ส่องสูตร‘รัฐบาล พท.’ ผลักก้าวไกล-ไร้2ลุง

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการและนักธุรกิจวิเคราะห์สูตรตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ผลักพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน และไม่มีพรรค 2 ลุงอยู่ร่วมรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องเร่งตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

กระแสข่าวสูตรตั้งรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทย คือ ไม่มีพรรค 2 ลุง ไม่มีพรรคก้าวไกล เพื่อเปิดช่องให้พรรคก้าวไกลในการช่วยโหวต ประเด็นนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาเลย แบ่งเป็น 3 เรื่อง ประเด็นแรกคือการโหวตดังกล่าวในการจัดตั้งรัฐบาล สะท้อนภาพของผลการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหนถ้าหากว่าผลการเลือกตั้งบอกว่าปฏิเสธพรรคที่มีส่วนร่วมกับรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ สูตรรัฐบาลนี้อาจพอเป็นไปได้ และพอจะได้รับการยอมรับ แต่ปัญหาคือผลการเลือกตั้งในปี 2566 ไม่ใช่เป็นเพียงการสะท้อนภาพของการที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่มาจากพรรคพลังประชารัฐหรือพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับรัฐบาลอันเก่าทั้งหมด เพราะฉะนั้น จะรวมไปถึงพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนาด้วย และพรรคอื่นๆ ที่เป็นขั้วรัฐบาลเก่า ถ้าผลออกมาเป็นแบบนั้นจริงๆ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่จับมือกับพรรค 2 ลุงก็ตาม แต่พรรคเพื่อไทยก็เป็นการข้ามขั้วเช่นเดียวกัน คือไปจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเก่า ที่สร้างปัญหาปากท้องให้กับประชาชน ถ้าไปจับกับพรรคเก่าเอารัฐมนตรีคนเก่า แล้วมาอ้างว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ก็ไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาก็เป็นรัฐมนตรีคนเดิม ที่เป็นผู้สร้างปัญหาอันนี้เป็นเรื่องที่ 1

Advertisement

เรื่องที่ 2 คือ การตัดสินใจข้ามขั้วดังกล่าว แล้วขอให้พรรคก้าวไกลมาโหวตเป็นไปตามตรรกะว่า โหวตเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. โดยไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.มันใช่หรือไม่ คำถามจะต้องถามกลับไปก็คือ การที่พรรคก้าวไกลมาโหวตจะทำให้ภาพของการจัดตั้งรัฐบาลเป็นลักษณะการปิดสวิตช์ ส.ว.หรือเปล่า ซึ่งคำตอบอาจจะไม่ใช่ เพราะการที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับรัฐบาลข้ามขั้ว มันคือการผลักอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่มากๆ นั่นก็คือ กลุ่มของพรรคก้าวไกลที่มีเสียงอันดับ 1 ไปอยู่ฝั่งตรงกันข้าม ซึ่งเกมจะกลับกัน การที่พรรคก้าวไกลข้ามไปโหวตให้พรรคเพื่อไทยมันจะไม่เป็นการปิดสวิตช์ ส.ว. แต่มันคือการที่พรรคเพื่อไทยยอมเดินตามเกม ส.ว. เพื่อให้พรรคก้าวไกลปิดสวิตช์ตัวเอง มันจะกลายเป็นว่าไม่ใช่พรรคก้าวไกลที่จะช่วยปิดสวิตช์ ส.ว. แต่เป็นพรรคก้าวไกลที่ช่วยปิดสวิตช์ตัวเอง เพื่อช่วยให้พรรคเพื่อไทยเดินไปตามเกม ส.ว.ในการให้ ส.ว.จิ้มเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราก็ไว้ใจไม่ได้ว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจะผ่านการโหวตหรือไม่

และอันสุดท้ายก็คือ ประเด็นเรื่องที่ 3 ภาพของรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกล และไม่มีลุงทั้งสอง เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ก็คือเสียงฝ่ายรัฐบาลจะอยู่ประมาณ 260-280 เสียงเท่านั้น ในที่นี้เราก็ต้องตัดพรรคไทยสร้างไทยออกไปด้วย เพราะว่าเขาไปด้วยกันกับพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ยังตั้งคำถามว่าจะไปกับพรรคเพื่อไทยได้หรือเปล่า ซึ่งเสียงจะวิ่งอยู่ประมาณ 260-280 ไม่ถึง 300 เสียงอย่างที่คิด ด้วยเหตุเช่นนี้จะทำให้กลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ถ้าเผื่อจะตั้ง ครม. คณะรัฐมนตรีจะลากันไม่ได้ ลาลงพื้นที่กันไม่ได้ ลาหาเสียงกันไม่ได้ ขาด ลา มาสายกันไม่ได้เลย เพราะจะทำให้องค์ประชุมไม่ครบ หรือถ้ามีการโหวตอะไรจะทำให้ฝ่ายค้านชนะได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ ในเชิงการคุมเกมในสภาจะเป็นการคุมเกมได้ไม่ดีนัก

