‘พปชร.’ จัดขบวนทัพ สัญญาณข้ามขั้วการเมือง?

หมายเหตุ – เป็นความเห็นนักวิชาการภายหลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปรับทัพ ดึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค

ดร.ศิวพล ชมภูพันธุ์
ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

พรรคพลังประชารัฐยังคงเดินเกมทางการเมืองอยู่ รวมถึงการปรากฏตัวของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งไม่แน่ใจนะว่า จริงๆ แล้วคือเป็นอีกหนึ่ง ป.หรือเปล่า ที่เข้ามาในการเมืองไทย

Advertisement

ต้องยอมรับว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเคยดำรงตำแหน่งสูง เป็น ผบ.ตร.มาก่อน มีคนเคยพูดว่าอาจจะเป็น ป.ที่ 4 หลังจาก 3 ป. ไม่เอาแล้ว และเป็นคนที่อาจอยู่นอกเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาล แต่อาจจะยังวิเคราะห์เกมมากไม่ได้ว่า การมาของ พล.ต.อ.พัชรวาทก่อให้เกิดกระแสทางการเมืองใหม่หรือเปล่า แต่อาจมองได้ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเข้ามาเป็นตัวแทนของตระกูลการเมือง วงษ์สุวรรณ

ดังนั้น หากจะให้ดูนัยยะทางการเมืองในการมาของ พล.ต.อ.พัชรวาทวันนี้ คิดว่าน่าจับตา แม้จะยังไม่ส่งแรงกระเพื่อมก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การจัดทัพใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงยังไม่มีอะไรแปลกใหม่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ก็เคยเป็นมาแล้ว มองว่าตัวละครก็อยู่ในวังวนเดิมและยังมองไม่ออกว่า ร.อ.ธรรมนัสมีผลทางการเมืองร่วมรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่เป็นคนที่เคยมีเยื่อใยกับพรรคเพื่อไทยมาก่อน อาจจะง่ายขึ้น

Advertisement

สมมุติว่ากำลังจับตาดูพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยอยู่ และยังจะกอดกันไว้ 8 พรรคเดิมอย่างเหนียวแน่นสุดท้ายแล้วตัดสินใจได้ว่า วันนี้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ อย่างน้อย ร.อ.ธรรมนัสอาจจะถูกมองว่ามาเป็นกาวใจระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยก็ได้

แต่ต้องยอมรับอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าวันนี้เกิดการจัดกระบวนทัพใหม่ มองว่าเป็นแค่ปรับภายใน แต่หากมองว่าเพื่อนำไปสู่การตั้งรัฐบาลที่จำเป็นต้องจัดตั้งขึ้นมา เพราะประเทศรอไม่ได้ แต่จริงๆ การเปลี่ยนข้างในก็วนอยู่เหมือนเดิม จึงคิดว่าวันนี้ยังไม่มีอะไร แต่ต้องจับตาดู พล.ต.อ.พัชรวาท แน่นอนว่าต้องมีนัยยะอะไรบางอย่าง แม้ไม่ได้เป็น ส.ส. บทบาทในสภาคงไม่ชัดเจนแต่ในฐานะน้องชายของ พล.อ.ประวิตร ต้องมีนัยยะบางอย่างที่ต้องคอยจับตาดูต่อไป

