อนุทิน ย้ำ เป็นเจ้าหนี้นอกระบบไม่ผิด แต่ต้องอยู่ในขอบเขตกม.-ไม่ข่มขู่ใช้ความรุนแรง

“อนุทิน” ย้ำ เป็นเจ้าหนี้นอกระบบไม่ผิด แต่ต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมายกำหนด-ไม่ข่มขู่ใช้ความรุนแรง ขณะที่ “ผบ.ตร.” ยืนยันเดินหน้าปราบปรามเจ้าหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำว่า การเป็นเจ้าหนี้นอกระบบไม่ได้ผิดกฎหมายหรือมีข้อห้าม แต่การเป็นเจ้าหนี้นอกระบบที่ต้องได้รับการแก้ปัญหา คือ เจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย เช่น ปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือการเป็นเจ้าหนี้ที่ข่มขู่ใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้

ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับความร่วมมือย่างดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ได้บูรณาการประสานข้อมูล และตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน เพื่อให้เกิดการไกล่เกลี่ยมากขึ้น และจากการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการกำหนดสาระสำคัญ ดังนี้

1.ผู้ลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านการไกล่เกลี่ยหรือการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะต้องได้รับการพิจารณาสินเชื่อตามความจำเป็น ซึ่งปัญหาที่พบคือ ลูกหนี้ติดเครดิตบูโรทำให้มีอุปสรรคในการพิจารณาสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ทราบว่ากระทรวงการคลังได้ให้นโยบายการกำหนดสินเชื่อขั้นต่ำ โดยคำนึงถึงการหารายได้ของลูกหนี้เป็นหลักมากกว่าที่จะดูเรื่องของเครดิตบูโร

Advertisement

และ 2.ปัญหาลูกหนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบต้องได้รับการแก้ไข โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้สั่งการให้สำนักงานอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ ซึ่งถือเป็นอีกหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

“ขอแจ้งให้ประชาชนทุกท่านทราบว่า หนี้นอกระบบที่ท่านมีภาระต้องชำระหนี้ จะต้องเป็นหนี้นอกระบบตามกฎหมายเท่านั้น คือ อัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่กฎหมายกำหนด และเงื่อนไขต่างๆ ต้องอยู่ภายในขอบเขตกฎหมาย ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย จะเร่งดำเนินการต่อไปจนกว่าปัญหาจะคลี่คลาย” รมว.มหาดไทยกล่าว

ขณะที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.) โดยบูรณาการทำงานร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีการทำงานใน 3 มิติ คือ 1.มิติการบูรณาการด้านข้อมูล โดยมีการเปิดรับลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่สถานีตำรวจ 2.มิติการบังคับใช้กฎหมายที่มีการดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่ข่มขู่ใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ รวมถึงการรับจำนำรถที่ผิดกฎหมาย และ 3.มิติด้านการไกล่เกลี่ยเชิงบูรณาการ เพื่อให้เกิดสัญญาที่เป็นธรรม

Advertisement

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า จะเดินหน้าปราบปรามเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำเร็จตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image