‘สิริพรรณ’ รับ เอาเข้าจริงไม่ง่าย เทียบชิลี ‘ยกร่างรธน.’ ประชามติ 3 รอบยังไม่ผ่าน

‘สิริพรรณ’ รับ เอาเข้าจริงไม่ง่าย อธิบายยิบ ‘ยกร่าง รธน.’ ทำไมถึงยาก เทียบ ‘ชิลี’ กังวลมาก ประชามติ 3 รอบยังไม่ผ่าน

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ถนนดินสอ เขตพระนคร เครือข่ายสมัชชาคนจน จัดงาน “เบิกฟ้ารัฐธรรมนูญใหม่

บรรยากาศเวลา 18.00 น. ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมเสวนาในเวที “เส้นทางสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ได้แก่ นายนิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล, ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ดำเนินรายการโดย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ในตอนหนึ่ง ศ.ดร.สิริพรรณ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะ 1 ในคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ กล่าวว่า ตนขอชวนคิดเริ่มจากรัฐธรรมนูญ 2560 เห็นด้วยว่าสมควรแก้ไขอย่างมาก ในเรื่องของอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะนอกจากนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ยังมีองค์กรอิสระที่คลุมทั้งหมดอยู่ แต่กลับไม่มีอะไรที่คลุมองค์กรอิสระ

Advertisement

“หลายเรื่องจริงๆ ถ้าไปดูรัฐธรรมนูญ 2560 ลดทอนสิทธิเสรีภาพและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนลงไปเยอะ เช่นการที่ประชาชนสามารถถอดถอนนักการเมืองได้ ซึ่งเคยมีในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็หายไป ถ้ามองในแง่เนื้อหา ส่วนนี้ก็อยากจะเพิ่ม

ที่สำคัญที่สุดคือ ส.ว. หลายท่านอาจจะบอกว่าไม่ต้องมีแล้วก็ได้ แต่ถ้ามี ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง จำนวนเท่าไหร่ หน้าที่คืออะไร แน่นอนว่า หน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี จะไม่มีแล้วแน่ๆ หลังวันที่ 21 พฤษภาคมปีหน้า” ศ.ดร.สิริพรรณ ชี้

Advertisement

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวต่อว่า แต่ที่อยากจะพูดให้ชัดอีกประเด็น ซึ่งไม่ค่อยได้ยินคนพูด คือที่มาของฝ่ายบริหาร หรือ ‘นายกรัฐมนตรี’ ที่ยังไม่มีการพูดกันคือ การให้พรรคการเมืองเสนอ 3 รายชื่อในบัญชี

“ดิฉันมองว่า มันทำให้เกิดปัญหาพ่วงตามมา และไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ทำกัน ถ้าจะอ้างว่าให้ประชาชนรับรู้ว่าใครจะมาเป็นว่าที่นายกฯ มันไม่ได้ เพราะจะเกิดความสับสนว่า ตกลงใครคือตัวจริงกันแน่ คือส่วนที่คิดว่าน่าจะต้องแก้ไข ถ้าพูดมองในมุมนักวิชาการ” ศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวต่อว่า ภาพรวมทั้งหมดนอกจากที่มา กระบวนการ และเนื้อหาแล้ว ตนอยากเสริมเรื่อง ‘วัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเรารู้ว่าฉบับปี 2550 และ 2560 ทั้ง 2 ฉบับมีที่มาหลังการรัฐประหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อ1.ลดทอนอิทธิพลของพรรคใหญ่ อย่างชัดเจน
2.เพื่อให้กลุ่มจารีตสามารถอยู่ในอำนาจต่อได้

“วัตถุประสงค์ตรงนี้ ได้ถูกใช้อย่างเข้มข้นและบรรลุไปแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 ซี่งในการเลือกตั้ง 2550 ยังไม่สำเร็จ เพราะพลังประชาชน ช่วงคาบต่อของไทยรักไทย กลับมา ดังนั้นเราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งใจที่จะใช้ยาแรงกับทุกเรื่อง นี่คือวัตถุประสงค์ที่แอบแฝง” ศ.ดร.สิริพรรณเผย

ศ.ดร.สิริพรรณชี้ว่า พอเรามองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกรอบความคิดแบบนี้ วางหลุมพรางทางการเมืองเอาไว้เยอะ ทำให้แก้ไขยาก ตนมั่นใจว่าเราทุกคนที่นั่งอยู่ในลานคนเมืองแห่งนี้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องการเห็นการจบลงของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เอาเข้าจริงไม่ได้ง่ายแบบนั้น ท่ามกลางความเห็นต่าง กลไกที่ถูกใส่เข้ามา ทำให้ ทำไมถึงต้องมีกรรมการประชามติ คณะกรรมการนู่นนี่นั่นขึ้นมา

