คมนาคมตอบปมสถานีอยุธยา ยัน ‘มุดดินไม่ทันแล้ว’ ลั่น รถไฟความเร็วสูงต้องมา แต่ไม่ยอมถูกถอดมรดกโลกแน่

รมช.คมนาคม ลั่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง ‘มุดดินไม่ทันแล้ว’ พัฒนา-อนุรักษ์ต้องไปด้วยกัน ยัน ไม่ยอมให้อยุธยาถูกถอดจากมรดกโลก  ส.ส.อยุธยา คาใจ ไร้ทางเลือก-ไม่ตอบโจทย์ สพ.-กรมศิลป์ 

สืบเนื่องกรณีสำนักงานสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ทำหนังสือถึงรฟท. ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ของสถานีอยุธยา ซึ่งเป็นเนื้องานอยู่ในสัญญา4-5ช่วงบ้านโพ-พระแก้วของโครงการถไฟความเร็งสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตามที่ยูเนสโกมีหนังสือให้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งมรดกโลก เป็นนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 11.40 น. ที่ห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ อาคารรัฐสภา นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ยื่นวาระกระทู้แยกถาม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่อง ‘ปัญหาเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา’ ซึ่งนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับมอบหมายเป็นผู้ตอบกระทู้แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการถามตอบกระทู้แยกถามเสร็จสิ้น นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เดินออกจากห้องประชุม เข้ามาพูดคุยกับ นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล พร้อมตัวแทนจากกลุ่ม ‘Save อโยธยา’ ก่อนจะแยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจต่อ (อ่านข่าว ส.ส.อยุธยา ตั้งกระทู้ถามคมนาคม ปม HIA ‘รถไฟความเร็วสูง’ รมช.ตอบ ประนีประนอมอยู่) 

Advertisement

นายสุรพงษ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ตนพยายามดูแลให้โครงสร้างไม่สร้างผลกระทบกระเทือนพื้นที่ โดยรถไฟฟ้าจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในพื้นที่อย่างมหาศาล ซึ่งสิ่งที่พูดไปทั้งหมดจะสร้างการพัฒนา แต่เราจะไม่ยอมให้ถูกถอดถอนจากมรดกโลก อยากให้การอนุรักษ์และการพัฒนาไปด้วยกันได้

“ส่วนเรื่องผังเมืองก็ให้กรมโยธาฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดไปจัดการ พอจะเห็นภาพใช่ไหม ยังไงสร้างรถไฟแบบมุดดินไม่ทันแล้ว จากนี้เราก็ต้องช่วยกัน ฝากเรื่องนี้ด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า เราพยายามทำให้ดีที่สุดโดยลดขนาดของสถานี ซึ่งลดลง 3 เมตรกว่า ปรับไซส์ขนาดให้เหมาะกับ HIA เพื่อให้อย่างไรก็ตามจะต้องมีสถานีอยุธยา

Advertisement

“ปรับขนาดสถานีตาม HIA ไปแล้ว ผ่านแล้ว เหลือแค่ Approved จากส่วนกลาง ส่วนตัวแล้วไม่ได้กังวลอะไร มองว่ารถไฟจะมาแทนพวกสายการบิน ที่ไปเชียงใหม่ 1 ชั่วโมง 30 นาที แต่เดินทางโดยรถไฟความเร็วสูง ใช้เวลาเท่ากันแต่สนุกกว่า” นายสุรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

จากนั้น นายทวิวงศ์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์ ’มติชน’ ว่า ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งกับการอนุรักษ์โบราณสถาน กับ มรดกโลกทางวัฒนธรรม อันนี้เป็นสิ่งที่ตนขอสนับสนุนท่านรัฐมนตรีฯ แต่ท่านอาจจะยังไม่ครบถ้วนต่อข้อกังวลจากทางหน่วยงานรัฐจาก สผ. หรือ กรมศิลปากร ที่ระบุว่า HIA เนื้อหายังไม่ครบถ้วน รวมถึงมาตรการด้านผลกระทบที่ชัดเจน

