ส.ส.อยุธยา ตั้งกระทู้ถามคมนาคม ปม HIA ‘รถไฟความเร็วสูง’ รมช.ตอบ ประนีประนอมอยู่

ส.ส.อยุธยา ตั้งกระทู้ถามคมนาคม ปม HIA ‘รถไฟความเร็วสูง’ รมช.ตอบ ประนีประนอมอยู่

สืบเนื่องกรณี สำนักงานสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ทำหนังสือถึง รฟท. ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ของสถานีอยุธยา ซึ่งเป็นเนื้องานอยู่ในสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ของโครงการถไฟความเร็งสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตามที่ยูเนสโกมีหนังสือให้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ หลังประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งมรดกโลก เป็นนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งบางส่วนแสดงความกังวลต่อการประเมินผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม (HIA) จากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ว่ามีเพียงทางเลือกเดียวและขาดมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 11.40 น. ที่ห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ อาคารรัฐสภา นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล ยื่นวาระกระทู้แยกถาม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่อง “ปัญหาเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา” ซึ่ง นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับมอบหมายเป็นผู้ตอบกระทู้แทน

นายทวิวงศ์กล่าวว่า ตนขอใช้โอกาสนี้ในการตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงคำถามที่ค้างคาใจและเป็นข้อถกเถียงของพี่น้องชาวอยุธยา

Advertisement

“กระทรวงคมนาคมมีการอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงจากความร่วมมือระหว่างไทย – จีน ช่วง กรุงเทพถึงหนองคาย โดยมีการตั้งสถานีที่อยุธยาบ้านผมด้วย นั่นเป็นเรื่องที่ดี เราจะมีการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น และมีทางเลือกในการเดินทางใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการท่องเที่ยว

แต่สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ ผลกระทบจากการก่อสร้างสถานี ผมขอทราบถึงมหากาพย์ของสถานีอยุธยา ที่ผมพูดแบบนั้นก็เพราะว่านี่คือจุดเริ่มต้น การจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม หรือ HIA ซึ่งหากแล้วเสร็จ รายงานฉบับนี้จะเป็นรายงานฉบับแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย” นายทวิวงศ์ชี้

Advertisement

นายทวิวงศ์กล่าวว่า ตนขอไล่เลียงเหตุการณ์ให้ได้เข้าใจ หลังจากมีหนังสือจากยูเนสโก ที่แสดงความกังวลถึงความเสี่ยงต่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างที่อยุธยา ว่าหากมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ อาจทำให้มรดกทางวัฒนธรรม โบราณสถานต่างๆ อาจชำรุดและสูญเสีย ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ประเมินเป็นมูลค่ามิได้ จึงนำมาสู่การตอบรับโดย รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ จากรายงานผลการประชุม คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 1 / 2564 วันที่ 24 พฤษภาคม 2564

“ท่านรองนายกฯ ในขณะนั้น ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางราง ซึ่งได้นำเสนอทางเลือกการสร้างสถานีถึง 5 แบบ โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า แบบที่ 3 ถึงแบบที่ 5 นั้นรางสูงมาก ต้องหาทางอ้อม หรือมุดจะดีกว่าอ้อม เพราะใช้เงินมากเหมือนกัน ทางเลือกที่ 1 และ 2 พอรับได้หากจำเป็นต้องเสียเงิน ก็จำเป็นต้องทำ” นายทวิวงศ์ระบุ

นายทวิวงศ์กล่าวว่า ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ได้มีบัญชาจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้ กระทรวงคมนาคม หารือร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งกับยูเนสโกว่า ไทยมีการทำรายงาน HIA ก่อนการก่อสร้าง และคณะกรรมการแห่งชาติ มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาการก่อสร้างสถานีในทางเลือกที่หนึ่ง คือ การก่อสร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก หรือ ทางเลือกที่สอง การเปลี่ยนเส้นทางใหม่โดยอ้อมพื้นที่มรดกโลก

“ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้จัดทำ HIA 18 กันยายน 2566 คณะโบราณคดีส่งรายงาน HIA ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างให้ทำการประเมิน โดยใน TOR ได้กำหนดให้ มีการประเมินจากเพียง ทางเลือกเดียว คือ ทางลอยฟ้า” นายทวิวงศ์ระบุ

นายทวิวงศ์กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นอีกข้อมูลที่เป็นข้อสังเกตสำคัญว่าทำไม TOR การจ้างทำแบบประเมินนั้นถึงเป็นการประเมินเพียงทางเลือกเดียว และไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นมติของที่ประชุมจากรองนายกฯ รัฐมนตรี

นายทวิวงศ์กล่าวต่อว่า จนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดส่งรายงานผลการประเมิน HIA ให้กับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.

