เปิดคำร้องยื่นฟัน235ส.ว. คว่ำ‘พิธา’นั่งนายกฯข้างมาก

เปิดคำร้องยื่นฟัน235ส.ว. คว่ำ‘พิธา’นั่งนายกฯข้างมาก หมายเหตุ - รายละเอียดของคำร้อง

หมายเหตุ – รายละเอียดของคำร้องที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ยื่นร้องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการเอาผิดสมาชิกวุฒิสภา 235 คน กล่าวหามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอันมีลักษณะร้ายแรงตามมาตรา 234-235 ของรัฐธรรมนูญ กรณีไม่ลงมติเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่รวมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้ เป็นนายกฯ ถือเป็นการไม่ ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ด้วยปรากฏว่า จากการที่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวนหนึ่งได้ออกมาแสดงจุดยืนและความคิดเห็นต่อสาธารณชนผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคม ที่จะไม่ยอมรับว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งและสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ สมควรได้รับการลงมติโดยรัฐสภาให้จัดตั้งรัฐบาลตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข พฤติกรรมดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันมีลักษณะร้ายแรง โดยมีข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงและเหตุผล ดังต่อไปนี้

1.มาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้รัฐพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดินทุกส่วนเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และในวรรคสาม บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวล จริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว” นอกจากนี้ ในมาตรา 219 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้กำหนดมาตรฐานทาง จริยธรรมขึ้นบังคับใช้ ซึ่งในการจัดทำต้องรับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี โดยเนื้อหาต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรมบังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิก วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย ในส่วนของการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในมาตรา 234 กําหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) มีอํานาจหน้าที่ไต่สวน และมีความเห็นหากมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฝ่าฝืน ส่วนขั้นตอนการดำเนินการของ ป.ป.ช. ถูกระบุไว้ใน มาตรา 235 คือ ให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและหากข้อสรุปเป็นเสียงที่ได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงเสนอต่อศาลฎีกา เมื่อศาลฎีการับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และหากผู้ถูกกล่าวหาถูกคำพิพากษาว่ามีความผิดจริง ต้องพ้นจากตำแหน่ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิรับ เลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีได้อีกด้วย

2.ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐซึ่งมีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 116 คน สามารถรวบรวมเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอื่นๆ รวมกันเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ จำนวน 252 คน จากจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมด 500 คน จึงได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคอื่นๆ ที่รวมตัวกันเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ผลการลงมติปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการลงมติให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้รับคะแนนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 251 เสียง (งดออกเสียง 1 คน) จากสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 249 เสียง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 99.6 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 250 คน ทั้งนี้ โดยสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวให้เหตุผลว่า การลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามนัยมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

Advertisement

3.ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จัดให้มีขึ้น ปรากฏว่าสมาชิกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด จึงได้เป็นผู้นำในการรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ปรากฏว่าพรรค ก.ก.สามารถเชิญชวนให้พรรคการเมืองอื่นเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้โดยรวบรวมเสียงจากสมาชิกพรรคต่างๆ ที่ได้รับการเลือกตั้งได้จำนวน 312 คน เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน แต่ปรากฏว่า มี ส.ว.จำนวนหนึ่งออกมาประกาศต่อสาธารณชนว่า ในการประชุมรัฐสภาเพื่อลงคะแนนเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะไม่ยอมลงคะแนนเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าจะสามารถรวบรวมผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จากพรรคต่างๆ รวมกันจนมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม โดยแต่ละคนมีข้ออ้างและเหตุผลที่สรุปได้ว่า จะไม่ยอมรับการมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่เกิดจากการรวมตัวกันของพรรคการเมือง 8 พรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค มีพฤติการณ์ไม่จงรักภักดีและต้องการจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะได้ประกาศไว้ชัดเจนว่าจะเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งๆ ที่การเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารและเป็นสิทธิโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายใดๆ ได้ตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการแสดงเจตนาว่าจะไม่ปฏิบัติตามประเพณีในการลงมติเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยถือเอาเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเป็นเกณฑ์แล้ว ยังเป็นการแสดงตนว่าไม่ “ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอันมีลักษณะร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

4.ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ได้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ผลการลงมติปรากฏว่านายพิธาได้รับคะแนนเห็นชอบ 324 ซึ่งไม่เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภารวมกันทั้งหมด จำนวน 749 คน โดยปรากฏว่ามีสมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนให้ความเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 13 คน ได้แก่ 1.ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 3.นายเฉลา พวงมาลัย 4.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล 5.พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง 6.นางประภาศรี สุฉันทบุตร 7.นายพิศาล มาณวพัฒน์ 8.นายพีระศักดิ์ พอจิต 9.นายมณเฑียร บุญตัน 10.นายวันชัย สอนศิริ 11.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 12.นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ 13.นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

นอกจากนั้น มีสมาชิกวุฒิสภาที่ลงมติไม่เห็นชอบ 34 คน งดออกเสียง 159 คน (งดออกเสียงในฐานะประธานวุฒิสภา 1 คน) ไม่เข้าประชุม 43 คน ถึงแม้สมาชิกวุฒิสภาที่งดออกเสียงและที่ไม่เข้าประชุมจะมิได้ลงมติไม่เห็นชอบด้วย ก็เท่ากับเป็นการลงมติไม่เห็นชอบนั่นเอง รวมเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ถือได้ว่าลงมติไม่เห็นชอบ จำนวน 235 คน และเป็นการไม่ยึดถือตามแนวทางปฏิบัติในการลงมติของสมาชิกวุฒิสภาที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 โดยอ้างเหตุผลว่า มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 251 เสียงให้การสนับสนุน

Advertisement

ดังนั้นการที่ ส.ว.จำนวน 235 คน ปฏิเสธไม่ลงมติเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงถือได้ว่าเป็นการไม่ “ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอันมีลักษณะร้ายแรง ตามมาตรฐานทาง จริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ.2561 ข้อ 27 ประกอบกับข้อ 5

ข้าพเจ้าและผู้ร่วมลงนามท้ายคำร้องนี้ ในฐานะประชาชนชาวไทยผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของ ส.ว.ดังกล่าวข้างต้น เป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน จริยธรรมอันมีลักษณะร้ายแรง จึงขอให้ประธาน ป.ป.ช.ได้โปรดไต่สวนและมีความเห็นกรณีสมาชิกวุฒิสภาตามรายชื่อในเอกสารแนบที่ส่งมาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image