‘สนธิญา’ ร้องผู้ตรวจ ส่งเรื่องให้ศาลรธน. วินิจฉัย ‘ส.ส.-ส.ว.’ เสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ แม้รู้ขาดคุณสมบัติ

“สนธิญา” ร้องผู้ตรวจ ส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย “ส.ส.-ส.ว.” เสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ แม้รู้ขาดคุณสมบัติ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 สิงหาคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้พิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมจำนวน 8 พรรคการเมือง รวมถึง ส.ว.จำนวนรวมทั้งหมด 314 คนเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม และ 19 กรกฎาคม เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 159 และ 160 (6) หรือไม่

นายสนธิญากล่าวว่า ที่ต้องมายื่นเรื่องดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายพรชัย เทพปัญญา และนายบุญส่ง ชเลธร นักวิชาการได้มายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจฯ ได้มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 41 ที่ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา เพื่อรับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง เพราะเป็นญัตติซ้ำ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนจึงเห็นว่า เพื่อความเสมอภาค เท่าเทียม จึงขอให้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการที่สมาชิกรัฐสภาทั้ง 314 คน เสนอชื่อนายพิธาเพื่อเข้ารับการโหวตเป็นนายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพราะก่อนหน้านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติแล้วว่า นายพิธาเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม ไม่ให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และประธานสภาก็ได้มีการแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม นายพิธาก็รับทราบและเดินออกจากห้องประชุม แต่ยังคงมีการเสนอชื่อนายพิธา และดำเนินการโหวต ซึ่งเห็นว่าการกระทำดังกล่าว รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) เขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 จึงเห็นว่าการกระทำของ ส.ส.เหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบ 160

Advertisement

“ประเด็นนี้ร้องเพื่อความเป็นธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะก่อนหน้านี้นักวิชาการ ทั้งนายพรชัย และนายบุญส่ง ร้องว่า การกระทำของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว.ที่มีมติว่า การเสนอชื่อนายพิธารอบสองเป็นญัตติซ้ำ ทำไม่ได้ ผมก็ต้องมาร้องอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เสนอชื่อนายพิธา ทั้งๆ ที่ขณะนั้นรู้กันหมดแล้วว่า กกต.ประกาศและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของนายพิธา แต่ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ก็ยังคงเสนอชื่อนายพิธาโหวตในการประชุมทั้งวันที่ 13 และวันที่ 19 กรกฎาคม ดังนั้นในเมื่อผู้ตรวจฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับข้อบังคับที่ 41 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมก็ต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและส่งเรื่องการเสนอชื่อนายพิธา ซึ่งรัฐสภารู้อยู่แล้ว นายพิธาก็เดินออกไปแล้ว แต่สมาชิกรัฐสภาก็ยังตั้งหน้าตั้งตาโหวตอยู่ เหตุการณ์เหล่านี้จึงขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นับเป็นการตรวจสอบทั้ง 2 ฝ่าย” นายสนธิญากล่าว และว่า ตามคำร้องได้มีการขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอต่อศาลสั่งให้ ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 314 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการยื่นร้องในเรื่องลักษณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image