‘ศักดิ์สิทธิ์’กับ‘ยุติธรรม’

‘ศักดิ์สิทธิ์’กับ‘ยุติธรรม’

แม้ “รัฐบาลสลายขั้ว” จะเดินหน้าไปแน่วแน่ แบบไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนเป็นอื่น แต่ความขัดแย้งยังเหลือควันหลงที่ถูกหยิบขึ้นมาขยายการโจมตีใส่กันดุเดือด

หนึ่งในนั้นคือประเด็น “สถานที่จองจำทักษิณ ชินวัตร”

จากแดน 7 อันเป็นโซนพิเศษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ด้วยเหตุผลของความเจ็บไข้ได้ป่วยโรคที่แพทย์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่เชี่ยวชาญพอที่จะรักษา ทำให้ได้สิทธิย้ายมาควบคุมที่ “ห้องรอยัลสูท” ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

Advertisement

ตามด้วยข่าวหลายอาการของความเจ็บปวดกำเริบเพราะบรรยากาศในห้องที่ไม่ติดแอร์เป็นตัวกระตุ้น ทำให้อาจจะต้องย้ายมาพักในโรงพยาบาลเอกชน

เป็นไปพร้อมๆ กับกระบวนการขออภัยโทษที่เชื่อกันว่า จะทำให้ “ทักษิณ” ได้กลับบ้านไปอยู่กับหลานๆ และครอบครัวชินวัตรตามความตั้งใจในการกลับประเทศ

เพราะอย่างไรเสีย “ทักษิณ” ยังอยู่ในฐานะ “นักโทษ” ทำให้การดูแลด้วยขั้นตอนและวิธีการดังว่าก่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึง “ความไม่เท่าเทียม” กับนักโทษคนอื่นๆ

Advertisement

กระทั่งนำมาสู่ข้อเรียกร้องให้ตระหนักถึง “ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย”

เจ้าหน้าที่ และข้าราชการในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกตั้งข้อกังขาในความสำนึกในการรักษาหลักการที่ถูกต้องชอบธรรม

นั่นเป็นมุมของคนที่มอง “ทักษิณ” ในฐานะผู้ต้องถูกต่อต้าน

เป็นการยึดอยู่ในหลักการ “กฎหมายต้องมีความศักดิ์สิทธิ์” และ “บังคับใช้อย่างเท่าเทียม”

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่สะสมอยู่ในจิตใจของผู้คนในสังคมไทยมายาวนาน ในช่วง 20 ปีหลัง ก่อเกิดความแตกแยกในมุมมองอย่างชัดเจน

แม้ในมุมหนึ่งจะเน้นเรื่อง “ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย” ดังกล่าว

แต่ในอีกฟาก เสียงที่ถามไถ่และเรียกหา “กฎหมายที่ยุติธรรม” มีอยู่ไม่น้อย

ทำให้กรณี “ทักษิณ ชินวัตร” ที่มีความพยายามจุดประเด็น “การใช้กฎหมายที่เท่าเทียม” อีกด้านหนึ่งจึงเป็นการตะโกนถามถึง “กฎหมายที่ยุติธรรม”

กลายเป็นปัญหาโลกแตกแบบ “ไก่เกิดก่อนไข่” หรือ “ไข่เกิดก่อนไก่” ขึ้นมาอีกว่า “ความศักดิ์สิทธิ์เกิดจากความยุติธรรม” หรือ “ความยุติธรรมเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย”

เสียงติติงการจัดการกับ “ทักษิณ” ก่อกระแสพลิกกลับมาตอบโต้ในประเด็นรื้อฟื้นเหตุผลที่นำมาสู่ “ความขัดแย้ง” ทำนองว่าเกิดจากการจัดการกับ “กระบวน การยุติธรรม” แบบไหน

และนั่นนำสู่การลามไปถึงการหาคำตอบว่า ระหว่าง “กฎหมายศักดิ์สิทธิ์” “กฎหมายยุติธรรม” อย่างไหนกันแน่ที่จะสร้าง “นิติรัฐ” อย่างได้ผล

อะไรคือต้นทางของ “นิติธรรม” ซึ่งจะสร้างสังคมเสมอภาคอย่างแท้จริงได้

“ทักษิณ ชินวัตร” เป็นแค่รูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนความขัดแย้งในสังคมไทยอันเกิดจากความเห็นที่แตกต่างในนิยมของ “ความศักดิ์สิทธิ์” และ “ความยุติธรรม”

หากบ้านเมืองเรายังสรุปไม่ได้ว่าควรจะเริ่มต้นที่อะไร และไปจบที่อะไร

ย่อมยากที่จะอยู่ร่วมกันอย่างไม่ขัดแย้ง ไม่ว่าเงื่อนไข “สลายขั้ว” จะเอื้ออำนวยเพียงใดก็ตาม

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image