น.ส.กัญญ์วราชี้

น.ส.กัญญ์วรากล่าวต่อว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ บางกลอย ไม่ได้ต่อต้านหรือคัดค้านการมีอุทยาน ป่าสงวน หรือเขตห้ามล่า มีได้ แต่ขออย่ามาทับที่อยู่ที่ทำกินของเราเท่านั้นเอง

“เขาไม่ได้ต่อต้าน ห้ามมีอุทยาน มันมีได้แต่คุณต้องกันขอบเขตให้ชัดเจน สถานการณ์ตอนนี้ถึงแม้จะไม่ได้มีความรุนแรง แบบช่วงทวงคืนผืนป่าของ คสช.หลังรัฐประหารปี 57 แต่เครื่องมือที่รัฐใช้ในการแย่งยึดยึดที่ดินของชาวบ้านมันเปลี่ยนแปลงไป มันไม่ได้คุกคามทางด้านกายภาพที่เราเห็นได้รุนแรง ไม่ได้เห็นการดำเนินคดียึดที่อพย ไม่ใช่

“แต่รัฐหรือหน่วยงานก็มีการปรับตัวเหมือนกัน เครื่องมือที่เขาใช้มันอาจดูซอฟต์ มาในรูปแบบของโครงการปลูกป่า มันดูเหมือนชาวบ้านได้ผลประโยชน์ แต่มากางดูในเงื่อนไขจริงๆ เงื่อนไขเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในโครงการ หรือเงื่อนไขที่รัฐหยิบยื่นมาให้ชาวบ้านนั้น มันเหมือนเป็นการที่ถ้าชาวบ้านยอมรับเงื่อนไขของรัฐ ก็เหมือนกับเช่าที่ดินของรัฐอยู่ มันเหมือนจะดี ตีกางดูลึกๆ ที่จริงแล้วมันไม่ดี เพราะฉะนั้นเราเลยไม่ยอมรับ” น.ส.กัญญ์วราชี้

น.ส.กัญญ์วรากล่าวต่อว่า เรารู้สึกว่าความน่าสนใจของประเด็นงานในด้านนี้คือ การน่าตั้งคำถามมากกว่าว่า ทำไมสิ่งพื้นฐานที่เราทุกคนนั่งอยู่ตรงนี้ มีบ้าน มีอาชีพ สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องหวาดระแวงในเมือง แล้วทำไมบ้านเขาอยู่ในพื้นที่ป่าตรงนั้น ทำไมต้องหวาดระแวง รู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ทั้งๆ ที่บ้านมันก็เป็นบ้านของเขา เขามาอยู่มาก่อนที่จะมีกฎหมายหรือเขตพื้นที่ป่าไม้เหล่านี้ด้วยซ้ำ เงื่อนไขของรัฐมันไม่ใช่การให้กรรมสิทธิโดยที่ให้จริงๆ มันเหมือนจะดี แต่ถ้ากางดูดีๆ เขาอยู่นี่มาก่อนกฎหมายด้วยซ้ำ

เมื่อถามว่า จากการทำงานประเด็นด้านสิทธิ เจอความท้าทายอะไรบ้าง?

น.ส.กัญญ์วรากล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าเป็นความท้าทายหรือไม่ เพราะเป็นประเด็นที่ไม่ได้รู้จักมากขนาดนั้น จึงต้องทำงานกับตัวเองอย่างหนักในเรื่องของการเรียนรู้ประเด็น เราไม่สามารถไปคุยกับชาวบ้าน หรือลงพื้นที่ไปคุยกับเจ้าของปัญหาได้โดยที่ไม่รู้เราไม่รู้สถานการณ์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขามาก่อน จึงต้องทำงานเรื่องข้อมูลให้หนัก แล้วเรื่อของฝ่ายที่เราทำงานมันเกี่ยวกับฝ่ายสื่อสารสาธารณะ

“เราจบครูมา มันไม่ใช่สายงานที่เราถนัดมาก มันเป็นความท้าทายในลักษณะการทำงานและประด็นของการทำงาน รู้สึกว่ามันต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็มีต้องอัพเดตตัวเองตลอดเวลา ถ้ารัฐบาลออกนโยบายนี้มา มีโครงการนี้มา เหมือนเราก็ต้องอัพเดตให้ทันสถานการณ์ เพื่อที่เราจะได้เอาสิ่งเหล่านี้ไปเติมให้กับชุมนุม ให้เขาทราบเท่าทันว่าจะมีสิ่งแบบนี้เกิดขึ้นกับชุมชนเขานะ มันจะมีสถานการณ์แบบนี้ มันเหมือนกับว่าต้องตื่นตัว” น.ส.กัญญ์วราเผย

เมื่อถามถึงความหวังในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ความหวังต่อสังคมไทย และสิทธิมนุษยชนในอนาคต ว่าเป็นอย่างไร?