และมากไปกว่านั้นอีกคือการจัดตั้งรัฐบาลก็ทำได้ไม่ดีเช่นกัน เพราะพรรคเพื่อไทยมีเสียงเพียง 141 เสียง ต้องไปแบ่งกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ต้องการกระทรวงเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะยิ่งไม่มีเสถียรภาพ คำถามคือเขาต้องการรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจริงหรือเปล่า คำตอบก็อาจจะไม่จริง มันอาจจะเป็นการเปิดช่องให้ไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติที่ยุบพรรคตัวเองมารวมกับพรรคเพื่อไทยก็ได้ หรือจะไปรวมกับพรรคภูมิใจไทยก็ได้ อย่างที่เราได้ข่าวกันว่าบางกลุ่มของพรรครวมไทยสร้างชาติจะมารวมกับพรรคภูมิใจไทย

Advertisement

เพราะฉะนั้นภาพทั้ง 3 เหตุผลตรงนี้ ไม่เห็นว่าสูตรการจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีลุง ไม่มีพรรคก้าวไกล อาจจะไม่สมเหตุสมผลมากนัก แล้วก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาปากท้องอะไรเสียทีเดียวด้วย หากต้องจัดตั้งรัฐบาลภายในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่เอาคนที่เคยสร้างปัญหาในรัฐบาลชุดเก่ามาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเดิม การจะมีนโยบายเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะฉะนั้นการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะต้องมองในระยะยาวว่าจะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพอย่างไร และไม่น่าเกลียดถึงกับขนาดไปข้าม ไปจับมือกับพรรคที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเก่า ได้อย่างไร

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

สูตรจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ไม่มี 2 ลุงกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่า มีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป มีข้อจำกัดและเงื่อนไขหลายเรื่องโดยเฉพาะ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เอา ก.ก.ร่วมรัฐบาล หากพรรค พท.จัดตั้งรัฐบาล ต้องรวมเสียงให้ได้อย่างน้อย 250 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. 500 คน เพื่อพิจารณากฎหมายและงบประมาณ หากรวมเสียงได้ 265 คน ตามที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วิเคราะห์ อาจต้องอาศัยเสียง ส.ว.อีก 2 เสียง รวมเป็น 267 เสียง เพื่อโหวตนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และมีรัฐบาลใหม่ได้ตามลำดับ

ประเด็นพรรค พท.ไม่เอา 2 ลุง พอเข้าใจได้ เพราะได้ประกาศไม่เอา 2 ลุง ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งแล้ว ถ้าเอา 2 ลุงมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลคงถูกกระแสต่อต้านอย่างหนัก ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าได้หากไม่เอาพรรค ก.ก.ร่วมรัฐบาล จะชี้แจงประชาชน หรือฝั่งประชาธิปไตยที่สนับสนุนทั้ง 2 พรรคอย่างไร ดังนั้นพรรค พท.ต้องชั่งน้ำหนักและให้เหตุผลกับประชาชนว่าไม่เอาพรรค ก.ก.เพราะเหตุผลใด ถ้ามีความจำเป็นและมีเหตุผลเพียงพอเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและยอมรับได้ เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า หลังติดหล่มทางเศรษฐกิจมากว่า 9 ปีแล้ว

หากพิจารณาเอ็มโอยู 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียงของพรรค ก.ก. มองว่ามีเสถียรภาพกว่าสูตรรัฐบาล พรรค พท.ที่ไม่เอา2 ลุงกับพรรค ก.ก. เพราะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่ประชาชนไม่สนับสนุนมากนัก หากจัดตั้งรัฐบาลได้อาจอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี เพื่อทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก่อน ถ้าได้รัฐธรรมนูญใหม่อาจยุบสภา เพื่อคืนอำนาจประชาชนเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

กรณีผู้เสนอให้รอ ส.ว.ครบวาระ 10 เดือน หรือพฤษภาคมปีหน้า ก่อนให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เชื่อว่าทำได้ยากเพราะ ส.ว.ต้องการใช้สิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี เพื่อปกป้องสถาบันและไม่ให้พรรคการเมืองแตะมาตรา 112 จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดหรือเขี่ยพรรค ก.ก.ออกนอกวงโคจรจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม พรรค พท.ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรค ก.ก. ถือเป็นทุกขลาภ และรับบทหนัก เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยทุกฝ่าย หันหน้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ไม่วามีดีลลับ “ฮ่องกง” หรือ “ลังกาวี” หรือไม่ก็ตาม เพราะต้องมีรัฐบาลใหม่ ชูธงขับเคลื่อนประเทศ และแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนโดยเร็วที่สุดอยู่แล้ว แต่การเมืองไทยไม่สามารถใช้ความรู้สึกวิเคราะห์ได้ ต้องใช้สถานการณ์ ข้อมูลและเหตุผลมาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกแบบสันติวิธี แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ด้วยปัจจัยและอำนาจที่อยู่เหนือการควบคุมของการเมืองและประชาชน

