‘อนุสรณ์’ หนุนไทยเป็นผู้นำ ‘เจรจาสันติภาพ’ จุดเริ่มต้นยุติสงคราม ‘เมียนมา’ เคยช่วยกัมพูชาสำเร็จมาแล้ว

‘อนุสรณ์’ หนุนไทยมีบทบาทเชิงรุก เป็นผู้นำ ‘เจรจาสันติภาพ’’ จุดเริ่มต้นยุติสงคราม ‘เมียนมา’ เคยช่วยกัมพูชาสำเร็จมาแล้ว

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในวาระ 78 ปี วันสันติภาพไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม PRIDI Talks #22 เสวนา “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา”

บรรยากาศเวลา 10.30 น. รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงานความตอนหนึ่งว่า วันนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 ท่าน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพ อันมีใจความสำคัญว่า การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 นั้น เป็นโมฆะไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากเป็นการกระทำอันผิดจากเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย และขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง อ.ปรีดี เขียนไว้ในหนังสือโมฆะสงครามว่า เราต้องรำลึกถึงสุภาษิตของไทย ที่สอนให้นึกถึงอกเขาอกเรา

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.อนุสรณ์ หยิบยกคำของ ศ.ดร.ปรีดี ที่ว่า “การที่ไทยและประชาคมอาเซียน ยังมีจุดยืนทางการเมืองต่อหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ทำให้การสร้างเงื่อนไขการเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอาเซียนและเมียนมา ซึ่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ก็เคยได้นำสนอแนวทางการทูตแบบ “พัวพันอย่างสร้างสรรค์” แต่รัฐบาลสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นด้วยนัก จึงปรับมาใช้แนวทาง “ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น” แทน และอาเซียนก็ใช้กรอบนี้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ดูเหมือนการทูตของไทยในยุครัฐบาล คสช.จะไม่ค่อยยึดแนวทางนี้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อต้องกดดันให้รัฐบาลทหารพม่า ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและหยุดใช้องกำลังปราบปรามประชาชนชาวเมียนมา ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

Advertisement

“ขณะที่ไทยนั้น สงวนท่าทีต่อการคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อกดดันให้เกิดการคืนอำนาจให้ประชาชนมีการเลือกตั้ง ให้เป็นอิสระและยุติธรรม นอกจากนี้ไทยยังควรมีบทบาทเชิงรุกในการทำให้เกิดการเจรจาสันติภาพในเมียนมา แต่รัฐบาล คสช.ก็ไม่ได้ใส่ใจกับบทบาทดังกล่าว ที่จะรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนชาวเมียนมาผู้บริสุทธิ์ รักษาความสงบ สันติภาพ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้ง 2 ฝั่งชายแดน

การปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา จะเป็นผลโดยตรงของความมุ่งมั่นและจริงจังของกลุ่มพลังต่างๆ ภายในประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงให้เกิด ‘สันติธรรมประชาธิปไตย’ ในเมียนมานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากอาเซียน ไทย และนานาชาติ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ การที่เปลี่ยนประเทศที่ปกครองด้วยเผด็จการทหาร ให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ประเทศที่มีสงครามกลางเมือง เป็นประเทศที่มีสันติธรรม ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ชี้ว่าการมีแนวทาง ‘พัวพันอย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์’ ต่อเมียนมา ของไทยและอาเซียน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

Advertisement

“อาจเริ่มต้นให้มีการหยุดยิงแล้วเจรจากันก่อน บทบาทของไทยนั้นสำคัญ และไทยเคยทำสำเร็จมาแล้ว กรณีเจรจาสันติภาพ และยุติสงครามกลางเมืองในกัมพูชา และมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย จากสนามรบเป็นสนามการค้า การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาสมรรถนะการเมืองการปกครอง เป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างเงื่อนไข ว่าคุณต้องพัฒนาประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพของระบบการปกครอง ต้องมาพร้อมกับระบบการเมืองที่เปิดกว้าง การยึดถือชีวิตของมนุษย์ทุกๆ คนว่ามีคุณค่า” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว และว่า

ไทยสามารถแสดงบทบาทต่อสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมาและอาเซียนได้ และไทยต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและความก้าวหน้าบางอย่าง ที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ดังนี้

1.ต้องมีการแก้ไขกติกาสูงสุด รัฐธรรมนูญให้ยึดถือหลักการประชาธิปไตย

2.ไทยควรมีบทบาทนำในการเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

3.สนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติ ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา

4.เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ตกอยู่ในอันตราย หรือหลบหนีจากเมียนมา ร่วมกับอาเซียนในการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยพลการ รวมทั้งผู้ที่ถูกจำคุกโดยไม่เป็นธรรมทั้งหมด

อ่านข่าว : ‘กัณวีร์’ ลั่น ต้องปรับ ‘จุดยืนการทูตไทย’ ย่ำอยู่ในยุคสงครามเย็น ชงเปิด ‘ระเบียงมนุษยธรรม’ ช่วยผู้ลี้ภัยเมียนมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image