“ขอพูดในมุมมองนักวิชาการว่าทำไมมันถึงยาก ไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ์) เล่าให้ฟัง อย่างแรกคือเมื่อฝ่ายค้าน สมัยก้าวไกลเพื่อไทยผนึกกำลังกัน แล้งจะแก้รัฐธรรมนูญ กระบวนการก็ไปจบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ที่พูดๆ กัน ทำให้เกิดประเด็นว่า ถ้าเราจะอยากรีบทำประชามติเลย มันจะสำเร็จไหม นี่คือความห่วงใยตรงนี้”

“จริงๆ แล้วโดยส่วนตัวไม่อยากเห็นการทำประชามติหลายครั้ง เพราะแต่ละครั้งมันสิ้นเปลือง ประมาณ 3,200 ล้าน ที่ กกต.บอก เราก็ไม่อยากเห็นการทำประชามติ ก. (ครั้งแรก) ที่ไอติมพูด แต่คำถามคือ ‘ถ้าไม่ทำ ในที่สุดมันจะแก้ได้ไหม’ เป็นสิ่งที่ตอนนี้คณะกรรมการฯ ถามความเห็นกัน และอยากมีข้อยุติที่สร้างฉันทามติเพื่อที่จะเดินหน้าได้ และเชื่อว่าวันที่ 25 ธันวาคมนี้ ที่จะมีการประชุมจะมีความชัดเจนขึ้น”

ประการที่ 2 หากไปดูคำวินิจฉัยของศาลจะมีคีน์เวิร์อยู่ 2 คำคือ 1 .อำนาจในการแก้ไขเป็นของรัฐสภา ดังนั้น เราก็อยากการใช้การทำประชามติมาเป็นแนวทางให้รัฐสภา รัฐสภาจะฟังหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง

2. ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นชอบก่อน ตรงนี้คือคำหลักที่อาจจะนำมาสู่การที่ต้องทำประชามติ ก. ทั้งๆที่เราอาจจะไม่ได้อยากทำ เพราะแต่เราอยู่ภายใต้นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มายาวนาน เป็นโจทย์ที่อยากเล่าให้ฟัง” ศ.ดร.สิริพรรณเผย

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า เมื่อมาถึงกระบวนการประชามติพูดในนามส่วนตัว ที่แน่ๆ ตนเป็นหนึ่งในคนจำนวนต้นๆ ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญ 2560 หมดอิทธิฤทธิ์ไปเสียที ก็อยากจะเห็นมันถูกแก้ ในกระบวนการที่เหมาะสม ได้เนื้อหาที่ทันสมัย ตอบโจทย์พี่น้องประชาชน

“ที่อยากจะเล่าให้ฟัง อาจดูเหมือนเป็นเรื่องต่างประเทศ แต่มันอาจจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับสังคมไทย คือ ‘ชิลี’ ล่าสุดทำประชามติไปวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ‘ไม่ผ่าน’ และเป็นการทำประชามติครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2021 ที่ไม่ผ่านเพราะประชามติครั้งแรก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ได้มาเป็นฝ่ายก้าวหน้าและร่างรัฐธรรมนูญที่นักวิชาการทั่วโลกมองว่า ก้าวหน้าที่สุดในโลก แต่พอประชาชนทำประชามติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ประชาชนบอกว่ามันก้าวหน้าเกินไป ไม่ผ่าน เกิดขึ้นเมื่อกันยายน 2022 รัฐบาลไม่ยอมท้อถอย ตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา โดย สภาร่าง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนที่สภาแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ 24 คนและประชาชนเลือกมาอีก 51 คน มาทั้งจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง ปรากฏว่าฝ่ายขวาได้รับเลือกตั้งมาเป็นกรรมาธิการยกร่างมากกว่าฝ่ายซ้าย เพราะครั้งที่แล้วประชาชนเข็ดฝ่านซ้าย ครั้งนี้รัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาขวาจัด มีเนื้อหาที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น อาจจะทำให้ ‘การทำแท้ง’ กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ทำประชามติเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ผ่าน นี่คือสังคมที่ถูกดึงระหว่างซ้ายจัดและขวาจัด ตอนนี้ประธานาธิบดีบอกว่า ‘ผมจะไม่ทำประชามติอีกแล้ว จะใช้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ’ ฉบับที่ใช้ทุำวันนี้ ร่างมาตั้งแต่สมัยเผด็จการปิโนเชต์ ตั้งแต่ 1980 แต่เขาแก้มาเรื่อยๆ จนเนื้อหาจริงๆ เป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมากแล้ว เพียงแต่ประชาชนยังไม่ได้รู้สึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน มาจากประชาธิปไตยเขาจึงใช้เวลา 3 ปีที่ผ่านมาทำประชามติไป 3 ครั้ง เลือกตั้งสสร 2 ครั้ง”

“ชิลีเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีมาก ไม่ใช่ประชาชนเขาไม่รู้เรื่อง นี่คืออุทาหรณ์ที่บอกตัวเองว่าในการทำประชามติ เราจะทำอย่างไรที่จะได้เสียงฉันทำมติที่รับฟังและโอบอุ้มความเห็นต่างทั้งหลายทั้งปวงได้ คนชิลีเกลียดรัฐธรรมนูญ 1980 มาก แต่ทำประชามติ 3 รอบแล้วไม่รอด ก็เหมือนเรา ไม่ชอบรัฐธรรมนูญ 60 เลย คือสิ่งที่กังวลใจมาก” ศ.ดร.สิริพรรณ

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวอีกว่า ที่กังวลใจตอนนี้คือ พ.รบ.ประชามติ ต้องบอกว่าประเทศไทยทำประชามติมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก คือตอนทำรัฐธรรมนูญ 2550 ครั้งที่ 2 ตอนรับรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้ผ่านการทำประชามติ แต่ผ่านสภาฯ

ถ้าเราจะทำประชามติวันนี้ มี พ.ร.บ.ประชามติ 2564 อยู่ ซึ่งผ่านสภาชุดที่แล้วมา เป็นหลักคือต้องใช้เกณฑ์ในการผ่าน 2 ชั้น คือ

1.ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องไปใช้สิทธิเกินครึ่ง คำถามคือ เชื่อมั่นหรือไม่ว่าจะมีประชาชนไปใช้สิทธิเกินครึ่ง

2.ใน พ.ร.บ.ประชามติปี 2564 ไม่ได้มีแค่เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ แต่มีช่องให้ ไม่แสดงความคิดเห็นด้วย มี 3 ช่อง ด้วยความที่อยากเห็นประชามติผ่านไม่ว่าจะต้องทำ 2 หรือ 3 ครั้งและอยากเห็นจุดเริ่มต้นของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เร็วๆ และไม่อยากให้กระบวนการร่าง นานด้วย อยากจะเห็นการขับเคลื่อนไปโดยเร็ว

“ในฐานะคนสังเกตการณ์ทางการเมือง อยากเห็นพื้นที่ที่โอบรับความแตกต่าง และช่วยกันผลักดันให้ประชามติไม่ว่า 2 หรือ 3 ครั้งผ่าน การจัดทำรัฐธรรมนููญให้ประชาชนเห็นชอบในระยะสั้น และมีเนื้อหาที่รับรองสิทธิของประชาชน แต่ไม่ต้องเยิ่นเย้อ” ศ.ดร.สิริพรรณเผย

เมื่อถามว่า ถ้าให้ระดับความยาก ตัดเกรดเท่าไหร่ ยากแบบผ่านหรือไม่ผ่าน ?

ศ.ดร.สิริพรรณเผยว่าเชื่อว่าจะผ่าน แต่ไม่ง่าย แรงต้านที่มีพลังมากคือ กลุ่มจารีตที่มีประมาณ 13% โดยเฉพาะ ส.ว.

เมื่อถามว่า บทบาทของรัฐบาลในปัจจุบัน จำเป็นหรือไม่ ที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตอนนีมีการประเมินว่าอาจจะต้องรอ 3-4 ปีถึงจะเสร็จ ?

ศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า การทำประชามติของชิลี ประธานาธิบดีแทบจะไม่มีบทบาท เลือกที่จะวางตัวเป็นกลางค่อนข้างมาก เนื่องจากช่วงนั้นสนับสนุนต่ำต่ำมาก ประมาณ 35% จึงไม่เลือกเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วให้สภาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาที่เข้ามามีบทบาทหลัก

“ถ้ามองในแง่ของรัฐบาลไทย ในแง่เหตุผลทางการเมืองรัฐบาลไทย มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรักษาสัญญาเรื่องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ขณะเดียวกัน เหตุผลทางการเมือง ก็อาจจะทำให้รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินไปข้างหน้า ตรงนี้เลยทำให้อาจจะไม่เร็วทันใจเรา” ศ.ดร.สิริพรรณระบุ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image