สมาคมนัก กม.สิทธิ ร่อนแถลงการณ์ถึง ศปปส. หยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน – HRLA” โพสต์ข้อความระบุว่า
[แถลงการณ์สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรร่วม ถึง ถึงกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์: หยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางความคิด]
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ขณะที่นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กลุ่มทะลุวังได้จัดกิจกรรมทำโพลตั้งคำถามถึงขบวนเสด็จฯ ในคำถามว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” และขณะกำลังชี้แจงสื่อมวลชนบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม เกี่ยวกับกรณีบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ โดยกล่าวขอโทษที่ขับรถเร็วและไม่ระมัดระวังจนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนคนอื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ขอน้อมรับผิดเอาไว้
โดยขณะที่ยืนแถลงนั้น ชายสวมเสื้อสีน้ำเงินของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้เดินเข้ามาและเกิดปะทะกันกับกลุ่มของนางสาวทานตะวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามากันทั้งสองฝ่ายออกจากกัน แต่ไม่เป็นผล เหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องถึงพื้นที่เอกชน (ห้างสรรพสินค้า)
การกระทำของนางสาวทานตะวันเกี่ยวกับเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ นั้น กลุ่ม ศปปส. และกลุ่มปกป้องสถาบันควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายในการพิจารณาว่าเป็นความผิดหรือไม่ ส่วนการทำโพลในวันเกิดเหตุ เป็นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่อยู่ในขอบเขตที่สามารถทำได้ การที่กลุ่ม ศปปส. ใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่างทางความคิด โดยบางคนสวมเสื้อ save 112 บางคนสวมเสื้อเหลืองอันเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความจงรักภักดี แต่กลับใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายผู้อื่น การใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางความคิดไม่อาจถูกยอมรับให้เป็นวิธีการที่ชอบธรรมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสายตาชาวโลกได้
อีกทั้งยังเป็นการทำให้สังคมตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าอาจเกิดเหตุการณ์เข่นฆ่าผู้เห็นต่างซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยเคยเผชิญ กลุ่ม ศปปส. ควรหยุดพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวและปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ควรถูกใช้เป็นเหตุผลหรือข้ออ้างในการทำร้ายบุคคลใด และผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่ม ศปปส. ควรใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาแทนการใช้ความรุนแรง
กลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น กลุ่ม ศปปส. , กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ฯลฯ เป็นกลุ่มที่มักใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางความคิด เช่น นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส. ถูกศาลพิพากษาว่าทำร้ายร่างกายนายสายน้ำ กลุ่มทะลุวัง นอกจากนี้นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ยังไลฟ์ถ่ายทอดสดขู่เอาชีวิตนักกิจกรรม เช่น หยก ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 กลุ่ม ศปปส. ได้ข่มขู่คุกคามโดยแสดงท่าทีว่าจะเข้าทำร้ายร่างกายกลุ่มนักกิจกรรมที่ปักหลักเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังที่หน้าศาลอาญา และอีกหลายกรณีที่กลุ่มปกป้องสถาบันกลุ่มต่างๆ มีพฤติกรรมข่มขู่คุกคามและใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่างทางความคิด หลังเกิดเหตุเมื่อวานนี้ มีการโพสต์ข้อความข่มขู่เอาชีวิตตะวันเพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู
ดังนั้น เพื่อไม่ให้กลุ่มปกป้องสถาบันใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่างทางความคิดอย่างต่อเนื่องต่อไป เจ้าพนักงานตำรวจควรดำเนินคดีตามกฎหมายกับกลุ่มคนดังกล่าวทุกคน และติดตามสืบสวนผู้โพสต์ขู่เอาชีวิตตะวัน เพื่อยับยั้งการใช้ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของนักกิจกรรม และควรเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงอย่างใกล้ชิดเหมือนที่เฝ้าติดตามนักกิจกรรมทางการเมืองด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างปลอดภัยตามที่รัฐธรรมนูญฯ ให้การรับรองไว้ และหากฝ่ายใดทำผิดกฎหมายก็ดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
11 กุมภาพันธ์ 2567
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วุ่นกลางสยาม กลุ่มทะลุวัง-ศปปส. ซัดกันนัว หลังมาฮือต้าน ตะวัน ระหว่างขอโทษ
- ตะวัน ยัน ศปปส.เริ่มก่อน ล็อกคอทำร้าย เจ็บ 12 คน ย้ำพิธา ไม่ได้เป็นนายประกันนานแล้ว
- อุกอาจ! หนุ่มโพสต์ขู่ฆ่า ตะวัน นักกิจกรรมทะลุวัง โยนจากสกายวอล์ก ระดมจับอาวุธ
- ตะวัน โพสต์แจง 4 ข้อ ปมขบวนเสด็จ ลั่น นี่คือความจริง จะเชื่อหรือไม่เป็นสิทธิของกคน
- ‘ศปปส.’ ออกแถลงการณ์ประณาม กลุ่มทะลุวัง ชี้ ชุมนุมไม่สงบ-ใช้อาวุธทำร้าย