นายทวิวงศ์กล่าวว่า ตนคิดว่ากระทรวงฯ ควรทำมากที่สุดคือการลดผลกระทบกับมรดกทางวัฒนธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยกระทรวงอาจจะมีทรัพยากรและเงื่อนไขในการทำงานอย่างจำกัด

“ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะส่งเสียงให้ลดผลกระทบให้มากที่สุด อย่างน้อยไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม หรือ มติของหน่วยงานของรัฐก่อนหน้านี้ก็ได้ แต่ขอให้เป็นแผนนโยบาย และแผนการก่อสร้างที่ลดผลกระทบมากที่สุดเท่าที่กระทรวงจะทำได้” นายทวิวงศ์เผย

นายทวิวงศ์กล่าวว่า จากที่ได้ฟังท่านรัฐมนตรีแนวทางจากกระทรวงน่าจะเป็นแนวทางเดียวอยู่ คือ การทำรางแบบลอยฟ้า ซึ่งจากการประเมินHIA จากสผ. และกรมศิลปากร มีความกังวลในเรื่องของราง และอยากให้มองถึงทางเลือกอื่นๆในการก่อสร้างด้วย

“ผมมองว่าแนวทางของกระทรวงฯตอนนี้ อาจจะยังไม่สามารถตอบโจทย์สผ. และกรมศิลปากร ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจากที่ผมได้ศึกษาทางเลือกมา มีทางเลือกที่จะสร้างสถานีก่อนถึงจุดที่เราถกเถียงกันอยู่ หรือ สร้างเลยไปจากจุดที่เราถกเถียงกัน

อีกทางเลือกหนึ่ง คือ กดลงดิน ให้สถานีอยู่ใต้ดิน และหลบพื้นที่โบราณสถานที่คาดว่าจะอยู่บนผิวดินเป็นอุโมงค์ด้านล่างไป และทางที่สามคือเบี่ยงเส้นทางออกไปเลย รวมถึงทางสุดท้ายที่สร้างสถานีตรงนั้นที่เราถกเถียงกันอยู่ แต่ลดขนาดลงมา” นายทวิวงศ์ชี้

นายทวิวงศ์กล่าวว่า กรุงศรีอยุธยาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีอาณาเขตโบราณสถาน มรดกทางวัฒนธรรมที่กระจายกันอยู่ทั่วเกาะเมืองอีกมาก รวมถึงบริเวณที่กำลังจะมีการก่อสร้างสถานี ซึ่งมีการค้นพบจากนักวิชาการหลายภาคส่วนว่า ‘อโยธยา’ มีความเก่าแก่มากกว่าสุโขทัย  อีกทั้งกรมศิลปากรมีแผนที่จะขยายพื้นที่ควบคุมดูแลอย่างเข้มข้น มากกว่าดูแลแบบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา คือ ขยายไปถึงพื้นที่อื่นของเกาะเมืองด้วย

“ส่วนตัวผมเป็นสถาปนิก การออกแบบอาคารให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม สามารถทำได้หลากหลายวิธีเยอะแยะมากมาย ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ยากเกินกว่าที่นักออกแบบของกรมคมนาคม
ทำได้อย่างแน่นอน ซึ่งถ้าจะมีเงื่อนไขทำได้เท่านี้จริงๆ ก็อยากจะส่งเสียงให้มากที่สุด ลดขนาดของสถานี ลดระดับความสูงของรางรถไฟที่ทำได้” นายทวิวงศ์เผย

นายทวิวงศ์กล่าทิ้งท้ายว่า ตนเป็นผู้แทนของชาวอยุธยาที่มองว่า พัฒนาพื้นให้มีดีได้มากกว่านี้ จากทรัพยากรระดับโลกที่เรามี ซึ่งการพัฒนาเมืองและการอนุรักษ์ สามารถทำไปควบคู่กันได้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งต้องพัฒนาอย่างมีอารยะ และรอบด้านในทุกมิติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image