อรรถจักร์ ลั่น แบ่งหน่อยได้ไหม? ชี้ ไทยเจอทางแยกวัดใจ หยอดแค่ข้าวต้มไม่ปรับตัว กลัวขัดแย้งทวี

อรรถจักร์ ลั่น แบ่งหน่อยได้ไหม? ‘ความเป็นธรรม’ ชี้ สังคมไทยเจอทางแยกสำคัญ ห่วงหยอดแค่ข้าวต้ม ไม่ปรับตัว ความขัดแย้งทวี

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) จัดกิจกรรมระดมทุน “13 ปี พีมูฟ สู่สังคมที่เป็นธรรม” ที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม โดยมีกิจกรรมตลอดทั้งวัน อาทิ รำลึกวีรชน, การระดมทุนผ้าป่าสามัคคี, การเสวนาวิชาการ, ซุ้มอาหารเครื่อข่าย งานวัฒนธรรม เป็นต้น

บรรยากาศเวลา 16.00 น. มีการเสวนาหัวข้อ “สู่อนาคตประชาธิปไตย สู่สังคมไทยที่เป็นธรรม” นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางสาวกรกนก คำตา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคสามัญชน, นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์,นายพายุ บุญโสภณ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป และ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ดำเนินรายการ

ในตอนหนึ่งของการเสวนา ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า ตนอยากจะพูด 2 ประเด็น ประเด็นแรกก็คืออยากจะขอบคุณพีมูฟ และขอบคุณขบวนการคนจนทั้งหมดทุกคนได้ร่วมกันวางก้อนอิฐที่จะแผ้วถางหรือปูทางให้กับการเดินไปสู่สังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่งดงามในอนาคต ทุกคนได้ทำในสิ่งที่สำคัญมากขบวนการคนจนและพีมูฟทั้งหลาย ก็คือว่าทำให้คนในสังคมไทยมองเห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น

Advertisement

“เมื่อกี้คุณด้วงได้พูดถึงว่า หลังอันดามันเกิดการรับรู้พี่น้องชาวเล อันนี้คือกระบวนการที่ทำให้เห็นซึ่งกันและกันตรงนี้สำคัญและพีมูฟก็ได้ทำให้เห็นตรงนี้ชัดขึ้น”

ศ.ดร.อรรถจักร์ชี้ว่า ประเด็นที่สอง คิดว่าสิ่งที่พีมูฟและสังคมไทยกำลังเผชิญ เรากำลังอยู่ในทางแยกที่สำคัญ ทางแยกนี้สำคัญในแง่ที่ว่ามันเป็นทางแยกที่จะชี้อนาคตของสังคมไทยว่าเราจะเดินไปสู่อะไร 13 ปีของพีมูฟ แม้ว่าคุณได้เดินมาแล้วแต่วันนี้เองจากปีนี้ไปปีที่ 14 พีมูฟอาจจะต้องคิดกันให้มากขึ้น ทำให้เกิดการเห็นซึ่งกันและกันอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ พีมูฟอาจจะต้องเคลื่อนไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่า “สหภาพประชาชนไทย” เพื่อที่จะทำให้คนทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น สิ่งที่เป็นจังหวะที่เหมาะสมสำหรับวันนี้ก็คือว่าในสังคมไทยเองวันนี้ความรู้สึกถึงการเรียกร้องความเป็นธรรม ความรู้สึกถึงความอยุติธรรมมันกระจายทั่วไปในสังคมไทย

Advertisement

“คิดว่าการเคลื่อนไหวของพี่น้องสมัชชาคนจนในเขตเมือง ได้รับการมองอย่างเป็นปกติมากขึ้นกว่าเมื่อ 30 ปีก่อน 30 ปีก่อนพวกเราเป็นครูบาอาจารย์ จะต้องเขียนบทความเพื่อช่วยสมัชชาคนจน ความรู้สึกถึงความอยุติธรรมกลายเป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยรับรู้อย่างชัดเจนมากขึ้น” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

“กรณีคุณแป้ง นาโหนด ด้านหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมอีกแบบนึง แต่สิ่งที่คุณแป้ง นาโหนด พูดแล้วก็คนจำนวนมากรู้สึกว่ามันใช่ ก็คือความอยุติธรรม ผมไม่ได้บอกว่าคุณแป้งนั้น ทำสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด แต่เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าความรู้สึกอันนี้มันกระจายทั่วไป” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้คือทางแยก ทางแยกที่สำคัญตรงนี้ก็คือว่าทำอย่างไรจะทำให้ความเป็นธรรมนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่ เป็นขบวนมากขึ้นการเคลื่อนไหวที่ถักสานกันในฐานะของความเป็นพลเมืองที่สูงมากขึ้น ผลการเลือกตั้ง 24 ล้านเสียงที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งเป็นเสียงที่ยืนยันถึงความสำนึกในเรื่องความอยุติธรรมของโครงสร้าง แต่ยังไม่เพียงพอ เรายังไม่สามารถเคลื่อนที่คน 10 ล้าน 14 ล้าน 24 ล้านเพื่อจะบอกว่า ‘ต้องแก้แล้ว

