นักวิชาการ เสนอวธ.รื้อทีมทวงคืนโบราณวัตถุ คาใจ 2 ปีประชุมหนเดียว 5 ปีแทบไม่คืบ

ซ้าย-พระโพธิสัตว์สำริดจากประโคนชัย จัดแสดงที่ The MET สหรัฐ หนึ่งในรายการโบราณวัตถุที่รัฐบาลไทยพยายามทวงคืน / ขวา-ดร.ดำรง ลีนานุรักษ์ หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศฯ

นักวิชาการ เสนอ เสริมศักดิ์ รมว.วธ.นำทัพทวงคืน แนะรื้อโครงสร้างคณะกรรมการ อย่าติดกรอบราชการ ต้องรุกหนัก ทำงานคล่องตัว คาใจ 2 ปีประชุมครั้งเดียว วาระแรกปีหน้ายังเรื่องเดิม

สืบเนื่องกรณีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) สหรัฐอเมริกาว่าจะมอบคืนโบราณวัตถุไทย 2 ชิ้น ได้แก่ ประติมากรรมพระศิวะสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy และประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการติดตามโบราณวัตถุในต่างแดนของรัฐบาลกัมพูชานั้น (อ่านสกู๊ปหน้า 1 : อานิสงส์ ‘รบ.กัมพูชา’ ไทยได้คืนโกลเด้นบอย)

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ดร.ดำรง ลีนานุรักษ์ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาทำงานเชิงรุกในการติดตามคืนโบราณวัตถุของตน ขณะที่ไทยมีการประชุมเพียง 1 ครั้งในช่วง 2 ปี โดยเป็นการประชุมออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่วนในปี 2567 จะมีการประชุมในวันที่ 4 มกราคม แต่เมื่อพิจารณาจากวาระการประชุมแล้ว พบว่าเป็นเรื่องเดิม ไม่มีมาตรการเชิงรุก ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รื้อโครงสร้างคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ โดยใช้คณะทำงานใหม่เป็นนักวิชาการอิสระ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนข้าราชการของกรมศิลปากร ทำหน้าที่ฝ่ายเลขาฯ เน้นย้ำการทำงานเชิงรุกอย่างคล่องตัว หลุดจากกรอบราชการ

“2-3 ปีมานี้ ทางกัมพูชารุกหนักในการทวงคืนโบราณวัตถุ ส่วนไทยเงียบเชียบ ที่ได้คืนมา 2 ชิ้นหลังรวมทั้งโกลเด้นบอยก็ได้มาเพราะผลการทวงเชิงรุกของกัมพูชาที่นำโดยนาย Bradley Gordon ที่รัฐบาลกัมพูชาตั้งให้นำทีมทวงคืนฯ ร่วมกับทางโฮมแลนด์ของอเมริกา (สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ -HSI) ผมจึงขอตั้งคำถามว่า โครงสร้างคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ ผิดหรือไม่ การทำงานจึงไม่มีอะไรคืบหน้ามา 4-5 ปี

Advertisement

2 ปีเศษที่ผ่านมานี้ มีประชุมเพียงครั้งเดียว และเป็นประชุมออนไลน์ช่วงโควิด ที่มีแต่เรื่องเดิม ไม่มีการทวงเชิงรุก นี่วันที่ 4 มกราคม 2567 จะมีประชุมคณะกรรมการ เห็นมีแต่วาระ เรื่องเดิม ไม่มีวาระเสนอทวงคืนใหม่ หรือชี้แจงว่าจะมีมาตรการเชิงรุกต่อการทวงคืนประติมากรรมพระโพธิสัตว์จากเขาปลายบัดทั้ง 18 องค์ โดยอยู่ที่ The MET 4 องค์ อย่างไร

ผมอยากจะเห็นท่านเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นผู้นำในเรื่องนี้ โดยสร้างทีมทวงคืนเล็กๆแต่มีประสิทธิภาพ ทำงานเชิงรุก ร่วมมือกับกัมพูชา ขอแชร์ข้อมูลแฟ้มลับของนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุและร่วมมือกับนักสืบโฮมแลนด์ใกล้ชิดขึ้น

การที่จะทำเช่นนี้ได้ คงต้องรื้อโครงสร้างคณะกรรมการติดตามฯ แล้วให้กรมศิลปากร ที่นำโดยท่านอธิบดีกรมศิลปากรไปเน้นทำงานรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินให้ดี ไปปกป้องรักษาสมบัติชาติที่อยู่ในขอบข่ายที่รับผิดชอบภายใต้งบประมาณที่จำกัดอยู่ให้ดี ขยายระบบพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความสำคัญของพื้นที่ที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเช่น บุรีรัมย์ และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

Advertisement

ส่วนงานทวงคืนโบราณวัตถุขอให้สร้างทีมงานใหม่ ใช้นักวิชาการอิสระ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ทุ่มเททำเรื่องนี้มายาวนาน มีทีมงานคณะที่ปรึกษา รมต. มีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาทำหน้าที่ฝ่ายเลขาฯ ให้งานคณะทำงานชุดนี้เป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้การนำของท่าน รมต.ให้มีความคล่องตัว หลุดออกจากกรอบราชการ สามารถทำงานเชิงรุกได้รวดเร็ว” ดร.ดำรงกล่าว

ดร.ดำรง กล่าวว่า อีกประการหนึ่ง คือ บริบทและปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการทวงคืนโบราณวัตถุในวันนี้ต่างไปจากปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น กล่าวคือ ในอดีต นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด ผู้ล่วงลับ มีอิทธิพลและความสัมพันธ์อันดีกับคนสำคัญกับคนในวงการโบราณคดี แต่วันนี้ คือจำเลยของโลก นอกจากนี้ ยังมี ‘ข้อมูลลับ’ ที่ถูกเปิดเผยใน Pandora papers ซึ่งทีมนักข่าวเชิงสืบสวนระดับโลก กลุ่ม International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) นำออกเผยแพร่ โดยมีทั้งประเด็นเบื้องหลังบริษัทฟอกเงินของนายแลตช์ฟอร์ด และข้อมูลเชิงลึกอีกมาก

รวมทั้งข้อมูลที่กลุ่มนี้ร่วมกับนักข่าว BBC เปิดโปงเครือข่ายการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายในออสเตรเลีย โดยบริษัทเดวิดโจนส์ ในช่วงปี 1960-1970 ที่มีรายละเอียดชิ้นโบราณวัตถุมากมายหลายร้อยชิ้นของทั้งไทยและกัมพูชา อีกทั้งจดหมายติดต่อพ่อค้าโบราณวัตถุในไทยหลายราย

“งานทวงคืนโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรม ส่งออกจากไทยไปอย่างผิดกฎหมายต้องเป็นงานระดับยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่ข้าราชการประจำภารกิจมากมายที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าท่านเสริมศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เคยมีภารกิจหนักหน่วงโหดๆ กว่ากระทรวงวัฒนธรรมเป็นร้อยเท่า มองเกมนี้ออก”  ดร.ดำรงกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image