พิธา เชือดกลับชาดา ให้เลิกนโยบายหาเสียง ยันเป็นผู้นำต้องพูดแล้วทำ เหมือนสโลแกน ภท.

‘พิธา’ ลุกแจง ย้ำมีคุณสมบัติเสนอชื่อเป็นนายกฯ ยัน ถาม ป.ป.ช.เรื่องคุณสมบัติตั้งแต่เป็น ส.ส. ซัด ‘ชาดา’ เวทีนี้เลือกนายกฯ ไม่ใช่เวทีแก้ กม.​ ฉะ เลือกนายกฯ ปี 62 ไม่เห็นแตกแถว ทั้งที่มีเสียง 249 เหน็บรัฐสภา จะมีศาลเตี้ยไม่ได้

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272  โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมกับมีผู้รับรองชื่อถูกต้อง ก่อนเปิดอภิปรายนั้น

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ต่อมา เวลา 11.00 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิงว่า กรณีที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ติติงบุคลิกของตน ได้ติติงภาวะผู้นำของตน ซึ่งตนก็กำลังพัฒนาอยู่เหมือนกัน พยายามที่จะพัฒนาให้เป็นคนที่ฟังมากกว่าพูด ตนก็พัฒนาภาวะผู้นำของตนให้เป็นคนที่รักษาคำพูด เหมือนกับสโลแกนของพรรค ภท.เป๊ะว่า “พูดแล้วทำ” เพราะเฉพาะสัญญาที่เคยให้ไว้กับพี่น้องประชาชนอย่างไร ก็คงที่จะต้องทำตามอย่างนั้น และตนยังพยายามที่จะพัฒนา และคุณลักษณะความเป็นผู้นำของตนว่า ถึงตนจะไม่เห็นด้วยกับทุกเรื่องกับที่นายชาดาพูดมา แต่ตนเห็นว่า ท่านมีเสรีภาพในการที่จะพูด และนี่คือหน้าที่ของรัฐสภา ที่นายชาดาก็มีประสบการณ์แบบหนึ่ง มีความคิดแบบหนึ่ง ตนก็มีชุดความคิดและประสบการณ์แบบหนึ่ง นี่คือสาเหตุที่เราต้องใช้รัฐสภาในการแก้กฎหมายนิติบัญญัติ และข้อขัดแย้งตลอดมาของประเทศไทย นี่คือสิ่งที่ตนอยากเห็นตั้งแต่สมัยที่แล้ว สิ่งที่นายชาดาพูดถึงเรื่องของการลดโทษ มีการคุ้มครอง ซึ่งเวทีนี้เป็นเวทีเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เวทีในการแก้ไขกฎหมายใดๆ ฉะนั้นตรงนี้ตนคิดว่าเป็นบรรยากาศที่ดี

Advertisement

“ผู้นำที่ดีของประเทศนี้ต้องมีความอดทน อดกลั้น รับฟังข้อกล่าวหาที่จะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ นี่คือสี่ข้อที่ผมสัญญาผ่านประธานไปยังนายชาดา และพรรคที่อยู่ในรัฐสภา รวมถึงสภาสูง ว่านี่เป็นสี่คุณลักษณะสำคัญที่ผู้นำของประเทศไทยควรที่จะมี” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวต่อว่า เรื่องที่ตนเห็นด้วยกับนายชาดาคือ เรื่องที่ไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู 8 พรรค อย่างที่เข้าใจ เพราะเอ็มโอยู 8 พรรคคือ ความเข้าใจร่วมกันของพวกเราในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้ง 8 พรรคในการที่จะเข้าสู่อำนาจเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล แต่การแก้ไขใช้กฎหมายอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และเมื่อเรายื่นเสนอข้อกฎหมายก็ไม่มีใครผูกขาด ชุดความคิดใดชุดความคิดหนึ่งก็ได้ คนที่อายุมากกว่าตนก็อาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง คนรุ่นตนก็อาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง คนที่อายุน้อยกว่าตนก็อาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง นี่คือหน้าที่ของสภาในการแก้ไขข้อขัดแย้ง

ผู้แทนราษฎรก็คือผู้แทนราษฎร ที่มีความคิดแตกต่าง แล้วถ้าเราพูดกันอย่างมีวุฒิภาวะ พูดกันอย่างไม่มีคำหยาบคาย แล้วใช้เหตุใช้ผลกัน นี่คือทางออกของประเทศในทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ตนเห็นด้วยกับนายชาดา มากเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยอาจจะเป็นข้อที่ยังคลางแคลงใจอยู่ คือเรื่องเกี่ยวกับศาลอาญาระะหว่างประเทศ หมายความว่า อาชญากรรมทางสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ข้อที่ นายชาดา อาจจะกังวลคือข้อที่ 27 แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เป็นระบบเดียวกับเรา ระะบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มีอยู่ 123 ประเทศ

Advertisement

“ฉะนั้นตรงนี้ถ้าเราเข้าใจว่า จริงแล้วพระองค์ท่านอยู่เหนือการเมือง และท่านทรงใช้อำนาจผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอย่างที่กล่าวหา ผมไม่เห็นด้วยอย่างแรง และการที่จะบอกว่า สิ่งที่น่ากลัวในการเข้าศาลอาญาระหว่างประเทศ คือการที่มีคนพูดบอกว่า ใครหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์​เอาปืนไปยิงมันเลย ผมไม่แน่ใจว่า คนที่สูญเสียไปตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิงเมื่อหลายปีก่อน 99 ศพ ที่ราชประสงค์ และย้อนหลังไปถึง 6 ตุลา 14 ตุลา เป็นต้น ที่ยังไม่รู้ว่า วัฒนธรรมรับผิดรับชอบสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนอภิปรายเรื่องนี้ในสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวว่า ส่วนกรณีที่ นายประพันธ์ คุณมี ส.ว. พาดพิงนั้น ขอยืนยันกับสมาชิกรัฐสภา 750 คนว่า ตนยังมีคุณสมบัติสมบูรณ์แบบทุกประการและด้วยความชอบธรรม แม้ว่าจะเป็นกระบวนการที่ตนเองก็ยังไม่รู้เลยว่าข้อกล่าวหาคืออะไร ยังไม่รู้เลยว่าสงสัยในประเด็นไหน แล้วหลักการที่บอกว่า สมมุติฐานไว้ว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน ซึ่งเข้าใจว่าเพื่อนๆ ที่อยู่ในแวดวงทนาย ตุลาการ เข้าใจเรื่องนี้ดี มันมีศาลเตี้ยในรัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้ ตนยังไม่มีโอกาสชี้แจงแม้แต่ครั้งเดียว

“คราวที่แล้วปี 62 ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้กระทบการเลือกนายกรัฐมนตรี หากผมจำไม่ผิด มีคนบอกว่ารัฐบาลเสียงข้างมากที่รวมเสียงได้มากที่สุดก็จะออกมา 249 เสียง ก็เป็นตามนั้นไม่มีแตกแถว ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นไม่ต้องกังวล ที่ท่านบอกว่า ม.6 ขึ้นมหาวิทยาลัย เรื่องของวิญญูชน ผมรัดกุมมาตลอด เกี่ยวกับการยื่น ป.ป.ช. รัดกุมมาตลอด เกี่ยวกับคุณสมบัติ สอบถาม ป.ป.ช.ทุกครั้งที่เป็น ส.ส. ตั้งแต่ครั้งแรก จนครั้งนี้ และต่อไป เพราะผมยอมรับในการตรวจสอบ ก็ยังดีกว่าบางคนที่ไม่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช.หรือ กกต.” นายพิธากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image