โรม ย้อน เป็นนายประกัน=อยู่เบื้องหลังหรือ? หนุน เปิดสภาอภิปรายจริงจังหาทางออก

“โรม” ยัน ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง เหตุกลุ่มทะลุวังบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ บอกเป็นนายประกันให้ แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำ แนะหยุดสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว ลั่น เห็นด้วยใช้เวทีสภา หาทางออก

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกล เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง กลุ่มทะลุวังที่มีการบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ ว่า ความคิดที่บอกว่ากลุ่มต่างๆ มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่เรื่องใหม่เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสังคม รวมถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น หลายครั้งที่พรรคก้าวไกลถูกปรักปรำในลักษณะนี้ อะไรคือหลักฐานว่าเราอยู่เบื้องหลัง และในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง ในอดีตเราหลายคนเราอาจจะไปประกันตัว อาจจะไปเป็นนายประกันให้ แต่การทำในลักษณะนั้นต้องแยกออกจากการที่เขาขับเคลื่อน ซึ่งเหตุผลที่เราไปเป็นนายประกันให้คือสามารถทำได้ตามกฎหมาย รวมถึงให้สิทธิเขาในการต่อสู้คดี ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไปประกันตัวจะเห็นด้วยกับการกระทำ ไม่เช่นนั้นการประกันตัวที่เกิดขึ้นเต็มไปหมดในเรื่องต่างๆ เท่ากับคนที่ไปประกันตัวจะต้องไปเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากคิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการคิดที่ผิด

นายรังสิมันต์กล่าวว่า การเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ กับพรรคก้าวไกลมีเหตุผลคือ อาจจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง และต้องการสร้างความชอบธรรมหรือการดิสเครดิต กลุ่มทะลุวัง และต้องการทำลายพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ควรจะไปมองแบบนั้น

ผมยืนยันว่าเราไม่ได้ไปอยู่เบื้องหลังใคร และใครก็ไม่มาอยู่เบื้องหลังเรา พรรคก้าวไกลก็คือพรรคก้าวไกล ที่ทำหน้าที่โดยมีจุดยืน ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เราเชื่อในศักยภาพในการแสดงออก ส่วนเมื่อเขาแสดงออกไปแล้ว จะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิทธิของทุกคนที่จะแสดงความคิดเห็นได้ แต่จุดยืนของพรรคก้าวไกลคือ เราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ในการแสดงออกแบบนั้นคือการสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว เรามีบทเรียนมาแล้ว และไม่ได้ทำให้สังคมไทยดีขึ้นมาเลยแม้แต่น้อย” นายรังสิมันต์กล่าว

Advertisement

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า การกระทำของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน กลุ่มทะลุวัง สร้างเสียงวิจารณ์อยู่แล้ว ซึ่งสรุปยากว่าท้ายที่สุด สังคมจะเห็นไปในทิศทางไหน ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่ามีสังคมไม่เห็นด้วยกับการที่ น.ส.ทานตะวัน แสดงออกและอาจจะมีคนเห็นด้วย ซึ่งแน่นอนในเรื่องของการอารักขาบุคคลสำคัญ ต้องมีมาตรการ ทั้งหมดก็นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ แต่จุดยืนสำคัญที่พรรคก้าวไกลคือไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ส่วนที่มีการมุ่งเป้าไปที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น

“สิ่งที่เราพยายามทำคือให้สติทุกคน ในการที่เราไปเป็นนายประกัน หรือการเคยเป็นนายประกันในอดีต เท่ากับเราอยู่เบื้องหลังเลยหรือ คุณเชื่อขนาดนั้นจริงๆ หรือ สุดท้ายคนที่แสดงออกทางการเมืองในทุกรูปแบบ เขาก็เป็นตัวของเขา เขาก็มีจุดยืนของเขา เราเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องแยกเป็นกรณีไป ซึ่งถึงที่สุด เขาก็มีสิทธิต่อสู้คดีในศาล สุดท้ายกลไกกฎหมาย ก็ต้องว่ากันไปตามแต่ที่มันควรจะเป็น ซึ่งก็ต้องได้สัดส่วนที่ควรจะเป็นด้วย สังคมของเราอยู่กันแบบนั้น อย่าไปสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว อย่าให้เราต้องสร้างปีศาจตนใหม่ สร้างผีตนใหม่ขึ้นมา ซึ่งเหตุการณ์เดือนตุลาเคยสร้างบทเรียนให้เราแล้ว อย่าทำซ้ำอีกเลย มันไม่คุ้มกัน” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า เราควรใช้เวทีของสภาใช้พื้นที่ทางการเมืองในการคลี่คลายหาทางออก และเข้าใจว่า นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ พยายามจะพูดเรื่องนี้ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สภาจะพิจารณาพูดคุยหาทางออก และการที่ปล่อยให้ไปคุยกันตามท้องถนนถ้านำไปสู่การสร้างพื้นที่ที่อันตรายก็ไม่คุ้ม ทางหนึ่งที่ตนคิดว่าเป็นทางออกคือกฎหมายนิรโทษกรรม

Advertisement

เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายมองว่าควรนำเรื่องเกี่ยวกับผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ออกจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม นายรังสิมันต์กล่าวว่า เราเคยหาเสียงเอาไว้ เมื่อเราได้รับการเลือกตั้งมาก็พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ซึ่งเราไม่ได้มีนโยบายแก้มาตรา 112 เท่านั้น ทาง ส.ว.อาจจะมีความคิดว่าเราไม่ควรทำแบบนั้น แต่ในจุดยืนของเราต้องกลับมาตั้งต้นว่าวันนี้ปัญหาของประเทศชาติคืออะไร เราต้องยอมรับว่ามีคนถูกดำเนินคดีในเรื่องมาตรา 112 จะมีหนทางแก้ไขอย่างไร

“ออปชั่นเรามีอะไรบ้าง เอาเขาเข้าไปขัง ปล่อยพวกเขา นิรโทษกรรมให้พวกเขาหรืออะไร ถ้าเอากันแบบสุดโต่งเลยคือการเอาไปขัง ต้องถามว่าช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้นอย่างไร ถึงที่สุดคนเหล่านี้ก็มีญาติพี่น้องและเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ความคิดเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กลุ่มนิสิตนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่เท่านั้น ที่มิตรประเทศที่เขามองมายังประเทศไทยรู้สึกไม่สบายใจ กับการดำเนินคดีที่มีความรุนแรง และไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สิทธิเสรีภาพ มีการตั้งคำถามในเชิงภาคธุรกิจ ความมั่นใจว่าหากมีการดำเนินคดีในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับคดีอื่นได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นความมั่นใจทั้งหมดที่สามารถส่งผลกระทบต่อประเทศได้ ถ้าเราตั้งโจทย์ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเราก็ควรเริ่มต้นเปิดประตูให้กว้าง ถ้าเราบอกว่าการนิรโทษกรรมไม่รวมมาตรา 112 ถ้าเริ่มจากตรงนี้ จะแก้ปัญหาการเมืองได้จริงหรือไม่ ไม่มีประโยชน์ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ การนิรโทษกรรมก็ไม่มีประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image