ชัยธวัช ร่าย ปวศ. ก่อนรู้จัก รธน. ห่วงปม ส.ส.ร. ถกที่มาเชิง ‘เทคนิค’ เยอะเกิน

ชัยธวัช ร่าย ปวศ. ก่อนรู้จัก รธน. ห่วงปม ส.ส.ร. ถกที่มาเชิง ‘เทคนิค’ เยอะเกิน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรม PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน โดยมี วิทยากร ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร. นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก, นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ, รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวนำ และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผอ. โครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ดำเนินรายการ

ในตอนหนึ่ง นายชัยธวัชกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือก่อนหน้าที่เราจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ ระบบระเบียบเกิดจากอะไร บางที่เกิดจากการอ้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ใช้กองทัพ ทหาร ในการควบคุม แต่อยู่ดีๆ มนุษย์มีสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า อยู่ดีๆ เกิดนวัตกรรมทางการเมืองใหม่ที่มหัศจรรย์ เป็นเอกสารลายลักษณ์ที่มนุษย์เขียนขึ้นในนามประชาชน ในนามชาติ เพื่อแตกหักกับระบอบบจารีต สถาปนาระบอบการเมืองใหม่ที่ยึดโยงประชาชนคนส่วนใหญ่ หมายความว่า รัฐธรรมนูญคือผลงานการสร้างสรรค์ของมนุษย์ หรือประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เราทุกคนคือผู้มีศักยภาพในการออกแบบสถาปนาก่อตั้งรูปแบบทางการเมืองที่ปรารถนาได้

“อยากให้มองการเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญในแง่ประวัติศาสตร์สังคม อยู่ดีๆ มีเอกสารที่เราเขียนขึ้นมาว่าอยากได้แบบนี้ อยากอยู่แบบนี้ร่วมกัน และเป็นอำนาจของเราในการกำหนด” นายชัยธวัชกล่าว

Advertisement

จากนั้นนายชัยธวัชกล่าวถึงประเด็นการออกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ตนคิดว่าต้องพยายามทำให้ยึดโยง หรือแสดงออกใรการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนที่มีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะกำหนดระบบการเมืองที่ปรารถนา

พรรคก้าวไกลจึงไม่ใช่แค่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าสามารถออกแบบให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดได้ยิ่งดี แต่อาจมีคำถาม เช่น ถ้ามาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้วผู้เชี่ยวชาญจะไปอยู่ตรงไหน กังวลว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญไม่เป็นเหมือนผู้เชี่ยวชาญหลายคน กลัวว่าถ้าเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงอาจมีกลุ่มที่ถูกผลักไปเป็นชายขอบซี่งตนคิดว่าเป็นเรื่องปลีกย่อยที่ออกแบบได้ เช่น ตอนนี้กรรมาธิการพัฒนาการเมืองของ ส.ส. ซึ่งนายพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นประธานอยู่ กำลังตั้งอนุกรรมการศึกษาโมเดล ส.ส.ร.เพื่อมานำเสนอ พยายามออกแบบตัวเลือกว่าเราควรมี ส.ส.ร.แบบไหนได้บ้างให้ยึดโยงประชาชนมากที่สุด

Advertisement

“ถ้าอยากให้มีพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ ของตัวแทนความหลากหลาย ก็สามารถออกแบบได้ เช่น เลือกตั้งโดยตรงเหมือนกัน แต่เหมือนบัญชีรายชื่อ เป็นต้น

นี่เป็นสิ่งที่อยากชวนคิด ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการถกเถียงในเชิงเทคนิคมากจนเกินไป” นายชัยธวัชกล่าว

นายชัยธวัชกล่าวว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนให้ทำประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 และ 3 คือการทำตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันว่า ต้องทำหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับ แต่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ดูคลุมเครือเหมือนจะตัองทำ พรรคก้าวไกลยืนยันว่าหากอ่านรัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วมีอำนาจเต็มที่ ที่ ‘ไม่ต้องทำ’ และสู้ประเด็นนี้มาตลอด

“เราคัดค้าน ไม่เห็นด้วยมาตลอด เวลาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วมีใครไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ยืนยันว่าเป็นอำนาจของสภา ไม่ต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายต้องยอมรับว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ไม่กล้ายืนยันเรื่องนี้ เวลามีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาในลักษณะคลุมเครือ” นายชัยธวัชกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายชัยธวัชกล่าวว่า เราควรทำประชามติครั้งที่ 1 ก่อนเลย เมื่อทำเสร็จแล้วจะได้มีความชอบธรรมทางการเมือง หลังพิงประชาชน พรรคการเมืองต่างๆ จะได้ไปเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสภาอย่างสบายใจ และเหตุผลที่ 2 คือ จุดยืนพรรคก้าวไกล เห็นว่าประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญควรแก้ได้ทั้งฉบับ

“ข้อดีของการทำประชามติตั้งแต่แรกและการมีคำถามพ่วง จะสามารถยุติความเห็นต่างโดยใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยได้ และจะเป็นข้อดีในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยราบรื่น” นายชัยธวัชกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image