น.ส.กัญญ์วรากล่าวว่า ส่วนตัวยังมีความหวังอยู่ในประเด็นสิทธิมนุษยชนในบ้านเรา และอยากให้ทุกคุณในสังคมมีความหวังร่วมกันต่อไป คุณไม่ต้องมาเรียกร้องเรื่องป่าไม้ที่ดินกับเราก็ได้ แต่อยากให้ลองกลับไปสังเกตชีวิตของทุกคนดูว่า ชีวิตเราสบาย มีความสุขจริงไหม หรือมันดีมากกว่านี้ได้อีก ชีวิตเราไม่มีปัญหาจริงๆ หรือเปล่า

“เราเชื่อในความสงสัยและการตั้งคำถาม เราอยากให้มันมีความสงสัย อยากให้มีการตั้งคำถามเยอะๆ มันจะนำไปสู่การหาคำตอบ หรือหาแนวทางที่จะมาตอบความสงสัยของตัวเอง เรามีความคิดเรื่องแบบนี้กับประเด็นสิทธิบ้านเราเหมือนกัน ลองตั้งคำถามกับตัวเองดู แล้วก็อยากให้เชื่อมั่นในอำนาจที่มันเป็นของเราจริงๆ วันนี้เราอาจจะรู้สึกว่าอำนาจประชาชนมันไม่ได้อยู่ในมือของเราจริงๆ มันมีคนบางกลุ่ม บางคน บางพวกที่ดึงอำนาจไปจากมือเราไป ด้วยรูปแบบอำนาจที่แยบยลมาก แต่เชื่อเถอะว่าอำนาจจริงๆ มันเป็นของเรา อยากให้มีความเชื่อมั่นและมีความหวังต่อไป” น.ส.กัญญ์วราระบุ

น.ส.กัญญ์วรากล่าวอีกว่า สุดท้าย สิ่งที่สำคัญ คือ ไม่ต้องเชื่อทุกอย่างที่เราพูดก็ได้ ก่อนที่เราจะเชื่ออะไรไป อยากให้คุณเชื่อเพราะตัวคุณจริงๆ ไม่ใช่เชื่อเพราะเราบอก แต่อยากให้มีการเอ๊ะ มีความสงสัย การตั้งคำถาม

“มองเห็นคนเหมือนกันในสังคมเดียวกัน เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แล้วก็เป็นคนๆ หนึ่ง คนอื่นๆ ที่อยู่ในสังคมเราก็เป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันกับเรา การเคารพความเป็นมนุษย์มันเป็นขึ้นพื้นฐานมากๆ ที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดจนตาย เรารู้สึกว่าถ้าคนในสังคมเคารพสิ่งนี้ เคารพซึ่งกันและกัน เราจะอยู่ร่วมได้บนความหลากหลาย แต่ว่าบนความหลากหลายมีสิ่งที่เหมือนกันนี้ ก็คือความเป็นมนุษย์ ถ้าเราเข้าใจในความหลากหลายตรงนี้ได้ เราก็จะทำอะไรบางอย่างแบบทลายสิ่งที่มันกดทับความเป็นมนุยษ์ของพวกเราอยู่ได้” น.ส.กัญญ์วรากล่าว

น.ส.กัญญ์วรากล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับคนที่ตื่นแล้ว คนที่รับรู้แล้วว่ามีปัญหา ไม่ปกติ อยากให้มีความหวังต่อไป ถ้าเหนื่อยก็พักแล้วก็ทำต่อไป

“เชื่อเถอะว่าสิ่งที่กดทับเราอยู่มันเกลียดมาก มันเกลียดการตื่นรู้ของเรา มันเกลียดการพยายามต่อต้านเรียกร้องของเรา อยากให้เชื่อมั่นในความเป็นคนของเรา เหนื่อยก็พักแล้วให้ทำต่อไป อย่างน้อยถ้าเรายังทำต่อเรื่อยๆ มันก็เป็นตัวเร่งเวลาให้โครงสร้างหรืออะไรก็ตามที่กดทับเรา พังทลายเร็วขึ้น ถ้าเราปล่อยให้เวลาทำงานของมันแล้วโครงสร้างก็จะพังช้าลง แต่ถ้าเราหรือทุกคนเข้ามาเป็นตัวเร่ง ให้โครงสร้างนี้มันจบไวเท่าไหร่ ก็จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตแบบที่เราอยากใช้ ได้ไวเท่านั้น

“แต่สำหรับคนที่บอกว่า มันก็ปกติดี มันปกติจริงหรือ? ลองตั้งคำถามกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ดู อย่างรถติด หรือการที่คนเข้ามาทำงานในเมืองหลวง จังหวัดที่มันเล็กมากแต่มีคนมาทำงานไม่รู้กี่ล้านคน ต่างจังหวัดไม่มีงานเหรอ ตั้งคำถามจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว ลองดูว่ามันปกติจริงหรือป่าว หรือจริงๆ แล้วมันไม่ปกติเลย แต่เราถูกสังคมทำให้เรารู้สึกว่ามันปกติ” น.ส.กัญญ์วราชี้

อ่านข่าว : อาสาสมัครศูนย์ทนายฯ เอะใจ ‘คดีการเมือง’ ผิดปกติ ได้ประกันสักพักถูกถอน – ขังก่อน ไม่ให้ทนายเข้า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image