ในเรื่องสูตรการจัดตั้งรัฐบาล ยังมองว่าถ้าอยู่ในระบบการเมืองแบบปกติ รัฐธรรมนูญที่เป็นแบบสากล ไม่มีกลไกของ ส.ว.ที่ถูกกำหนดไว้ จะอย่างไรก็แล้วแต่ รัฐบาลสามารถจัดตั้งขึ้นได้ ไม่ว่าจะนำด้วยพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย แต่วันนี้ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือ ข่าวลับ หรือดีลลับ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ภาวนาให้สิ่งที่ผมคิดอยู่ สิ่งที่เห็นจากข่าวลือ การซุบซิบต่างๆ ขอให้ไม่เป็นจริง เพราะตามกติกาของประชาธิปไตย พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล แต่สมมุติว่ามีการย้ายขั้วทางการเมืองใหม่ ส.ว.อาจจะมองว่าโอเคไม่มีพรรคก้าวไกลแล้วยอมให้จัดตั้งรัฐบาลได้ สูตรผสมเปลี่ยน จึงคิดว่าความเป็นไปได้ในการย้ายข้างมีอยู่ แต่มีค่าใช้จ่ายทางการเมืองสูงมาก เพราะพูดตั้งแต่หาเสียงว่าจะไม่จับมือกับ 3 ป.ชัดเจน ซึ่งในทางการเมือง พรรคเพื่อไทยคือเหยื่อของการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง แต่วันนี้ถ้ากลับไปจับมือด้วย คนเสื้อแดงจะว่าอย่างไร คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะว่าอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องจ่ายหากมีการย้ายขั้ว

ส่วนตัวยังหวังใจว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะยังคงจับมือกันแน่น แต่ตอนนี้มีสัญญาณของรอยร้าวบางอย่างพอสมควรเหมือนกัน ก็ต้องคอยจับตาดู ต้องบอกว่าการเมืองไทยเปลี่ยนไปรายชั่วโมงแล้ว ไม่ใช่การเปลี่ยนรายวัน

สำหรับสูตร ไม่มีลุง มองไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร แม้พรรคก้าวไกลยอมให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังอยู่เหมือนเดิม วันนี้ ส.ว.กลายเป็นสิ่งที่กำหนดชะตาทางการเมืองได้

ในช่วงการปรับทัพของพรรคอื่นที่อาจมีผลต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ เช่น กรณีพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนตัวยังมองไม่ออกเลยว่า ถ้าปรับแล้วจะมีผลหรือไม่ เท่าที่สังเกตท่าทีในการเรียกพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา มาคุยกันที่พรรค แต่ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ จึงมองว่า ถ้าปรับภายในพรรคอย่างไร พรรคเพื่อไทยก็อาจไม่ร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ และในอนาคตพรรคประชาธิปัตย์อาจจะได้ที่นั่งน้อยลงกว่านี้ก็ได้

ที่สุดอยากเห็นกลไกรัฐสภาทำงานไปอย่างปกติ อย่างน้อยแม้การเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯไม่เกิดขึ้น แต่ในฐานะที่จะต้องมีการเลือกนายกฯที่มาจากเสียงข้างมาก แล้วโอกาสครั้งนี้มาถึงพรรคเพื่อไทย ก็อยากเห็นเสียงของ ส.ว.โหวตให้การเลือกนายกฯและการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้น เพราะหากยังอ้างนั่นอ้างนี่ จะทำให้การเมืองไปถึงทางตัน โดยที่เป็นการตั้งใจให้มันตัน ไม่เกี่ยวกับการที่ว่าอีกฝ่ายเป็นคนดีหรือไม่ดี เพราะเขายังไม่มีโอกาสทำงาน

ดังนั้นระบบรัฐสภาควรเป็นไปตามหลักสากล เสียงข้างมากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ใช้กลไกรัฐสภาเป็นตัวกลไกในการแก้ไขปัญหา ทุกวันนี้ยังคงมองว่าระบบเก่ายังวางระเบิดไว้จำนวนมาก แล้วสภาก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย และ ส.ว.ก็เป็นส่วนหนึ่งของบอมบ์ลูกใหญ่ หากบอกว่างดออกเสียงเป็นการปิดสวิตช์ตัวเอง นั่นคือกลไกที่ไม่เป็นปกติของระบบนี้ สิ่งที่ง่ายที่สุดคือ ปล่อยให้สภาทำหน้าที่ตามหลักที่ควรจะเป็นตามหลักสากล

รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ชัดเจนแล้วว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดูเสมือนว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ถ้าประชาชนเลือกตั้ง ส.ส. ได้ตรงใจกลุ่มผู้มีอำนาจก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ถ้าผลการเลือกตั้งที่ประชาชนเลือกมาไม่ตรงใจ ก็จะมีกระบวนการร้องคัดค้านต่อองค์กรต่างๆ ทั้งๆ ที่เรื่องที่ร้องเรียนมีความชัดเจนทางกฎหมายอยู่แล้ว แต่ผลของการปรับใช้กฎหมายก็เกิดความวิปริตชนิดที่มหาวิทยาลัยสอนกฎหมายกันแทบไม่ถูก

เมื่อมองไปถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ออกมาว่า จะรับหรือไม่รับในประเด็นที่ว่าการเสนอชื่อเป็นกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ หรือว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำตามข้อบังคับสภา หากพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาประกอบกับนักกฎหมายทั้งประเทศ หรือคณาจารย์จากทุกมหาวิทยาลัยต่างพร้อมใจกันแสดงตนในฐานะผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าการเสนอชื่อนายกฯเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะคือรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ใช่เป็นการดำเนินการตามข้อบังคับสภาซึ่งมีลำดับศักดิ์กฎหมายที่ต่ำกว่า เช่นนี้ นัยยะตามหลักวิชาการจึงน่าจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา

และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาก็เท่ากับว่า พรรคต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงในเอ็มโอยู คือการสนับสนุนนายพิธาจนถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม หากสมมุติฐานว่าการกลับบ้านของนายทักษิณคือวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ก็เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยอาจอ้างว่าพรรคก้าวไกลได้มอบให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไปแล้ว และน่าจะมีการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้

ยิ่งเห็นการปรับกระบวนทัพของพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค ในฐานะเป็นบุคคลที่มีภาพการเปิดใจร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ก็ถือว่าการปรับทัพของพรรคพลังประชารัฐมีนัยที่เป็นประโยชน์กับพรรคเพื่อไทย และการที่ พล.ต.อ.พัชรวาท น้องชาย พล.อ.ประวิตรเข้าสู่ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคก็ยิ่งทำให้ชวนคิดแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดว่า หากพรรคพลังประชารัฐต้องยอมรับเงื่อนไขการไม่มี พล.อ.ประวิตรในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างน้อย พล.อ.ประวิตรก็มีบุคคลที่ตัวเองไว้วางใจเข้าสู่ใจกลางอำนาจของพรรค

น่าเชื่อว่าวันที่ 4 สิงหาคมที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยน่าจะมีการข้ามขั้ว หรือเกิดการกลายพันธุ์ของพรรคเพื่อไทย ตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทยพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอำนาจตกอยู่ในมือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วมรัฐบาลแต่คงเข้าเพียงบางส่วนโดยอาจมี 5 ส.ส.ที่ฝืนมติพรรค ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลสูตรนี้ พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับให้ได้ว่าประชาชนที่เชื่อในเสรีนิยมและประชาธิปไตยไม่ได้เกิดการกลายพันธุ์ไปด้วย

นั่นหมายความว่า ตลอดอายุรัฐบาลเพื่อไทยจะไม่มีความสงบ ต้องเผชิญกับม็อบและยิ่งประกอบกับการตรวจสอบที่เข้มแข็งโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และยิ่งพรรคก้าวไกลถูกยุบก็น่าเชื่อว่าจะเพิ่มความโกรธแค้นทำให้พรรคเพื่อไทยทำงานยากขึ้น และพรรคเพื่อไทยต้องย้ำอยู่เสมอว่านี่ไม่ใช่นายกฯตามเจตจำนงของประชาชน นี่ไม่ใช่รัฐบาลสูตรในฝันของประชาชน นี่ไม่ใช่การปรับใช้กฎหมายที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ หากแต่เป็นชัยชนะจากนิติสงครามแต่ย่ำยีจิตใจประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image