ดังนั้นสิ่งที่เราเป็นทางแยกตรงนี้ คือเราจะทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชน เป็นมวลชนที่ไพศาลที่จะบอกว่าคุณต้องแก้เพื่อที่จะบอกว่าเครือข่ายชนชั้นนำต้องตระหนัก ว่าหลายร้อยปีที่เครือข่ายชนชั้นนำได้เปรียบมา วันนี้แบ่งกันหน่อยได้ไหม แบ่งเพื่อความเป็นธรรม และสิ่งสำคัญที่จะต้องเน้นย้ำตรงนี้ก็คือว่าความเป็นธรรมความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็คือในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นในสังคมเผด็จการหรือสังคมอื่นๆ

“สิ่งที่พีมูฟและขบวนการคนจนทำทั้งหมดก็คือว่า เขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เขาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมตรงนี้เองคือสิ่งที่จะต้องเป็นหัวใจที่จะผลักดันไปสู่สังคมแห่งความเป็นธรรม และประชาธิปไตยมากขึ้น” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องที่ดินเป็นฐานของการเรียกร้องมาอย่างน้อย 40 ปี อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ พูดที่เชียงใหม่ว่าเราต่อสู้ให้พี่น้องชนเผ่าเรื่องที่ดินตั้งแต่หัวดำจนหัวหงอกกันหมดแล้ว สิ่งที่เห็นชัดก็คือว่ารัฐไทยและเครือข่ายชนชั้นนำไทย เป็นผู้จรรโลงความเหลื่อมล้ำอันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือรัฐไทยต่างหากคือคนที่ทำให้ความเห็นแบบนี้มันดำเนินต่อมาและดำเนินต่อไป ไม่มีรัฐอารยะที่ไหนในโลกนี้ที่มันปล่อยให้ที่ดินเป็นสินค้าอย่างเสรีแบบที่เป็นอยู่ในประเทศไทย นี่คือเรื่องใหญ่ การที่รัฐไทยปล่อยให้ที่ดินเป็นสินค้าเสรีที่ใครจะมีก็ได้แล้วแต่กำลังซื้อ จึงไม่แปลกใจว่าการขยายตัวของสิ่งที่เรียกว่าสมบัติปัจเจกชนบนที่ดินจึงขยายตัวและกระจุกตัวอยู่ในคนจำนวนนิดเดียว

คิดว่าคนในประเทศไทยประมาณ 4-500 ตระกูลเท่านั้นที่มีที่ดินที่ดี 70% งานของ อ.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ชี้ว่าคน 300 ตระกูลเท่านั้นมีที่ดินที่ดีเป็นที่ดินโฉนด 70% ของประเทศ ในขณะที่ชนชั้นกลางหรือกลางล่างทั้งหมดกว่าจะได้ร้อยตารางวานี้ผ่อนจนหัวหงอก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่ารัฐไทยได้ขยายอำนาจในการเปลี่ยนที่ดินทั้งหมดให้กลายเป็นสมบัติของปัจเจกชน พร้อมๆกันนั่นเองก็ขยายอำนาจรัฐออกไปยึดที่ดินประกาศว่าเป็นของรัฐ ทั้งๆ ที่ดินนั้นอยู่พี่น้องประชาชนจำนวนมากเป็นผู้ทำมาหากิน ตัวรัฐไทยจึงเป็นตัวจรรโลงปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน

ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวว่า การเก็บภาษีที่ดินที่พยายามจะออกมานั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง สมมุติว่าเป็นบ้านคุณ ถ้าต่ำกว่า 50 ล้านเสียภาษีนิดเดียว พี่น้องคนจนเมืองรุ่นใหม่ไม่มีแม้กระทั่งสลัมจะอยู่ จำเป็นที่จะต้องไปเช่าห้องเช่าราคาถูก พี่น้องคนจนเมืองรุ่นใหม่จำนวนมากมีชีวิตที่ต่ำลงกว่าเดิมอย่างมากมายด้วยปัญหาของที่ดิน ปัญหาของที่ดินของรัฐและปัญหาที่ดินกึ่งของรัฐ ใช้คำว่ากึ่งของรัฐกรณีที่ดิน สปก.