 

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

กรณีที่พรรคเพื่อไทยมีการปรับสูตรการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่แบบไม่มีพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคก้าวไกลนั้น ในแง่ของเอกชน ถ้าพูดแบบไม่ฝักใฝ่การเมือง รับได้กับการตัดสินใจของพรรคการเมืองที่รับหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล แต่ขอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด และต้องเป็นการจับขั้วที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือรุนแรงถึงขั้นประชาชนต้องลงถนน เพราะถ้ามีการชุมนุมประท้วงใหญ่ ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเรื่องความขัดแย้งของการเมืองในประเทศ กลายเป็นเบอร์ 1 ในการฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แซงหน้าปัจจัยภายนอก อย่างสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไปแล้ว

ทางภาคเอกชนอยากเห็นสูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่ออกมา แม้ไม่มีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว ก็อยากให้ออกมาในแบบที่ประชาชนไม่ต่อต้าน แต่หากตัดสินใจไม่ดึงพรรคก้าวไกลมาเป็นรัฐบาล สิ่งที่พรรคเพื่อไทยสัญญากับมวลชนไว้ก็ไม่เสียชื่อ เพราะยืนยันแล้วว่าจะไม่ดึง 2 พรรครัฐบาลเก่ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ทั้งนี้ ไม่ว่าอย่างไรทางภาคเอกชนหรือประชาชน อยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากตอนนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่จะประกาศใช้ล่าช้าไปถึงเดือนมีนาคม 2567 แล้ว การบริโภคในประเทศตอนนี้ก็ชะลอตัว รวมถึงเรื่องของภาคการส่งออกก็เป็นเรื่องใหญ่ที่รอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันติดลบแล้วกว่า 5% ซึ่งมองว่าตอนนี้ไม่มียาวิเศษแล้ว สภาพคล่องก็เป็นปัญหา เป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูง ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เป็นเรื่องที่จะต้องเร่งทำ

สิ่งที่ห่วงในตอนนี้คือ หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยิ่งล่าช้า หรือเล่นการเมืองกันไม่เลิก รวมถึงในกรณีที่ยกตัวอย่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ลากยาวออกไปอีก 8 เดือนนั้น มองว่าเห็นแก่ตัวไปหน่อย การเดินหน้าเศรษฐกิจไม่สามารถรอได้ถึง 8 เดือน ยังยืนยันว่าเราควรจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุดแบบไม่มีผลข้างเคียง ตอนนี้สถานการณ์ลากยาวมากกว่า 2 เดือน มองว่าประชาชนเริ่มเข้าใจสถานการณ์ในระดับหนึ่งแล้ว

ส่วนเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ มองว่าแต่ละพรรคคงมีการพูดคุยกันแล้ว หากรอบนี้ ส.ว.ยังไม่ให้ผ่านก็ต้องหาเหตุผลมารองรับว่าไม่ให้ผ่านด้วยเหตุใด ซึ่ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ส.ว.ให้เหตุผลว่าไม่เอาพรรคก้าวไกล เนื่องจากมายุ่งกับมาตรา 112 แต่ตอนนี้เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งแล้ว หากยังไม่โหวตให้ผ่านอีกต้องมีเหตุผลให้กับประชาชน และต้องไม่อ้างเรื่องมาตรา 112 หรือเหตุผลที่ไม่เอาพรรคก้าวไกล ต้องมีเหตุผลอื่นแล้ว และไม่ควรใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินกับการเมืองระดับประเทศ หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า คนแก่ขี้กังวล อย่าเป็นแบบนั้น ไม่ใช่เวลาที่จะมาเล่นการเมืองแล้ว มีอีกหลายเรื่องที่ต้องให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้

โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์น้ำมันโลกที่ผันผวน และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังไม่กระทบไทย รวมถึงยังมีเรื่องของภัยแล้งที่ตอนนี้หลายจังหวัดเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงแล้ว หากสถานการณ์ทางการเมืองยังลากยาวไปกว่านี้ กว่ารัฐบาลใหม่จะได้เข้ามาทำงาน ต้องเหนื่อยแน่ๆ เพราะมีปัญหารอให้สะสางรอบด้าน ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องยนต์เดียวที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนอยู่คือการท่องเที่ยว แม้สถานการณ์ในภาพรวมจะคึกคัก การจับจ่ายยังน้อยกว่าภาคการส่งออกและการลงทุน แต่ยังดีที่ภาคการท่องเที่ยวไทยยังฟื้นตัวโตสวนทางกับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเรื่องอัตราเงินเฟ้อยังเป็นไปในทิศทางที่ดี

ดังนั้น ยิ่งเป็นเหตุผลให้ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว และต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือการชุมนุมลงถนนที่ก่อให้เกิดเหตุรุนแรง เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนให้ยังไม่เบนเข็มหนีไทย โดยหวังว่าในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะได้ขอยุติเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเร่งด่วนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image