พท.เลื่อนโชว์สูตรตั้ง รบ. การันตีเสียงหนุน‘เศรษฐา’ครบ

หมายเหตุ – นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ชี้แจงกรณีการเลื่อนแถลงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรค พท.ออกไป จากกำหนดเดิมที่จะแถลงความชัดเจนเรื่องดังกล่าวในวันที่ 3 สิงหาคม เนื่องจากที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งคำร้องให้พิจารณา กรณีเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรอบสอง เป็นการกระทำที่เข้าข่ายยื่นญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 หรือไม่ ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้

วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน และมีคำวินิจฉัยว่าจะรับไปพิจารณา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีความสำคัญ พร้อมทั้งเลื่อนไปถึงวันที่ 16 สิงหาคม ฉะนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ จึงได้ประสานกับทางประธานรัฐสภาว่าหากเป็นเช่นนี้แล้วจะเป็นเช่นไรต่อ ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน โดยจะมีการเลื่อนวาระโหวตนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม และคาดว่าหากไม่มีปัญหาอะไร ภายใน 1 สัปดาห์สามารถเลือกนายกฯได้ เมื่อการเลือกนายกฯเลื่อนออกไป ในทุกๆ อย่างไม่ควรจะทำอะไรให้มาก และรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจน

จริงๆ วันนี้เรียกประชุมพรรคร่วม ที่มีหัวหน้าและเลขาธิการพรรค เพื่อที่จะหารือกันก่อนที่จะมีการแถลงข่าว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจึงถือโอกาสเลื่อนไป สำหรับสิ่งที่คิดว่าหวั่นใจ หรือว่าเสียงไม่พอ ยืนยันว่าเสียงที่ได้ตอนนี้เพียงพอในการที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อเลื่อนออกไปมีเวลาทำงานได้มากขึ้น เพราะการจะแสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่ายยิ่งได้มากยิ่งดี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว และประธานรัฐสภาบรรจุวาระแล้ว จะแถลงข่าวเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล

Advertisement

⦁เสียงที่บอกว่าครบแล้ว สามารถเปิดเผยได้หรือไม่ว่ามีพรรคใดบ้าง
รออีกซักหน่อยก็ดี ตอนนี้รวบรวมเสียงทั้งจากขั้ว 8 พรรคเดิม จำนวนหนึ่ง และมีเสียงจากขั้ว 188 เสียงอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงต้องมีเสียงของ ส.ว.อีก วันนี้อยู่ใต้วิกฤตการณ์ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าต้องได้เสียงเกิน 375 เสียง ขณะนี้ต้องรวบรวมให้ได้ 375 เสียง ทั้งนี้ อยากได้เสียงของ ส.ส.ให้มั่นคงที่สุด เพราะการได้เสียง ส.ส.ที่มั่นคงจะทำให้เกิดรัฐบาลที่มั่นคง มีประสิทธิภาพ สามารถบริหารทิศทางการทำงานได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ต้องบวกกับเสียง ส.ว.อีกจำนวนหนึ่ง ยิ่งอยากได้ให้มากขึ้น เพื่อจะทำให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากภาวะที่สามารถกู้วิกฤตได้ โดยความร่วมมือของทุกฝ่าย และจะทำให้การคลี่คลายความขัดแย้ง สามารถลดลงได้

⦁กรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะไม่มีพรรคของ 2 ลุง เข้ามาร่วมรัฐบาล
รอให้การตัดสินใจชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร แต่วันนี้พยายามที่จะแสวงหาความร่วมมือต่างๆ และรู้ว่ามีข้อจำกัดต่างๆ และมีข้อที่เป็นปัญหาประชาชนอยู่ ต้องคำนึงสิ่งเหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ขอให้รอวันที่จะแถลง ซึ่งวันนั้นจะทราบรายละเอียดทั้งหมด วันนี้แค่แสวงหาเสียงสนับสนุน คนละเรื่องกับการจัดตั้งรัฐบาล การแสวงหาจุดร่วมที่ชัดเจนมากขึ้นจะแสดงให้เห็นถึงฉันทามติของการเข้ามาร่วมกันตั้งรัฐบาล

