‘คนดีศรีอยุธยา’ ไร้ซุปเปอร์ฮีโร่ เชิดชูคนสามัญกู้บ้านเมือง เดินเรื่องสมจริง ภาษาหมดจด

‘คนดีศรีอยุธยา’ ไร้ซุปเปอร์ฮีโร่ เชิดชูคนสามัญกู้บ้านเมือง เดินเรื่องสมจริง ภาษาหมดจด

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม เวลา 16.15 น. บริเวณชั้น G สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) กรุงเทพฯ ในงาน Gypsy Book Fest เทศกาลหนังสือเพื่อเสรีภาพ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. มีการจัดเสวนาหัวข้อ “คนดีศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา และชาติของสามัญชน” โดย ศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ เนื่องในการตีพิมพ์นวนิยาย ‘คนดีศรีอยุธยา’ ผลงานเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นครั้งที่ 8 โดย สำนักพิมพ์มติชน

ศ.ชูศักดิ์ กล่าวว่า นวนิยายคนดีศรีอยุธยา เขียนเป็นตอนๆลงในมติชนเมื่อ พ.ศ.2524 แล้วรวมเล่มในตีพิมพ์ปี 2525 ในสมัยนั้นคำว่า “คนดี” หมายถึง คนในสังคมยอมรับร่วมกันว่าเป็นชุดคุณค่าความดีที่คนปรารถนา แต่ปัจจุบันด้วยความวิปริต วิปลาส ทำให้ความหมายของคนดีไม่น่ารักเสียแล้ว กลายเป็นคำที่เชยมาก ที่มาของชื่อนวนิยาย คิดว่าขณะนั้น ผู้เขียนคงเล่นกับคำว่า ‘กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี’

“คนดีศรีอยุธยา มีนัยยะว่า แทนที่จะมองคนดีขี่ม้าขาว แต่ผู้เขียนกลับมองชาวบ้านที่ช่วยกันกู้บ้าน กู้เมือง ผมคิดว่านวนิยายเรื่องนี้เขียนถึง คนธรรมดาสามัญชนอย่างน่าสนใจ และค่อนข้างแปลกใหม่ แหวกแนวพอสมควร เราจะเคยเห็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องของชาวบ้านอยู่ เช่น หมู่บ้านบางระจัน แต่มันต่างออกไปเพราะมันเป็นเรื่องของชาวบ้านที่ไม่มีชื่อ ไม่มีเสียงเลยจริงๆ บทไม่ได้จะส่งให้คนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ อย่าง โต น้อย เล็ก เป็นชื่อชาวบ้านทั่วไป ไม่มีซุปเปอร์ฮีโร่ เพราะ ไอเดียของผู้เขียนเชิดชูสามัญชน ในฐานะสามัญนาม หมายถึง คำทั่วไปไม่ได้เฉพาะเจาะจง ไม่มีแม้แต่ชื่อหมู่บ้าน ต่างจากบางระจัน” ศ.ชูศักดิ์ กล่าว

Advertisement

ศ.ชูศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเขียนถึงกรุงศรีอยุธยาแตก มักจะมีการเขียนแบบชาตินิยม แต่เสนีย์ เสาวพงศ์ไม่เป็นอย่างนั้น แม้เน้นความรักชาติรักแผ่นดินของตัวละคร แต่การเดินเรื่องทำให้มีมิติความสมจริงของชาวบ้านค่อนข้างมาก ฉากไฮไลต์ที่ตนติดใจ เป็นฉากที่นางน้อยออกรบแล้วบรรยายว่า ‘เอาหน้าแนบกับแผ่นดิน เหมือนกับเด็กได้แนบตักแม่อย่างอบอุ่น แล้วกราบลงบนผืนดิน เงยหน้าขึ้นมาสูดสายลม สร้างกำลังสูบฉีดเลือดในร่างกาย’ แค่อ่านก็ขนลุกแล้ว

“โจทย์คือต้องการพูดถึงสามัญชนกู้บ้าน กู้เมือง แต่ไม่อยากเชิดชูยกย่องให้ใครเป็นวีรบุรุษ คุณจะเขียนอย่างไรให้ตัวเอกของเรื่อง ไม่กลายเป็นตัวเอกเสียเอง แล้วจะจบอย่างไรให้ได้ทั้งไอเดียของสามัญชนที่มีบทบาทต่อบ้านเมือง หรือ สามัญชนเขาก็ไม่ยินดียินร้ายต่อชื่อเสียงเงินทอง หรือ ต้องการความเคารพนับถือ
กรุงแตก ชอบเอามาเล่าในกระแสชาตินิยม ในเคสของประวัติศาสตร์ การพูดถึงกรุงศรีอยุธยา มันถูกเอามาใส่ในกระแสคิดปลุกใจรักชาติ แต่ในนี้ไม่ได้พูดถึงชาติไทยเลย ในยุคนั้นยังไม่มีสำนึกความเป็นชาติ
เรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องการรักบ้านเกิดมากกว่าการรักชาติ เพราะถ้าเขียนแบบชาตินิยมพอถึงจุดหนึ่งมักจะสร้างศัตรู มาเพื่อให้เกิดการรักชาติ แต่เรื่องนี้ แม้คนในชุมชนด้วยกันเอง ยังขัดแย้งกัน” ศ.ชูศักดิ์ กล่าว

Advertisement

ศ.ชูศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับภาษาในนวนิยาย ถ้าพูดกว้างๆในยุคนั้น ภาษามันหมดจดอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีคำขาด คำเกิน มันชัดเจนอยู่ค่อนข้างมาก

“มันเป็นภาษาที่มีกลิ่นอายความเก่าของยุคอยุธยาอยู่เยอะ มีการหยอดคำให้เรารู้สึกว่ามีกลิ่นอายของยุคสมัยของมันอยู่ ผมคิดว่าผู้แต่งทำได้ดี คำโปรยก่อนขึ้นแต่ละบท มันเป็นโอลด์ แฟชั่น (Old fashion) ฝรั่งนิยมใช้กันเยอะ นวนิยายหลายเรื่องจะมีตัวโปรยก่อนขึ้นบท คุณเสนีย์ก็เดินตามรอยขนบนั้น แต่พิเศษตรงที่การเลือกวรรณคดียุคอยุธยา หรือ เก่ากว่านั้น โดยมีวิธีการสอดรับ หรือ การเกริ่นเพื่อให้เรารู้เรื่อง เช่น คอยบอกเนื้อหา บอกอารมณ์ ผมคิดว่ามันเป็นความจงใจวิธีหนึ่ง แทรกที่ทำให้บรรยากาศความย้อนยุค ที่มีโคลงกลอนมาแปะหน้าไว้” ศ.ชูศักดิ์กล่าว

คนดีศรีอยุธยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8 ออกแบบปก โดย นักรบ มูลมานัส สั่งซื้อและติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊ก สำนักพิมพ์มติชน www.matichonbook.com โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
‘…ผมอ่านประวัติศาสตร์ เพื่อเขียนเรื่องที่ไม่มีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์…’ ครั้งที่ 8 ของการพิมพ์ ‘คนดีศรีอยุธยา’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image