‘กี่จึ๊’ คืออะไร ? รู้จัก พิธี ‘มัดมือ’ เรียกขวัญที่พิธาสวมเสื้อปกากะญอเข้าร่วม

ภาพมัดมือ จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

รุม ล้อมพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แน่นวัดพระยาสุเรนทร์ คลองสามวา กรุงเทพฯ ขณะเดินทางเข้าร่วมพิธีผูกข้อมือของชาวปกากะญอ หรือกะเหรี่ยง ที่เดินทางมาจากจากจังหวัดต่างๆ นับพัน โดยมี สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้การต้อนรับ (อ่านข่าว รุม ‘พิธา’ แน่นวัดพระยาสุเรนทร์ ผูกข้อมือเดือนเก้า ปกากะญอร่วมนับพัน)

พิธีที่ว่านี้ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ?

ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งอ้างอิงจากคำบอกเล่าของชาวปกากะญอ บ้านห้วยตองก๊อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า พิธีดังกล่าว คือการผูกข้อมือ หรือมัดมือ ‘เรียกขวัญ’ หรือกี่จึ๊ โดยใน 1 ปี มี 2 ครั้ง

ครั้งแรกช่วงระหว่างเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ขึ้นอยู่กับปฏิทินของชาวปกากะญอเพื่อจะลงการเกษตรในฤดูกาลใหม่เพื่อเป็นการขอฝนให้การทำงานราบรื่น

Advertisement

ลักษณะพิธีกรรม คือ  ‘ฮีโข่’ (ผู้นำทางธรรมชาติ) จะบอกลูกบ้านของเขาว่าถึงเวลาที่จะมีการทำพิธีผูกข้อมือ ซึ่งเป็นเดือน ทีแพะ ขึ้น 1 ค่ำ จะเริ่มพิธีต้มเหล้า ฮีโข่จะมีการต้มเหล้าก่อน 1 วันและลูกบ้าน จะได้ต้มในวันถัดไปในระหว่างพิธีกรรมจะไม่มีการขายสัตว์ที่เลี้ยง ในหมู่บ้านไม่ขายข้าว ข้าวห่อและข้าวสารจนกว่าพิธีกรรมจะเสร็จ และงานพิธีกรรมหรือขั้นตอนโดยฮีโข่จะเริ่มพิธีและเสร็จพิธีกรรมหลังลูกบ้านเสมอ ในระหว่างพิธีแต่ละครอบครัวจะเรียกสมาชิกกลับมาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อสร้างกำลังใจและเสริมแรงในการใช้ชีวิตในการทำงาน

พิธีมัดมือของปกากะญอบ้านห้วยตองก๊อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ้างจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

พิธีกรรมผูกข้อมือเรียกขวัญครั้งที่ 2 (ลาคุ) เดือนสิงหาคมหรือกันยายน ลาคุ ขึ้น 2 ค่ำ ซึ่งทางฮีโข่ หรือผู้นำทางธรรมชาติ ได้ไปขอขมาเจ้าแม่โพสพทั้งในไร่และนา และขอเพื่อให้ปกป้องรักษาดูแลไร่นา แล้วกลับมาทำพิธีต้มเหล้าในวันวันเดียวกัน เป็นคนแรกของหมู่บ้าน

จากนั้นวันถัดมาในวันที่ 2 ลูกบ้านจะเริ่มพิธีไปขอขมาและขอพรพระแม่โพสพของเจ้าของที่นาและที่ไร่ในแต่ละที่ แล้วกลับมาทำพิธีต้มเหล้าตามฮีโข่ (ผู้นำทางธรรมชาติและจิตวิญญาน) ทุกครัวเรือน เพราะชาวปกากะญอถือว่าเป็นเดือนที่ไม่ดี เป็นเดือนเดียวดายหรือเดือนคี่ เมื่อพิธีกรรมเสร็จทุกบ้านก็จะมีการเริ่มทำพิธีผูกข้อมือ โดยฮีโข่หรือผู้นำทางธรรมชาติ จะเริ่มก่อนลูกบ้านและเสร็จหลังลูกบ้านเสมอ

Advertisement

ทั้งนี้ พิธีดังกล่าว สมาชิกในชุมชนจะพร้อมใจกันกลับมาบ้านเพื่อมัดมือ รับพรจากผู้ใหญ่ เหมือนเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ให้กับชีวิต รวมถึงเชิญชวนคนภายนอกที่สนิทสนมมาร่วมพิธีด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image