ส่วนประเด็นที่มีกระแสข่าวว่าพรรค พท.ไม่ง้อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เรื่องนี้จริงๆ ไม่ใช่ ผมได้บอกไปแล้วว่าการแยกตัวครั้งนี้ ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้รายงานทีมเจรจาพรรค ก.ก.ทั้ง นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค, น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้า และนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค ก.ก. ว่าเมื่อได้ยุติเอ็มโอยูแล้วถือว่าทุกฝ่ายเป็นอิสระต่อกัน

Advertisement

ขณะเดียวกัน พรรค ก.ก.จะโหวตหรือไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯจากพรรค พท. ถือเป็นเอกสิทธิ์ สิ่งที่สำคัญอยากสร้างการเมืองมิติใหม่พรรค พท.กับพรรค ก.ก.สามารถทำงานที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้ ทั้งนี้ อะไรที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและประเทศ พรรค พท.ยินดีสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แล้วต้องคัดค้านกันไปตลอด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายต่างๆ ที่พูดถึงในเอ็มโอยูตรงกับนโยบายของพรรค พท.ยินดีสนับสนุน หรือแม้กระทั่งกฎหมายที่ไม่ได้พูดในเอ็มโอยูพร้อมสนับสนุน แต่ประเด็นที่ไม่เอาแน่นอนคือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ที่ปฏิเสธไปตั้งแต่การเซ็นเอ็มโอยูครั้งแรก ยืนยันว่าหากมีเรื่อง ม.112 ไม่เซ็น เมื่อมาถึงเอ็มโอยูครั้งที่ 2 บอกแล้วว่าไม่สะดวกใจที่จะเซ็น พรรค พท.ไม่เห็นด้วย ฉะนั้น ในชั้นต่อไป หากมีเรื่องการแก้ไข ม.112 เข้ามาพรรค พท.ไม่โหวตให้ แต่หากเป็นเรื่องอื่นที่ดีจะโหวตให้

ฉะนั้นการตัดสินใจครั้งนี้ หากพรรค ก.ก.โหวตให้ก็ยินดี ดีใจ แต่หากไม่โหวตให้คงไม่ถือโทษ โกรธอะไร เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน ที่พูดมาทั้งหมดเป็นเช่นนี้ อย่าไปพูดว่าอ้วนว่าอย่างนั้น อ้วนว่าอย่างนี้ นี่คือข้อเท็จจริง และผมเชื่อว่าทีมเจรจาของพรรค ก.ก.ทั้ง 3 คน ยืนยันสิ่งที่ผมพูดได้

⦁มีกระแสว่าพรรค พท.ไม่มีการบอกให้พรรค ก.ก. แก้ไขเรื่อง ม.112 แต่ฉีกเอ็มโอยูเลย
เรื่องนี้ไม่จริง อาจจะเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะเอ็มโอยูครั้งแรกบอกไว้อย่างชัดเจนเลยว่าหากมีการแก้ไข ม.112 พรรค พท.ไม่เซ็นแล้วมีความพยายามพูดให้ใกล้เคียงกับเรื่องดังกล่าว จึงบอกว่าขอสงวนสิทธิว่าจะไม่ร่วมในข้อนั้นมีการถอนเรื่องดังกล่าวต่อไป ส่วนครั้งที่ 2ที่มีการทำเอ็มโอยู เฉพาะพรรค ก.ก. และพรรคพท.ยังนำเรื่อง ม.112 ใส่เข้ามาอีก พรรค พท.บอกว่าไม่เซ็น เพราะฉะนั้นแสดงท่าทีชัดเจนกับพรรค ก.ก.มาโดยตลอด ส่วนจะไปดำเนินการเป็นเอกสิทธิ์บุคคลของพรรค ก.ก.ผมไม่ว่า แต่ถ้าให้ร่วมด้วยพรรค พท.ไม่เอา ส่วนนี้พูดกันชัดเจน ส่วนครั้งนี้ได้มีการตกลงกันว่า ส่งไม้ต่อให้พรรค พท.ให้ดำเนินการ

