รมช.คลัง รับคำวิจารณ์ งบ’67 เป็นมรดกรบ.ก่อน ชี้มีงบผูกพันมา รื้อไม่ได้ แจงเหตุงบกลางเพิ่ม

“จุลพันธ์” ยอมรับงบ67 เป็นมรดกรัฐบาลก่อนหน้า คืองบผูกพัน ชี้งบโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ไม่มีในรายการ เพราะต้องใช้งบจากเงินกู้ 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวันแรก

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

จากนั้น เวลา 14.28 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ข้อคิดเห็นทั้งหมดของสมาชิก ทางรัฐบาล ส่วนงานราชการ จะนำไปปฏิวัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงจุดใดที่เป็นจุดอ่อนที่สมาชิกมองไว้ เราก็รับเอาข้อสังเกตเหล่านั้นไปพิจารณา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นภาระของพวกเราทุกคนที่จะไปพิจารณาร่วมกันในชั้นคณะกรรมาธิการ เพื่อปรับแก้ ปรับลด และทำให้เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ให้เกิดประโยน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน และในส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เรารับไว้ ส่วนที่เป็นวาทกรรมตนขอไม่ตอบ เพราะเราเข้าใจบทบาทในสภา อะไรที่เกินเลยไปเล็กน้อยก็ถือว่ายกให้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเป็ดง่อย เรื่องแบ่งกินแบ่งใช้ เรารับฟังไว้แต่เราเข้าใจกันดี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจและมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

Advertisement

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า งบประมาณเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า ถ้าท่านจะหานโยบายรัฐบาลแล้ว พยายามไปอ่านในเล่มงบประมาณสีขาวคาดแดงแต่ละเล่ม แล้วมาหาว่างบประมาณในส่วนแก้หนี้อยู่ตรงไหน การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน บางครั้งมันมองไม่เห็น และไม่มีรายการที่เป็นชื่อเช่นนั้นปรากฏอยู่ แต่กลไกเรื่องของการใช้งบ ต้องเข้าใจว่างบเหมือนกับเป็นค่าใช้จ่ายของแอดมิน ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของรัฐบาลในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และต้องเข้าใจด้วยว่างบประมาณแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าคิดเป็นสัดส่วนแล้ว ก็แค่ 1 ใน 6 ของตัวเลขจีดีพี เป็นกลไกที่สำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหา แต่มีกลไกในการผลักดันนโยบายที่มากกว่างบ เราใช้งบในการขับเคลื่อนนโยบายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่มีนโยบายอีกมากมายที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินจากภาครัฐ เช่น การลดราคาพลังงาน เป็นกลไกที่เราสามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงการทำประชามติ ถ้าจะมาหาในเล่มงบก็ไม่ปรากฏ ดังนั้นเข้าใจกลไกการทำงบด้วย ยืนยันว่าหากมีการเดินหน้าทำประชามติ รัฐบาลมีงบเพียงพอรองรับกลไกที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เช่น ใช้งบกลาง

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนที่ระบุว่า งบประมาณฉบับนี้ไม่แตกต่างไปจากงบของรัฐบาลก่อนหน้า เป็นการรับมรดกของรัฐบาลชุดก่อนหน้า แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ มีการส่งมอบภารกิจบางอย่างซึ่งมันต่อเนื่องมา โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณผูกพัน เราไม่สามารถไปปรับลดได้ อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำงบ’67 รัฐบาลมีการปรับแก้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันให้มากที่สุด และสามารถขับเคลื่อนประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ไขฝุ่นพีเอ็ม2.5 การพัฒนาระบบสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น

รมช.คลังชี้แจงว่า ส่วนงบกลาง เพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น สอดคล้องกับนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดสัดส่วนงบกลางอยู่ในระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 3.5 เปอร์เซ็นต์ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในปีก่อนหน้าตั้งงบกลางไว้ 9.24 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.9 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนงบ แต่ปีนี้เนื่องด้วยกรอบของงบ ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.48 ล้านล้านบาท งบกลางจึงขยับเพิ่มมาเป็น 9.85 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนน้อยลง 2.83 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชน ขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ไม่ปรากฏอยู่ในงบ’67 นั้น เนื่องจากปรับเปลี่ยนเรื่องแหล่งที่มาของเงิน เพื่อสร้างความโปร่งใส ใช้แหล่งเงินจากภายนอกเข้ามา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย จึงไม่เห็นงบส่วนนี้ในงบรายจ่ายปี’67 เพราะเราใช้งบจากการกู้เงิน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image