‘ชัยธวัช’ ถาม จะเอาแบบนี้เหรอ? ทวนจุดยืน-อำนาจทำคลอด รธน.ใหม่ ‘ปชช.ขยับได้เลย’

‘ชัยธวัช’ ลั่น ทำไมจะไม่ได้? ทวนจุดยืน ก.ก. ‘รธน.ใหม่ทั้งฉบับ’ อำนาจทำคลอดต้องเป็นของ ปชช. – ลง ส.ส.รยิ่งดี

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่บริเวณพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน (ถนนลูกหลวง) เขตดุสิต กรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สมัชชาคนจน ซึ่งชุมนุมปักหลักบริเวณทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาชาวบ้าน จัดเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่”

บรรยากาศเวลา 17.30 น. รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “จาก 14 ตุลา 16 ถึงอึ่งไข่-ด้อมส้ม: 50 ปี การร่าง-ฉีกรัฐธรรมนูญ”

จากนั้น ตัวแทนพรรคการเมืองและผู้นำองค์กรที่เคลื่อนไหวชุมนุม ร่วมล้อมวงเสวนา “เส้นทางสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและเห็นหัวประชาชน” อาทิ นายนิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ, นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26, นายไพฑูรย์ สร้อยสด เลขาธิการสมัชชาคนจน และ น.ส.ณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการ ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ดำเนินรายการ โดย สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ในตอนหนึ่ง นายชัยธวัช กล่าวถึงข้อเสนอและสิ่งที่พรรคก้าวไกลกำลังจะทำเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า แน่นอนจุดยืนของพรรค เราเห็นด้วยว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด จุดยืนนี้ยืนอยู่บนหลักการสุงสุด “อำนาจเป็นของประชาชน” หมายความว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ต้องเป็นของประชาชน

“พูดง่ายๆ เหมือนการทำคลอด อำนาจในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นลูกของเรา อยากจะให้ออกมาเป็นหน้าตา ระบบการเมืองเป็นอย่างไร เรามีอำนาจสูงสุดในการกำหนด ผ่าน ส.ส.ร.ใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจเหนือ เมื่อมีอำนาจสูงสุด จะทำใหม่ทั้งฉบับ ทำไมจะทำไม่ได้

นอกจากนั้น กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดก็ควรทำโดย ส.ส.ร.ที่เลือกเข้าไปโดยตรง เป็นหลักการสำคัญที่ก้าวไกลผลักดัน จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ไม่รู้ แต่ต้องช่วยกันผลักดัน” นายชัยธวัชกล่าว

Advertisement

นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ? เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ ผลักดัน ส่วนในสภาฯ ที่ทำไปแล้วคือ การเสนอญัตติที่ค้างไว้ ขอให้ ครม.ทำประชามติ ถามประชานว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าในสภา ส.ส.โหวตเห็นชอบ ก็จะผ่านไปยัง ส.ว.ซึ่งครั้งที่แล้วก็ผ่าน

“ผมเชื่อว่าถ้า ส.ส.เห็นชอบโดยพร้อมเพรียง แล้วเสียงประชาชนสนับสนุน ส.ว.ก็น่าจะสนับสนุนตาม ส่งให้รัฐบาลทำประชามติ ขณะที่รัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด”

“ทางพรรคก้าวไกลไม่ได้ส่งตัวแทน เข้าไปร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ เพราะเรามีคำถามว่า สิ่งที่รัฐบาลจะทำในการศึกษาทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยืนอยู่บนหลักการใหญ่ 2 เรื่องที่พรรคก้าวไกลผลักดันหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ยืนอยู่บน 2 หลักการใหญ่นี้ เราก็ไม่อาจเข้าร่วมได้ แต่ถ้ายืนอยู่บนหลักการใหญ่ เราก็พร้อมเข้าร่วมเพื่อจัดทำรายละเอียดกัน ว่าจะเดินไปสู่ตรงนั้นอย่างไร” นายชัยธวัชเผย

นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า แม้วันนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้เข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็พร้อมเสมอที่จะเสนอความคิดเห็น ไม่ได้เป็นศัตรูกัน

“เพราะจุดยืนคือ เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่อยู่แล้ว และมีข้อดีของการไม่ร่วม คือเราจะได้มีระยะห่างในการกำกับ ตรวจสอบคณะกรรมการชุดนี้ของรัฐบาลด้วย”

ในช่วงท้าย นายชัยธวัชกล่าวว่า ตนคิดว่า ในส่วนของเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าสุดท้ายกระบวนการจะออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนก็ต้องเตรียมตัวเอาไว้ โดยในส่วนการเมืองเราผลักดันเรื่องประชามติ ยืนยันในหลักการไม่ว่าเนื้อหาจะเป็นอย่างไร ไปว่ากันใน ส.ส.ร.

“สำหรับพี่น้องประชาชน ขยับได้เลย ทำงานความคิดกันตั้งแต่วันนี้ได้เลย ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญที่อยากเห็น หน้าตาจะเป็นอย่างไร ถ้าให้ดีส่งตัวแทนไปสมัคร ส.ส.ร.ยิ่งดีไปใหญ่ และควรด้วย อย่างตัวแทนสมัชชาคนจน เสนอแก้รัฐธรรมนูญแบบไหน

เริ่มต้น เราต้องสรุปบทเรียนจากรัฐธรรมนูญธงเขียว ซึ่งด้านดีมี แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งเรามองย้อนกลับมา มีด้านไม่ดีที่เราเพิ่งเข้าใจหรือเปล่า และถ้าจะแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของเราจริงๆ นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องทำอะไรอีก

อันดับแรก ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญใหม่ อย่าไปยัดทุกอย่างลงในรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ควรจะกระชับ เน้นเรื่องอำนาจ เอาให้ชัดว่าอำนาจอยู่ตรงไหน ถ้าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ก็ออกแบบสถาบันฯ กฎเกณฑ์ทางการเมืองต่างๆ ให้เป็นแบบนั้น ไม่ต้องยัดนโยบายทุกอย่าง สุดท้ายยัดไปก็แค่นั้น แต่ต้องใช้กระบวนการอื่น อย่างการเมืองภาคประชาชน ต้องรักษาไว้ เพราะหวังฝากแค่ในระบบไม่ได้ อาจจะต้องคิดเพิ่มมากขึ้นว่าต้องทำคู่ขนานหรือไม่ อาจจะต้องคิดถึงการมีตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจมากขึ้นหรือเปล่า” นายชัยธวัชชี้

นายชัยธวัชกล่าวอีกว่า เมื่อก่อนเราอาจจะระแวง และไม่เคยคาดหวังว่าการเมืองในระบบจะรับใช้เราได้ เราจึงอยู่ข้างนอก

“แต่ทุกวันนี้ยื่นข้อเรียกร้อง ตั้งคณะกรรมการ ยุบสภา มายื่นข้อเรียกร้อง ตั้งคณะกรรมการ เราจะเอากันแบบนี้หรอ วันนี้เรื่องสำคัญคือที่ดิน-ป่าไม้ เฉพาะหน้าไปขอ ครม.แก้ปัญหา แต่ระยะยาวจริงๆ เราต้องร่วมจับมือกันรื้อกฎหมายป่าไม้ที่ดินใหม่ ผลักดันเรื่องกระจายอำนาจ ต้องทำทั้งระดับรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เรื่องการชดเชยต้องเข้าไปใช้กลไกของรัฐมากกว่านี้” นายชัยธวัชกล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าว : ‘ยุกติ’ ย้ำโจทย์สำคัญ รธน.ใหม่ ‘อย่าหวังไทยเปลี่ยน ’ถ้าไม่แก้โครงสร้าง ไปพร้อมปากท้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image