อ.นิด้า ชี้ 8 ข้อวันโหวตเศรษฐา จากนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีต Vs พลเมืองเสรี จะสู้กันเข้มข้น 

อาจารย์นิด้า ชี้ 8 ข้อวันโหวตเศรษฐา จากนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีต Vs พลเมืองเสรี จะสู้กันเข้มข้น 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมือง และยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้โพสต์ผ่านเฟศบุ๊กส่วนตัวถึงข้อสังเกตการประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาดังนี้

1 ประธานรัฐสภามีปัญหาเรื่องการอดทนอดกลั้นต่อการอภิปรายของสมาชิกพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะในประเด็นที่ตนเองไม่เห็นด้วย หรือแตกต่างจากข้อสรุปที่ตนเองมีไว้ล่วงหน้า เห็นได้จากกรณีการอภิปรายของคุณรังสิมันต์ โรม ที่อภิปรายเพียง 10 กว่านาที แต่ประธานกลับรู้สึกยาวนานมาก และพูดว่าคุณโรมอภิปรายครึ่งชั่วโมงแล้ว

2 ประธานรัฐสภามีปัญหาในการจับใจความของผู้อภิปราย และเข้าใจผิดว่า ผู้อภิปรายอีกคนหนึ่งของพรรคก้าวไกลกล่าวหาตนเองไม่เป็นกลาง

Advertisement

3 ประธานรัฐสภามีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง สืบเนื่องจากข้อ 2. ทำให้ประธานมีอารมณ์โกรธเคือง ใช้คำพูดและกิริยาแข็งกร้าวต่อผู้อภิปราย สั่งให้ผู้อภิปรายถอนคำพูดและนั่งลงหลายครั้ง โดยไม่ยอมฟังคำชี้แจงของเขาให้กระจ่าง กว่าจะยอมฟัง ก็ถูกอารมณ์ชักนำไปไกล จนภาพลักษณ์ความเป็นผู้ใหญ่ใจเย็นหายไปจนแทบหมดสิ้นแล้ว

4 ก่อนโหวตนายกฯ นายชลน่าน ศรีแก้วหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในทำนองว่าการจับมือกับพรรคก้าวไกลคือความผิดพลาด ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีวันจับมือกับพรรคก้าวไกล มีนัยเป็นการส่งสารยอมสยบจำนนและพร้อมรับใช้กลุ่มอำนาจเก่า เพื่อให้กลุ่มอำนาจเก่าไว้วางใจและโหวตให้แก่แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย และเป็นการประกาศตัดไมตรีอย่างสิ้นเชิงกับพรรคก้าวไกล รวมทั้งส่อแววว่าจะเป็นปรปักษ์ต่อกันนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

5 พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มยอมรับ และยอมเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์นิยมจารีตเพื่อต่อสู้กับพรรคก้าวไกล สกัดการเติบโตและการขยายตัวของพรรคก้าวไกลในอนาคต ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่บรรดาฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดทั้งหลายหวั่นเกรงเป็นอย่างมาก

Advertisement

6 การโหวตนายกรัฐมนตรีแบบอกแตกของ ส.ส. พรรค ปชป. ซึ่งแยกเป็นสามทางทั้งเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง มีนัยว่าพรรคเก่าแก่ที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานในสังคมไทยถึงคราวล่มสลาย และอาจกลายเป็นพรรคเล็กต่ำสิบ หรืออาจสูญหายไปจากเวทีการเมืองไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

7 มีร่องรอยการขัดแย้งกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากการไม่ปรากฎตัวในที่ประชุมของพลเอกประวิตร และการที่ สว.สายพลเอกประวิตรหลายคนงดออกเสียง หรือลงคะแนนไม่เห็นชอบนายเศรษฐา และบางส่วนไม่มาประชุม

8 นับจากวันนี้ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเชิงอำนาจจารีต ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ กับฝ่ายพลเมืองเสรีนิยมสังคมก้าวหน้าที่มีพรรคก้าวไกลเป็นตัวแทนคงทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image