โดยมีใจความที่บอกว่า จะขอก่อสร้างตามแผนเดิมซึ่งสอดคล้องกับผลประเมิน EIA เดิม โดยอ้างถึงผลกระทบในแง่งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบในแง่ของความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อการส่งมอบงานตามสัญญาสัญญาอีกด้วย

นายทวิวงศ์กล่าวว่า สผ. มีหนังสือให้ทาง กรมศิลปากรได้พิจารณารายงานนี้ เนื่องจาก พบว่าประการที่ 1 การรายงาน ไม่เป็นไปตามคู่มือของ ศูนย์มรดกโลกฉบับปี 2021 เนื่องจากขาดการวิเคราะห์ แนวทางเลือกอื่นเพื่อลดผลกระทบและยืนยันจะทำตามแนวทางเดิม ซึ่งอาจทำให้ ยูเนสโกเห็นถึงความไม่โปร่งใส และมีอคติต่อวิธีการคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสม

นายทวิวงศ์กล่าวว่า ประการที่ 2 สผ.มีความเห็นให้กรมศิลปากร ได้พิจารณาในฐานะหน่วยงานดูแลกำกับพื้นที่ และพิจารณาให้ความเห็นถึงผลการประเมินของ HIA

“ประการที่สุดท้าย ขอให้กรมศิลปากรนำเรื่องความเห็นนี้เข้าสู่ การประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกด้วย” นายทวิวงศ์ชี้

นายทวิวงศ์กล่าวว่า วันที่ 20 ธันวาคม 2566 กรมศิลปากรแจ้งความเห็นที่มีต่อรายงาน HIA กับทาง สผ. โดยมีใจความสำคัญดังนี้

ประการที่ 1 รายงานมีสาระและองค์ประกอบสำคัญ ไม่ครบถ้วน ตามหลักการและแนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ ที่ศูนย์มรดกโลก กำหนด

นายทวิวงศ์กล่าวว่า เรื่องที่ 2 รายงานอธิบายคุณค่าโดดเด่นระดับสากลของแหล่งมรดกโลกประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา คลาดเคลื่อนจากที่ประกาศให้เป็นมรดกโลก และเรื่องสุดท้ายรายงานนำเสนอคาดการณ์ผลกระทบเชิงลบในระดับสูง แต่มิได้เสนอแนวทางในการลดผลกระทบดังกล่าว และเห็นว่าควรนำเสนอแนวทางการลดผลกระทบในหลายระดับ

นายทวิวงศ์เผยว่า ล่าสุด 25 มกราคมที่ผ่านมานี้ กรมศิลปากร นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา โดยคณะอนุกรรมการมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานโดยมีมติที่ประชุมอยู่ 2 ประเด็นคือ

“ประเด็นที่หนึ่ง พิจารณาความเห็นและข้อสังเกตของอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีต่อรายงาน HIA และสั่งการให้ กระทรวงคมนาคม โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลแนวทางการลดผลกระทบในรายงานให้สมบูรณ์

ส่วนประเด็นที่ 2 พิจารณาให้มีการตอบหนังสือไปยัง ยูเนสโก โดยด่วน เพื่ออธิบายถึงการแก้ปัญหาตามข้อห่วงกังวลและชี้แจงว่า อยู่ในระหว่างจัดทำรายงาน” นายทวิวงศ์ชี้

นายทวิวงศ์ตั้งคำถามว่า กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าจัดทำรายงานการศึกษา แนวทางเลือกอื่น ที่ลดผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรมและจัดทำรายงาน HIA ให้สมบูรณ์หรือไม่ อย่างไร ?

ด้าน นายสุรพงษ์ รมช.คมนาคม ชี้แจงว่า ตนมาตอบแทนรัฐมนตรีฯ คมนาคม โดยรายงาน HIA เป็นฉบับแรกของประเทศไทยที่ทำ มีข้อดีคือ สะท้อนการอนุรักษ์และการหวงแหนมรดกโลก ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยและควรเอาเป็นตัวอย่าง สำหรับการดำเนินก่อสร้าง

“ข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องนี้เป็นมหากาพย์มาหลายปี มีการประชุมประมาณ 3 ครั้ง โดยมีแนวทางว่า ข้อที่ 1 ทางรฟท. มีการทำ HIA เสร็จสิ้น และ EA ผ่านแล้ว แต่ด้วยประสบการณ์ที่ทำครั้งแรก ก็จะมีการติดขัดบ้าง” นายสุรพงษ์เผย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า วันนี้เส้นทางการก่อสร้างรถไฟ ห่างจากแนวของเมืองมรดก ห่างจากเมือง 1.5 กิโลเมตร มีแม่น้ำป่าสักกั้นอยู่ และเป็นเส้นทางรถไฟเดิม ไม่มีการเวนคืนที่ดินและการขยายสถานี