มีคนถามว่า ผมเข้าใจว่าเป็นพรรคเล็กพรรคหนึ่ง ถามว่าตกลงเรื่อง ม.112 ว่าอย่างไร นายชัยธวัชตอบว่า ม.112 เป็นเรื่องที่ไม่ได้เป็นประเด็นหลักสำคัญ ถ้าพูดเรื่อง ม.112 ไปแล้วก็มีประเด็นอื่นอีก ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร ให้ช่วยถามให้ด้วยว่าจะให้เขาทำอย่างไร ซึ่งเมื่อเชิญทุกพรรคมาได้มีการถามเรื่องนี้ตามที่ได้รับมอบหมายมา มีพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) พรรคเดียวที่บอกว่ามี ม.112 ไม่เซ็น ถ้าไม่มีเรื่อง ม.112 ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนพรรคอื่นๆ บอกว่ามี ม.112 ไม่เซ็น และยังพิจารณาไปถึงแนวทางการเมือง แนวคิดความเชื่อที่มีอยู่ รวมทั้งการปฏิบัติ เป็นการพูดรวมๆ ของทุกพรรค แต่แนวโน้มออกมาเป็นเช่นนี้ ซึ่งตรงนี้ชัดเจนและบอกให้เขาทราบในวันที่เจอกัน ตั้งแต่ต้นพูดชัดเจนในเรื่องนี้มาตลอด แต่เขาบอกว่าไม่ใช่ประเด็น พรรค พท.ถามว่าหาไม่ใช่ประเด็นจะทำเช่นไร เพื่อจะช่วยหาทางออกให้เขา แต่สิ่งที่ออกมาก็ชัดเจนตามที่เขาประกาศต่อสาธารณชน เพราะฉะนั้นความชัดเจนก็อยู่ตรงนี้เอาให้ชัด

⦁กรณีที่นายชัยธวัชเปิดเผยว่า ในที่ประชุมระหว่างพรรค ก.ก. และพรรค พท. มีความกังวลว่า หากพรรค ก.ก.โหวตให้กับนายกฯของพรรค พท. ทาง ส.ว. บางส่วนอาจจะไม่สนับสนุน
พรรคพูดชัดเจนแล้วว่าหากเขาโหวตให้ก็ยินดี แต่หากเขาไม่โหวตให้ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะถือว่าเป็นเอกสิทธิ์อย่าถือว่าไปกดดันท่าน ไม่โหวตให้เลยก็ได้ เพราะต้องแสวงหาความร่วมมือจากคะแนนที่ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ถือว่าพรรคการเมืองที่เขาได้เข้ามาในสภาทุกพรรคเป็นตัวแทนของประชาชน สายที่มีความคิดที่หลากหลายหากจะเดินหน้าต่อไปได้ประเทศต้องมีความปรองดอง การฟังความเห็นของทุกพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ที่จะสามารถสะท้อนความคิดที่แตกต่างกันได้ แต่ทั้งนี้ ยังไม่ได้บอกว่าทุกพรรคจะร่วมกัน อยู่ที่ว่าพรรคไหนร่วมกันอย่างไร หรือสังคมได้ทำความเข้าใจและเห็นว่าการร่วมไม้ร่วมมือการจะไปสู่ทิศทางใด ตรงนี้จะเป็นคำตอบ

⦁กรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองออกมาแฉข้อมูลของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรค พท. จะส่งผลต่อการพิจารณาเสนอชื่อหรือไม่
คงเป็นเรื่องของนายเศรษฐากับบริษัทที่นายเศรษฐาเกี่ยวข้องอยู่ ได้ยินว่ามีการแถลงออกมาชัดเจนแล้ว และเป็นเรื่องที่ต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจ ได้เห็นรายละเอียดแล้วไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายที่กำหนด

⦁การเดินทางกลับบ้านของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ถือว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นเรื่องของครอบครัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางการเมือง พรรค พท.ดำเนินการไป ดังนั้นนายทักษิณและครอบครัวจะตัดสินใจอย่างไรเป็นเรื่องส่วนตัวจึงขอให้รอครอบครัวแถลงความชัดเจนให้มากขึ้นก่อน

⦁หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯพรรค ก.ก. ซ้ำได้ จะทำอย่างไร
ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการข้อบังคับและข้อกฎหมาย

⦁จะมีการพลิกขั้วอีกหรือไม่
อยู่ที่ข้อเท็จจริง หากเป็นอย่างไรว่าไปตามนั้น เพราะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image