‘ก้าวไกล’ แนะนิรโทษเจ้าหนี้ที่ร่วมมือ ชี้วิธีเดิมส่อเหลว เพราะจนท.รัฐเป็นหนี้เสียเอง

‘ก้าวไกล’ แนะนิรโทษเจ้าหนี้ที่ร่วมมือ ชี้วิธีลงทะเบียนส่อเหลว เพราะจนท.รัฐ เป็นเจ้าหนี้เสียเอง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงว่า เรื่องโครงการแก้หนี้นอกระบบที่นายเศรษฐาได้ประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนขอแสดงความชื่นชมในความตั้งใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่จะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นตัวกลางในการเจรจาหนี้นอกระบบ แต่การให้ลงทะเบียนลูกหนี้โดยเปิดเผยเจ้าหนี้ในทางปฏิบัติไม่เกิดผลสำเร็จได้แน่ เพราะหนี้นอกระบบทั้งหมดจะเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผิดกฎหมายอาญาและมีโทษจำคุกถึง 2 ปี หากเจ้าหนี้นอกระบบเปิดเผยตนเองเท่ากับยอมรับผิด ลูกหนี้จะกลายเป็นผู้เสียหาย และเจ้าหนี้ก็จะเป็นจำเลย ไม่รวมถึงการเกรงอิทธิพลของเจ้าหนี้ในพื้นที่ ตนจึงคิดว่าการลงทะเบียนจะไม่ได้ผล

นายจุลพงศ์กล่าวว่า จากการติดตามข่าวทราบว่าตลอด 7 วันที่ผ่านมามีการลงทะเบียนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,300 ล้านบาท แต่จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติหนี้ครัวเรือนมีมากกว่า 3 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นใน 7 วันที่ผ่านมาถือว่าเป็นการลงทะเบียนที่น้อยมาก อีกปัญหาหนึ่งหากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจในท้องที่เป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้นอกระบบเสียเอง ก็จะเกิดการขัดกันของผลประโยชน์ ตนจึงอยากตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าจะแก้อย่างไร ซึ่งตนขอเสนอให้รัฐบาลทำควบคู่ไปกับการลงทะเบียนคือการไกล่เกลี่ยหนี้ รวมถึงพิจารณานิรโทษกรรมเจ้าหนี้นอกระบบที่ให้ความร่วมมือและสามารถเจรจาหนี้โดยผ่านกลไกของรัฐ โดยการนิรโทษกรรมนี้ทำเฉพาะเจ้าหนี้นอกระบบที่ให้ความร่วมมือเท่านั้น

นายจุลพงศ์กล่าวว่า ในส่วนเรื่องการลงทะเบียนหนี้นอกระบบที่รัฐบาลกำหนดระยะเวลาไว้ 3 เดือน จากวันที่ 1 ธ.ค.นั้น ลูกหนี้นอกระบบยังต้องแบกรับดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 เดือน ยังไม่รวมถึงขั้นตอนทางราชการและยังไม่ทราบว่าจะสามารถไกล่เกลี่ยหนี้ได้เมื่อไร แน่นอนว่าในระยะ 3 เดือนดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบจะมากกว่าเงินต้น ตนขอเสนอการแก้ไขหนี้นอกระบบในภาพรวมอย่างยั่งยืนคือรัฐบาลควรต้องใช้กลไกธนาคารของรัฐ หรือกองทุนกำหนดดอกเบี้ยต่ำ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนรายย่อยง่ายขึ้น และรัฐบาลต้องเข้ามาค้ำประกันหนี้ให้ อีกข้อเสนอคือรัฐบาลต้องสร้างช่องทางการหารายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทักษะแรงงานใหม่ๆ หรือการเสนอให้มีการจ้างงานโดยมีค่าแรงรายชั่วโมง เพื่อให้คนทำงานประจำสามารถหารายได้ในเวลาเลิกงานหรือวันหยุดโดยไม่กระทบกับงานประจำ เช่น งานร้านสะดวกซื้อ งานดูแลผู้สูงอายุ หรืองานร้านอาหาร ซึ่งตนจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image