ดังนั้นเราจึงต้องพูดถึง ใช้คำเดิมว่าเราจำเป็นต้องคืนที่ดินให้แก่ผู้ที่แบกไถ สิ่งสำคัญคือสิทธิบนที่ดินของคนจนจำเป็นที่จะต้องถูกสถาปนาขึ้น และจำเป็นที่จะต้องถูกค้ำประกันไม่ให้กลายเป็นสินค้าเสรีในตลาดที่ดิน เช่น ถ้าพรรคก้าวไกลสามารถออกการเปลี่ยนที่ดินเป็นโฉนดได้ จำเป็นที่พวกเราต้องคิดต่อถึงกฎหมายที่จะต้องจำกัดการถือครองที่ดินของคน เราจำเป็นที่จะต้องคิดทั้งหมดเพื่อจะทำให้ความยุติธรรมบนการมีสิทธิบนที่ดินกระจายกันทั่วไป

“จำได้ไหม ตอนที่เริ่มต้นที่จะเก็บภาษีที่ดินบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ประกาศเลยว่าตัวเองปลูกกล้วย ซึ่งนี่คือความหยาบคายของกลุ่มทุน เราจำเป็นที่จะต้อง ทำให้เกิดการกระจายตรงนี้และค้ำประกันด้วย” ศ.ดร.อรรถจักร์ชี้

ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวว่า ข้อกังวลถึงทางแยกตรงนี้ทางแยกเรื่องที่ดินและทางแยกอื่นที่ผู้คนกำลังคิดถึงความไม่เป็นธรรมนี้ คิดว่าถ้าหากรัฐไทยไม่ปรับ ตัวชนชั้นนำไทยไม่คาดคิดถึงเรื่องนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งจะทวีสูงมากขึ้น การคิดถึงเรื่องแค่การหยอดน้ำข้าวต้มให้แก่ผู้ป่วยแบบที่กำลังทำอยู่ เช่น หนี้สินนอกระบบ ถ้าคิดแค่นี้ไม่ได้แก้ปัญหา ดังนั้นสิ่งที่เราจำเป็นต้องคิด คือจำเป็นต้องคิดเป็นกระบวนการต่อไป หลังจากเปลี่ยนโฉนด หลังจากมีการจำกัดการถือครองที่ดินแล้ว การเสริมสร้างให้พี่น้องเกษตรกรทั้งหมดจะสามารถขยับตัวเองไปสู่การเพาะปลูกที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้

“การปลูกข้าวแบบที่เราปลูกตอนนี้ ตลาดข้าวบ้านเราเราส่งออกประมาณ 8 ล้านตันโดยเฉลี่ย เป็นข้าวคุณภาพต่ำซะส่วนใหญ่ แต่ข้าวคุณภาพต่ำนี้พี่น้องชาวนาปลูกโดยที่ตัวเอง สามารถไปหาเงินนอกภาคเกษตรและมาจ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นเราต้องสร้างความเฉพาะของสินค้าที่เราต้องทำ” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวต่อว่า แนวทางการจะจำกัดการถือครองที่ดิน คงต้องคิดกันให้มากกว่ามาตรการภาษีตอนนี้ และขบวนการคนจนและพีมูฟ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการคิดตรงนี้ เพื่อเสนอแก่รัฐ เสนอแก่สังคมและให้สังคมบีบรัฐ ย้ำก่อนถ้าเราปล่อยให้เครือข่ายคนจนและรัฐคิด ไม่มีทางเป็นไปได้ การเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจำเป็นต้องคิดถึงตลาดท้องถิ่นตลาดทางเลือกการสร้างบริโภคภายในสูงขึ้น ในช่วง 10 ปีหลัง ทุกคนรับรู้เราจะพบว่ามีตลาดนัดขยายตัวทั่วไปในพื้นทุกพื้นที่ ตลาดนัดทั้งหลายที่ขยายตัวนี้ 50% เป็นคนของคนในพื้นที่ เราจะสร้างมันให้เข้มแข็งได้ไหม

เรื่องสุดท้าย เราจะสร้างสังคมที่เป็นธรรมได้ แก้ปัญหาที่ดินได้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ทั้งหมดเราต้องแก้โครงสร้างอำนาจทางการเมือง

“เมื่อกี้คุณด้วงพูดถึงหลังรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 สิ่งที่เกิดขึ้นคือการสะพรั่งกันของขบวนการที่สร้างสังคมที่งดงาม หลังสึนามิซึ่งเป็นผลมาจาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเห็นชาวเลมากขึ้น ชาวเลนี้ถูกแก้ปัญหาบนบนเงื่อนไขตรงนี้ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องคิดมากที่สุดและพีมูฟต้องคิดประชาชนทั้งประเทศต้องคิด คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นที่จะต้องถักสานความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่ทำให้พวกเราพี่น้องคนธรรมดาสามัญ มีอำนาจมากขึ้น เราคงจะต้องจำลองหรือปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพื่อที่จะทำให้ตรงนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่การสร้างความยุติธรรม และน่าจะเป็นความยุติธรรมที่เปิดกว้างให้กับสังคมไทยทั้งหมดได้เดินไปสู่สังคมที่งดงามมากขึ้น” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image