“ความกังวลของท่านเกี่ยวกับการสร้างสถานี ที่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมรดกเมืองเก่า แล้วจะผิดกฎยูเนสโก้ ขอเรียนว่าสถานีสร้างที่เดิม ไม่มีการเวนคืน และส่วนสถานีอยู่ทำรายงาน HIA ขั้นตอนที่เรียกอยู่เอกสารเพิ่มเติมนิดหน่อย เราก็ต้องทำงานร่วมกัน” นายสุรพงษ์เผย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า สิ่งที่ท่านกังวลว่าจะถูกถอดจากเมืองมรดกโลก ในฐานะที่ตนเป็นคนไทย ก็รู้สึกหวงแหนและอยากปกป้อง แต่รถไฟความเร็วสูงเป็นการขนส่งผู้โดยสารให้เข้าถึงเมืองมรดกโลก และรับนักท่องเที่ยวเข้าชม ซึ่งส่งผลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

“อยุธยาไม่มีสนามบิน ไปได้แค่ทางบกและทางน้ำ รถไฟจึงเป็นทางเลือกในการเดินทางระหว่างเมือง ซึ่งรถไฟความเร็วสูง ถ้าสร้างเสร็จจะเป็นเส้นทางการเดินทางที่สำคัญ” นายสุรพงษ์ชี้

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ตนพยายามจะแก้ปัญหามรดกโลกให้คงอยู่ให้ได้ โดยให้ถูกกฎ HIA ซึ่งเกือบจบแล้ว และการทำสถานีที่ไม่ผิดกฎ ไม่ได้อยู่บริเวณ 1,800 ตารางกิโลเมตร และบริเวณรอบสถานีจะไม่มีการพัฒนาเป็นเมือง

“ผมได้ออกกฎกระทรวงกระจายอำนาจท้องถิ่น เพื่อให้เอาคนจากระบบรางลอยฟ้าเข้าสู่เมืองมรดกโลก โดยฟีดเดอร์เข้าไปตรงนั้น ให้ขึ้นกับผู้ว่าราชการฯ เป็นคนออกแบบการเดินทางจาก สถานีรถไฟไปเมืองมรดกโลก ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น มีพื้นที่อนุรักษ์ก่อนแล้วมีรถไฟมาทีหลัง ก็อยู่ด้วยกันได้ หรือ โคโลญ ประเทศเยอรมนี ซึ่งสร้างรถไฟระยะห่าง 1 กิโลมตรก็ได้ กลับมามองของเรา ตามจริงแล้ว เราสร้างรถไฟก่อน แต่เมืองมรดกโลกขึ้นทีหลัง

ผมพยายามประนีประนอมจากการหวงแหนมรดกโลก ผมไม่อยากให้แค่รถไฟวิ่งผ่าน โดยที่ไม่มีสถานี ซึ่งจะออกแบบให้มีผลกระทบน้อยที่สุด บางมิติเราช่วยกันแก้ปัญหาและผลประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม” นายสุรพงษ์เผย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตนมีหน้าที่กำกับดูแลรถไฟให้ผ่านตรงนั้น และออกแบบให้สถานีกระทบทัศนวิสัย หรือวิวให้น้อยที่สุด แต่สามารถส่งผู้โดยสารได้ ส่วนการพัฒนาจะเป็นอย่างไร ตนให้อำนาจท้องถิ่นเป็นคนออกแบบการขนส่งเข้าเมือง

นายทวิวงศ์ตั้งคำถามต่อว่า ขอขยายความเพิ่มเติมถึงจุดที่ห่างจากสถานี 1.5 กิโลเมตร คืออุทยานประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่พื้นที่การอนุรักษ์จากกรมศิลปากร กำลังขยาย ซึ่งหมายถึงว่าการร่วมงานกันยังไม่หลากหลายภาคี และมีความกังวลเรื่องของทุนจีนเข้ามาในพื้นที่ โดยอยากได้ความชัดเจนในทางเลือกของการลดผลกระทบมากกว่านี้

ด้าน นายสุรพงษ์กล่าวชี้แจงว่า เอาเรื่องทุนจีนก่อน ‘ทุนศูนย์เหรียญ’ วันนี้ไม่มี ซึ่งการก่อสร้าง 99 เปอร์เซ็นต์ ใช้แรงงานกับคนไทยทั้งหมด มีเพียงเล็กน้อยที่อาศัยของจากจีน และเราไม่ได้มีการเวนคืนแม้แต่ตารางเมตรเดียว ไม่มี เพราะเราไม่ได้เวนคืน ส่วนการพัฒนา เราให้อำนาจท้องถิ่นจัดการเอง

“ประเด็นที่หนัก คือ เราแก้ปัญหาของยูเนสโก วันนี้ผมยืนยันว่าเราอยู่ร่วมกันได้ เพราะไม่ได้จะขยายสถานี แต่กรมศิลปากรจะประกาศก็ประกาศได้ แต่ต้องให้การพัฒนาเข้ามาได้ อยากให้การพัฒนาและการอนุรักษ์อยู่ร่วมกัน” นายสุรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image